วิธีพ้นทุกข์

⭕️ เพิ่งผ่านวันมาฆะมาหมาดๆ เห็นหัวเรื่อง คงเดากันได้ว่า วันนี้ ผมจะขออนุญาต ออกแนวหลุดโลกสักครั้งนะครับ 

เรื่องของเรื่องก็คือว่า กัลยาณมิตรของผมได้ส่ง eBook มาให้อ่านเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือ “ธรรมบรรยาย” จัดทำโดย “มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์” 

เรื่องเกี่ยวกับธรรมะ เรื่องพระเรื่องเจ้าเหล่านี้ ผมก็พอจะได้ยินได้ฟัง และได้อ่านมาบ้าง แม้จะไม่มากนัก แต่ก็พอจะถูกจริตของความอยากรู้พอสมควร จึงนึกในใจว่า จะมีเรื่องอะไรใหม่ๆไหม 

เปล่าเลยครับ ศัพท์แสงที่กล่าวถึงในเล่มนี้ ผมได้ยินมาแล้วแทบทั้งนั้น (ส.ว.นี่ครับ) แต่ไม่น่าเชื่อ กลายเป็นว่า ผมได้เข้าใจมุมมองใหม่ๆมากกว่า 

คนที่พูดถึงศัพท์แสงดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้ง เป็นเจ้าของภาษาเอง คือ คนอินเดีย แต่เป็นคนอินเดียที่เกิดในพม่า และก่อนที่จะมาพบแนวทางปฏิบัติธรรมนี้ ท่านเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมายมาก่อน ท่านมีชื่อว่า สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า 

และความที่ท่านเกิดในพม่า จึงโชคดี มีโอกาสได้ปฏิบัติตามแนวทางของท่าน อูบาขิ่น ซึ่งเป็นวิปัสสนาวิถีพุทธที่ได้รับ จากอินเดีย และมาเติบโตในพม่า หลังจากที่สูญสลายไปจากอินเดีย ต่อมาท่านจึงได้นำกลับไปบ่มเพาะให้เติบโตที่อินเดียใหม่ หลังจากที่สูญหายไปนาน 

เปล่าครับ ท่านไม่ได้ให้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านต้องเปลี่ยนศาสนา จึงทำให้มีผู้มาเข้าอบรมมากมาย ทั้งฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ฝรั่ง แขก ไทย และแพร่หลายไปในทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ไทย พม่า กัมพูชา ไต้หวัน อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง มองโกเลีย อิหร่าน โอมาน อิสราเอล สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รัสเซีย ยุโรป อังกฤษ ฮังการี อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก อาร์เจนติน่า อุรุกวัย คิวบา เวเนซูเอล่า ซิมบับเว เคนย่า อัฟริกาใต้ ฯลฯ เพราะท่านกล่าวว่า ความทุกข์เป็นสากล ไม่ใช่ทุกข์แบบฮินดู พุทธ คริสต์ หรือ อิสลาม วิธีพ้นทุกข์ จึงเป็นสากลด้วยเช่นกัน ไม่ว่าใคร ถ้าทำอย่างนี้ก็จะพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น 

ท่านจึงตัดพิธีกรรม อันเป็นเรื่องศาสนาหรือความเชื่อออกไป เอาแต่เนื้อๆอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับศาสนาใดๆทั้งนั้น อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และทรงนำมาแนะนำสั่งสอน โดยทรงสอนไม่ได้ให้เชื่อ แต่ให้ปฏิบัติ 

วิธีปฏิบัติให้พ้นทุกข์ ก็คงจะคุ้นกันอยู่แล้ว คือ มรรค 8 (วิภังคสูตร) 

ถ้าเห็นว่า 8 เยอะไป ก็รวมบางข้อเข้าด้วยกัน รวบเข้ามาเป็น 3 อย่าง คือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา (จูฬเวทัลลสูตร) 

มรรค 1 และ 2 คือ ปัญญา (คิดวิเคราะห์)

