ดาวอังคาร

เรื่องราวของดาวอังคาร เดี๋ยวดัง เดี๋ยวเงียบ วูบวาบเป็นพักๆ พอหมูป่าติดถ้ำ มีคนมามะรุมมะตุ้มช่วยกันเยอะ หนึ่งในนั้นคือคนดังที่มาด้วยตัวเอง พร้อมกับขนเรือดำน้ำจิ๋ว ชื่อ “หมูป่า” ที่เพิ่งประดิษฐ์ ติดตัวมาด้วย คือ Elon Musk มหาเศรษฐีอันดับที่ 56 ของโลก (จัดอันดับเมื่อเดือนมิถุนายน 2018) เจ้าพ่อรถไฟฟ้า “Tesla” และผู้ก่อตั้งบริษัทจรวดอวกาศ Space X จึงอดไม่ได้ที่จะทำให้นึกถึง ดาวอังคาร เพราะเขามีเจตนารมย์แน่วแน่ที่จะไปที่นั่น

งั้นเรามาทำความรู้จักกับดาวเคราะห์ที่ใกล้โลกเราที่สุดดวงนี้กันอีกสักนิดนะ

พระอังคาร (Mars) หรือเทพเจ้าแห่งสงคราม เป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แถมดาวอังคารก็ยังเป็นต้นเรื่องของนิยายวิทยาศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร แต่เป็นในแนวคู่ปรับของโลกมาตลอด เช่นมนุษย์ดาวอังคารบุกโลก อะไรประเภทนี้แหละ งั้นต้องมาเทียบดาวอังคารกับโลกกันหน่อย

ถ้าเปรียบเป็นมวย มุมแดงกับมุมน้ำเงิน แน่นอนว่า โลกต้องอยู่มุมน้ำเงิน เพราะมีน้ำในมหาสมุทรห่อหุ้มโลกอยู่เยอะแยะ จนมองเห็นเป็นดาวสีฟ้า ส่วนอังคารต้องอยู่มุมแดง เพราะห่อหุ้มด้วยฝุ่นผงสนิมเหล็ก จนแดงไปทั้งดวง (ดาวขึ้นสนิมนี่เอง) 

ถ้ายังจะเทียบเหมือนมวยต่อไป ก็ต้องบอกว่าเป็นมวยคนละรุ่น คนละชั้น เพราะเล็กกว่าโลกเยอะ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณแค่ครึ่งเดียวของโลก พอคิดเป็นปริมาตร เลยเหลือแค่ 15% ของโลกเท่านั้น

ถ้าจะเทียบน้ำหนักยิ่งไปกันใหญ่ เพราะโลกก็เนื้อแน่นกว่าเยอะ ดาวอังคารนั้น มีมวลแค่ 11% ของโลก ผลก็คือ ทำให้มีแรงดึงดูดเพียงแค่ 38% เมื่อเทียบกับแรงดึงดูดของโลก

แต่เห็นดาวอังคารเล็กๆอย่างนั้น ที่เอาชนะโลกได้ก็มีนะ คือภูเขาไงครับ ยอดเขาสูงที่สุดบนโลกเราคือ Mount Everest สูงเพียงแค่ 8.8 กิโลเมตร  เทียบไม่ได้กับ ภูเขาสูงที่สุดบนดาวอังคารคือ Olympus Mons ที่สูงถึง 21.9 กิโลเมตร ซึ่งครองตำแหน่งยอดเขาสูงที่สุดในระบบสุริยะมานาน ถึง 40 ปี นับตั้งแต่มีการค้นพบในปี 1971 เพิ่งจะถูกลบสถิติ ลดลงมาเป็นที่สอง เสียตำแหน่งแชมป์ไปในปี 2011 เมื่อมีการค้นพบยอดเขา Rheasilvia บนดาวเคราะห์น้อย Vesta ที่สูง 22 กิโลเมตร เฉือนกันแค่ปลายจมูกเท่านั้นเอง

อากาศล่ะ มีไหม บนดาวอังคารโน่นน่ะ

มีครับ แต่ชั้นบรรยากาศบางมาก แถมออกซิเจนแทบไม่มีเลย (0.146%) ส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (95.97%) ความดันบรรยากาศก็ต่ำมากๆ ไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับโลก ส่วนอุณหภูมินั้น ถึงคราวร้อนก็พอไหว สูสีกับโลก คือ 35 องศา C ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยก็หนาวเอาเรื่อง คือ -63 องศา C แต่อุณหภูมิต่ำสุดนี่เลิกคุยเลย -143 องศา C !