มรรค 3, 4 และ 5 คือ ศีล (สำรวมกาย วาจา)

มรรค 6, 7 และ 8 คือ สมาธิ (ใจนิ่ง) 

มรรคหนึ่งและสอง เรื่องของปัญญา สำคัญที่สุด ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และนำมาสั่งสอนเพื่อจะได้พ้นทุกข์ แต่จะทำได้ต้องทำมรรคสามถึงแปดมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันมาก่อนยุคพระพุทธเจ้าเสียอีก เพราะศีลก็ไม่ต่างกัน นักบวชก่อนหน้านั้นได้ทำกันมาแล้ว แต่มาหยุดกันตรงการเข้าฌาณทำสมาธิ นิ่งกันอยู่แค่นั้น 

ที่น่าสนใจคือ ปัญญา คิดวิเคราะห์ น่ะ ทำยังไง แล้วจะพ้นทุกข์ได้ยังไง 

ปัญญาเกิดได้ 3 อย่างคือ จากการคิด (จินตมยปัญญา) จากการฟัง หรืออ่านก็ได้ (สุตมยปัญญา) และจากการปฏิบัติ (ภาวนามยปัญญา) 

ก็พอจะนึกออกว่า จะให้รู้จริงมันจะต้องลงเอยที่ปฏิบัติ เหมือนกับการว่ายน้ำ แค่ฟังเขาว่า หรือคิดเอาเอง โดยไม่ได้ลงน้ำว่ายจริงๆ แล้วจะว่ายได้ยังไง 

ที่งงกันอยู่คือ จะเริ่มตรงไหน และจะไปต่ออย่างไร

ใครที่สนใจทางนี้อยู่แล้ว คงพอจะรู้ว่า สามารถเริ่มได้หลายอย่าง เคยฟังบางท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนการขึ้นเขา อาจจะเริ่มคนละจุด แต่ถึงยอดเขาเหมือนกัน 

แต่แนวทางของท่านโกเอ็นก้า เลือกวิธีเดียว คือ การมีความระลึกรู้ตัวในลมหายใจเข้าออก (อานาปานสติ = อานะ หายใจออก + ปานะ หายใจเข้า + สติ รู้ตัว บาลีพูดถึงหายใจออกก่อนหายใจเข้านะ แปลกดี) 

เหตุผลก็คือ ลมหายใจ เป็นพรมแดนรอยต่อของร่างกาย เป็นทั้งส่วนที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ กล่าวคือ เราสามารถที่จะควบคุมให้หายใจสั้นหายใจยาว หรือแรงได้ ค่อยได้ หรือแม้แต่หยุดชั่วขณะ เช่นกลั้นหายใจสักครู่ก็ได้ เหมือนกับที่เราควบคุมแขนขาได้ 

ขณะเดียวกัน ถ้าเราเผลอๆ ไม่คิดอะไร ร่างกายก็จะหายใจไปตามปกติ ตามเรื่องตามราวของมัน เหมือนกับส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นหัวใจ 

สิ่งพิเศษอีกอย่างคือ การหายใจ เป็นผลสะท้อนอารมณ์ของเราออกมาได้ด้วยโดยไม่รู้ตัว เช่น หายใจแรง หายใจถี่ 

การพิจารณาลมหายใจจนจิตนิ่งเป็นสมาธิ จึงมีการทำกันมานาน และสามารถพิจารณาลมหายใจให้เกิดปัญญาได้ด้วย

จึงมีคำกล่าวว่า อานาปานสติเป็นได้ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

ถึงตรงนี้ นิ่งดีแล้ว ยังไงต่อ 

จุดนี้แหละครับ ที่น่าสนใจ 

เพราะท่านโกเอ็นก้าได้ชี้ประเด็นให้เห็นชัดๆ ไปกันต่อได้ ที่ทำให้ผมเพิ่งจะถึงบางอ้อ คือธรรมะสำคัญข้อหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ “อุเบกขา” นั่นเอง 