มีเหมือนกันที่ดาวอังคารเลียนแบบดาราเหมือนกับโลก คือ หมุนรอบตัวเองหรือหนึ่งวันใกล้เคียงกัน (24h 37m 22s) แกนหมุนเอียงเหมือนกัน ทำให้มีสี่ฤดูกาลเหมือนกัน แต่ชื่อเรียกอาจจะตะขิดตะขวงใจหน่อย เพราะ ร้อน-หนาว น่ะเรียกได้ แต่ใบไม้ผลิ-ใบไม้ร่วง นี่ จะเรียกยังไงล่ะ เพราะบนดาวอังคารไม่มีต้นไม้เลยนี่

คราวนี้เปลี่ยนจากมวย มาเป็นแข่งจักรยานในสนามวงกลมหรือ velodrome กันบ้าง โดยให้วิ่งรอบดวงอาทิตย์ โลกได้เปรียบที่ได้อยู่เลนใน ทำให้ปั่นได้เร็วกว่าดาวอังคารเท่าตัว คือโลกวิ่งรอบดวงอาทิตย์ได้สองรอบ (2 ปี) ดาวอังคารเพิ่งวิ่งได้รอบเดียว ดังนั้น เมื่อเราดูดาวอังคารจากโลก บางครั้งจึงเห็นเหมือนกับดาวอังคารวิ่งถอยหลังเมื่อเทียบกับดาวที่อยู่ข้างหลังไกลออกไป (กลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีนั่นแหละ) ก็คือในจังหวะที่โลกเรากำลังแซงโค้งเลนในนั่นเอง อาการที่มองเห็นดาวเข้าเกียร์เดินถอยหลังนี่ พวกโหรารู้จักดี เพราะเขามีศัพท์เรียกด้วย คือ “พักร” หรือ “retrograde” (ถ้าดาวเข้าเกียร์ว่างหยุดนิ่ง เรียกว่า “มนต์” ถ้าดาวเข้าเกียร์เดินหน้าเร็ว เรียกว่า “เสริด”)

มาวัดดีกรีความเป็นเจ้าพ่อกันดูบ้าง โลกเรามีดวงจันทร์เป็นบริวารแค่ดวงเดียว แต่เป็นทรงกลมใหญ่โต สวยงาม ส่วนดาวอังคาร ถึงจะมีบริวารตั้งสองดวง ที่มีชื่อว่า Phobos และ Deimos แต่รูปร่างบูดเบี้ยว ดูไม่ได้เลย เหมือนบุษบาริมทาง เพราะคงจะไปคว้ามาจากดาวเคราะห์น้อยที่เฉียดผ่านมา แถมอนาคตก็สดใสต่างกัน ดวงจันทร์ของเรามีระยะห่างจากโลกมากขึ้นทีละนิดละหน่อย “ฉันจะปล่อยเธอเป็นอิสระ” เจ้านาย (โลก) อาจจะบอกอย่างนั้น แต่บริวารของดาวอังคารมีระยะความสูงที่ใกล้พื้นดาวอังคารเป็นสาละวันเตี้ยลงเข้าไปทุกที อนาคตคงมีจุดจบที่คาดเดาได้ คือ “น่าจะโหม่งพื้นเข้าสักวัน”

แต่อย่าพะวงคอยเฝ้าดูเลยครับ อีกหลายสิบล้านปี เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังไม่เกิดหรอก

ยังมีคำถามที่คาใจอีกอย่างสำหรับคนที่วาดฝันว่า จะมีสิ่งที่มีชีวิตบนดาวอังคารหรือไม่ คือเรื่องของ “น้ำ” อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิต แต่ความดันบรรยากาศบนผิวดาวอังคาร แค่ 0.00628 เท่า ของโลกนี่ โอกาสที่น้ำที่อยู่ในรูปของ “ของเหลว” แทบไม่เหลือเลย

ตอบอย่างนี้แสดงว่า มีน้ำบนดาวอังคารสิ เพียงแต่ว่าไม่อยู่ในรูปของ “ของเหลว”

ใช่แล้วครับ มี และมีเยอะด้วย แต่อยู่ในรูปของน้ำแข็งที่ขั้วดาว ซึ่งถ้ามันละลายได้หมด น้ำจะท่วมดาวอังคารทั้งดวงลึกมากกว่า 11 เมตรเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพอุณหภูมิและความดันบรรยากาศปัจจุบันบนดาวอังคาร มันจึงเป็นเพียงแท่งน้ำแข็งหนาปึ้ก แถมหน้าหนาวมีชั้นของน้ำแข็งแห้ง (dry ice) ที่เกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์กดทับไว้ด้วย

เขาวิเคราะห์กันว่า สภาวะการณ์ที่เอื้อให้เกิดสิ่งที่มีชีวิตบนดาวอังคารนั้น สมัยก่อนดีกว่าตอนนี้เสียอีก ปัจจุบันมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ – เอ้อ! แล้วจะคิดไปที่นั่นทำไมกัน ไม่เห็นจะมีอะไรเลย

ถึงกระนั้นก็เถอะ เผลอแผลบเดียว – ตอนนี้ มีทั้งดาวเทียมและหุ่นยนต์สำรวจ ไปเที่ยวเพ่นพ่านอยู่บนดาวอังคารมากมาย เพราะเขาเตรียมจะส่งคนไปที่นั่นให้ได้น่ะซีครับ … เอาจริงเหรอเนี่ย

การจะไปที่นั่น ต้องวางแผนให้ดีๆ เพราะจะต้องไปในช่วงที่ โลกและดาวอังคารโคจรมาอยู่ใกล้กันมากที่สุด อาจจะคิดง่ายๆว่า โลกวิ่งกวดทันดาวอังคารไม่เกินสองปี นี่นา ไม่น่าจะนานนะ แต่อย่าลืมว่า วงโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้นไม่ใช่วงกลม เป็นวงรีครับ แถมดาวอังคารก็รีมากด้วย บางช่วงวิ่งห่างออกไปเสียไกลเชียว ดังนั้น ช่วงปีที่โลกและดาวอังคารจะโคจรมาใกล้กันนั้น สองปียังไม่ได้ ยังอยู่ไกลกันเกินไป ต้องประมาณ 15 ปี อันที่จริงในปีนี้ ก็เป็นปีที่ใกล้เหมือนกันนะ ใกล้สุด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่ยังทำอะไรไม่ได้ รอบต่อไปคือปี 2033 ก็อาจจะได้แค่ไปวิ่งวนรอบๆดาวอังคารแล้วกลับ ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือปี 2048  ซึ่งจะใกล้สุดในวันที่ 3 มิถุนายน แต่เขากะจะให้คนไปลงดาวอังคาร กำหนดวัน Landing ในวันที่ 3 สิงหาคม 2048 – ใครจะจองตั๋วไปดาวอังคาร ช่วยโน้ตไว้หน่อยนะ กันลืม

ถ้าไปถาม Elon Musk ว่า จะไปทำไมกัน ดาวอังคาร นั่นน่ะ  ไม่รู้ว่าเขาจะตอบมาในอารมณ์เดียวกับผู้พิชิตยอดเขา Everest รึเปล่า คือ…

“ตูทำได้แล้วเฟ้ย !”

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

26 สิงหา 61

_________________

Ref:

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Mars

Autophagy

ถ้ามีคำถามว่า ให้นึกถึงกลุ่มผู้ที่พก กฎระเบียบปฏิบัติ จำนวนมากมายเป็นคัมภีร์ประจำกาย และสามารถสร้างตัวตายตัวแทนได้ แต่มีบางภารกิจที่จะต้องทำให้ลุล่วงโดยไม่มีตัวตายตัวแทน ที่สำคัญ ต้องมีสารฆ่าตัวตายติดตัวไว้ตลอดเวลา – แล้วนึกถึงใครครับ?