ใครที่ชอบสมาธิ เพื่อให้ใจนิ่ง เกิดฌาน จะมีวิวัฒนาการของจิตเป็นลำดับไป แต่เมื่อถึงจุดที่เพียงพอที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา หรือวิปัสสนานั้น สิ่งที่บังเกิดกับจิตดังกล่าวจะหายไป (ปีติ สุข ฯลฯ) แต่สิ่งที่มาแทนคือ “อุเบกขา” 

อุเบกขา หนึ่งในพรหมวิหารสี่ ทำให้หลุดพ้นได้อย่างไร 

งั้นไปดูเรื่อง พรหมวิหารสี่ นี่กันก่อน 

พูดถึงเรื่องพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เราจะนึกถึงพ่อแม่ 

คงเป็นที่ประจักษ์รู้ชัดกันว่า พ่อแม่ มีธรรมะในเรื่องพรหมวิหารสี่กันอยู่แล้วโดนธรรมชาติในการเลี้ยงลูก อย่างที่พูดเทียบกันว่า “พ่อแม่ เป็นพระพรหมของลูก” เนื่องจากความรักและปรารถนาดีต่อลูกอย่างไม่มีขีดจำกัด 

เพื่อให้เข้าใจดีขึ้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต payutto.net) ได้มีคำอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า … 

“… ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ในเมืองไทยเรานี้ แสดงเมตตา กรุณา และมุทิตา ได้ง่าย หรือพร้อมที่จะแสดงพรหมวิหาร ๓ ข้อแรกนี้ได้ตลอดเวลา แต่มักวางอุเบกขาไม่เป็น หรือแม้แต่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดต่อข้ออุเบกขา ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น และไม่รู้จักรับผิดชอบ พรหมวิหารข้อสุดท้ายนี้จะปฏิบัติได้ถูกต้องจะต้องใช้ปัญญา จึงต้องศึกษาให้ดี ตอนแรกจะพูดเป็นแนวไว้ก่อน 

พ่อแม่มีเมตตา ในยามปกติ เมื่อลูกเจริญเติบโตอยู่ดีตามที่ควรจะเป็น (เขาปกติ) 

พ่อแม่มีกรุณา ยามลูกมีทุกข์ เช่น เจ็บป่วย หรือมีเรื่องลำบากเดือดร้อน (เขาตกต่ำ) 

พ่อแม่มีมุทิตา ยามเมื่อลูกทำอะไรได้ดีมีสุขหรือประสบความสำเร็จ เช่น สอบได้ที่ดีๆ สอบเข้างานได้ หรือได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง (เขาขึ้นสูง) 

แต่ในบางกรณี พ่อแม่ไม่อาจใช้เมตตา กรุณา หรือมุทิตา เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย เช่น อาจจะเสียหายแก่ชีวิตของลูกเอง หรือเสียธรรม ในกรณีอย่างนั้น จะต้องรู้จักวางอุเบกขา โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบ คือ 

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อจะฝึกหัดให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตนเอง จะได้ทำอะไรๆเป็น และพึ่งตนเองได้ เท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกพัฒนา เช่น ให้เดินเอง ทำการบ้านเอง โดยพ่อแม่วางทีเฉยดูให้เขาทำ แต่พร้อมที่จะช่วยเมื่อถึงเวลา หรือเป็นที่ปรึกษาให้…” 

จากเนื้อความของท่าน ป. ปยุตฺโต ที่เขียนบรรยาย ผมเห็นว่า ธรรมะข้อสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ลูกพัฒนา ก็คือ “อุเบกขา” นี่แหละ 

กลับมาที่จิตของเราเองบ้าง 

ไม่ว่าใครจะมีลูกหรือไม่มีลูกให้รัก แต่ทุกคนย่อมรักตัวเอง 

แล้วทำไมเราจึงไม่ใช้อุเบกขามาพัฒนาจิตตัวเองบ้างล่ะ 

ลูกใครว่าซนมาก ยุกยิก ไม่อยู่นิ่ง ซนยังกะลิงอย่างโบราณว่า แต่จิตเราซนมากกว่า ยิ่งกว่าลิงไม่รู้กี่เท่า 

เพราะอาหารของจิต คือ ความคิด ที่คิดไม่ยอมหยุด และมักจะวนคิดอยู่แค่สองอย่าง คือ อดีตที่แก้ไม่ได้ และอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือเปล่า จะให้นิ่งอยู่กับปัจจุบัน ก็ต้องจดจ่อเฝ้าดูอยู่กับลมหายใจนั่นเอง 

คำที่สำคัญก็คือ “เฝ้าดู” 

นั่นคือ การใช้ธรรมข้อ “อุเบกขา” ในการเฝ้าดูจิต โดยไม่ต้องคิดต่อยอดออกไป กลายเป็นทุกข์หนักเข้าไปอีก 

หลายคนที่มาทางสายปฏิบัติ คงจำกันขึ้นใจได้ในเรื่องมหาสติปัฏฐานสี่ คือ “กาย เวทนา จิต ธรรม” 

ว่าแต่ว่า ทั้งสี่อย่างนั้นมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร 

เขาให้ “เฝ้าดู” ครับ เฝ้าดูกายก็จะเห็นสุขทุกข์ทางกาย คือเวทนา เฝ้าดูจิต ก็จะเห็นสุขทุกข์ทางจิต คือธรรม 

และเมื่อรวมกับสัจธรรมของความไม่เที่ยง (เด็กๆอาจจะกวน บอกว่า ยังเช้าอยู่มั้งครับ หรือว่าบ่ายแล้ว) คือเกิดแล้วต้องดับ ก็จะรู้ว่า เราแค่เฝ้าดู สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสุข (ที่จริงคือทุกข์น้อย) หรือทุกข์ ไม่ช้าก็จะดับหายไปตามธรรมชาติ 

อุเบกขาธรรมนี่เอง ที่เป็นยิ่งกว่าผงซักฟอกขจัดทุกข์ แค่เฝ้าดูจิต โดยไม่ต้องไปช่วยเสริมเติม คิดเพิ่ม ปรุงแต่งให้ทุกข์หนักยิ่งขึ้นไปอีก ปล่อยให้จิตวิ่งวุ่นไปขุดค้นของเก่าที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราให้ลอยขึ้นมา แล้วก็ปล่อยให้ดับหายไป หลุดลอกไปไปทีละชั้นๆ ถ้าไม่มีการเติม (ทุกข์) ของใหม่เข้าไป (ทุกข์) ก็ต้องหมดไปจนได้แหละน่า 

เรื่องอย่างนี้ผมก็ชอบศึกษา ชอบอ่าน ทว่า ทางพระท่านว่า มีแต่ “ปริยัติ” เมื่อยังไม่ได้ “ปฏิบัติ” แล้วจะได้ “ปฏิเวธ” คือรู้แจ้งแทงตลอดได้อย่างไร 

เหมือนกับเป็นการเล่าสู่กันฟังถึงการเล่นกอล์ฟ โดยยังไม่เคยจับไม้กอล์ฟเลย ยังงั้นแหละครับ 

กรณีอย่างนี้ ผมนึกถึงคนหนึ่ง จับลูกสอนลูกให้หัดขี่จักรยาน บอกให้ทำอย่างนั้นสิอย่างนี้สิ จนลูกชายขี่ได้ปร๋อ …

แต่ว่า ผู้สอนขี่จักรยานไม่เป็นหรอกครับ ! ๏๛

  … @_@ … 

วัชระ นูมหันต์ 

๒๘ กุมภา ๖๔  

Ref: https://www.payutto.net/book-content/กล่าวนำ-คุณบิดามารดา/

_________________________________

All right reserved © by vatchara@hotmail.com 

Author: Vatchara

This is my personal blog.

Leave a comment

Design a site like this with WordPress.com
Get started