คนที่เป็นแฟนหนังสายลับ คงเข้าทาง มีจินตนาการไปในแนวเดียวกัน คือต้องเป็นสายลับแน่ๆ แต่จะบอกให้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องในภาพยนตร์ครับ เพราะว่า มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดกับทุกคน นั่นคือเซลล์ในร่างกายของเราเอง โดยคำสั่งมากมายนั้นคือ ดีเอ็นเอ อยู่ภายในแกนกลางของเซลล์ ส่วนสารฆ่าตัวตายที่เซลล์พกติดตัวเหมือนสายลับ คืออะไรนั้น เดี๋ยวจะมาเล่าสู่กันฟัง

ย้อนไปดูที่หัวเรื่องอีกที เมื่อได้เจอคำว่า “autophagy” คำนี้คงไม่คุ้นกัน (ตอนเพื่อนแนะนำให้เขียนเรื่องนี้ ผมก็งงเหมือนกัน เพราะไม่เคยได้ยิน)

ถอดความหมายของ “autophagy” จากภาษากรีก เป็นภาษาปะกิต ได้ดังนี้ “auto” แปลว่า “self” และ “phagy” หมายถึง “eating” รวมความว่าเป็นการ “กินตัวเอง” – ไปกันใหญ่

ฟังดูน่ากลัว เหมือนพวกมนุษย์กินคนยังไงไม่รู้ ทว่านี่มันอยู่ในเซลล์ ถึงจะมีชีวิต แต่ไม่มีจิตใจ จึงไม่น่าหวาดเสียวเท่าไหร่

และเพื่อให้เรียบร้อยระรื่นหู เขาจึงเบี่ยงเบนให้เป็นการรีไซเคิลภายในเซลล์ ฟังดูดีเชียวละ (แต่ที่เกาะมนุษย์กินคนในหมู่เกาะทะเลใต้ในอดีต ที่เป็น cannibal จับฝรั่งตาน้ำข้าวไปต้มกิน แล้วบอกว่า เพื่อไม่ให้เสียของ หลังจากรบชนะแล้วนี่ จะยอมรับกันได้ไหม)

เอาเถอะ แม้ว่าจะฟังระคายหู อย่างไรก็ตาม การกลืนกินตัวเองนี้ เป็นเรื่องปกติภายในเซลล์ ที่มีการศึกษาค้นพบมาตั้งแต่ปี 1962 คือมากกว่า 50 ปีมาแล้ว ซึ่งพบว่า สารฆ่าตัวตายที่เซลล์พกติดตัวไว้ย่อยสลายตัวเองคือ ไลโซโซม (lysosome) แต่ผู้ที่ทุ่มเทค้นคว้า มาตั้งแต่ปี 1990 (เพื่อจะได้นำไปหาวิธีทางการแพทย์ในการเยียวยาผู้ป่วยต่อไป) จนกระทั่งทราบที่ไปที่มาว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร คือ “โยชิโนริ โอซูมิ” (Yoshinori Ohsumi) ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) จากผลงานการที่เขาพบยีนที่เกี่ยวข้องกับการกินตัวเอง (ATG : autophagy genes) ทำให้ทราบกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (autophagy) เขาจึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2016 

ส่วนกระบวนการออโตฟาจี้ คืออะไรนั้น เพื่อมิให้ผิดพลาด จึงขออนุญาตนำคำอธิบายโดยย่อ ของ ศ.ดร. เพทาย เย็นจิตโสมนัส หัวหน้าหน่วยอณูเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาลงไว้ทั้งหมดดังนี้

“ออโตฟาจี้ (autophagy) เป็นกระบวนการปกติภายในเซลล์ ในการย่อยสลายออร์แกนเนล (organelles) ที่ได้รับความเสียหาย หรือโปรตีนจับตัวเป็นก้อน (aggregated protein) เพื่อรีไซเคิล (recycle) เอานำกลับมาใช้อีก ทำให้เซลล์มีวัตถุดิบและพลังงานใช้ เหมือนการรีไซเคิลขยะ เพื่อเอาองค์ประกอบย่อยๆ กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่กระบวนการออโตฟาจี้ เป็นกระบวนการที่มีประโยชน์ ช่วยให้เซลล์อยู่รอด ออโตฟาจี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเซลล์เกิดภาวะขาดอาหาร (starvation) หรือเกิดเพิ่มขึ้นเมื่อเซลล์ภาวะเครียด (stress) ด้วย ในภาวะที่เซลล์เกิดการติดเชื้อ (เช่น เชื้อไวรัส) หรือเกิดความเครียดทำให้เซลล์ต้องใช้พลังงานหรือสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขหรือต่อสู้กับการติดเชื้อและความเครียด เซลล์จะเพิ่มกระบวนการออโตฟาจี้ขึ้นแต่หากภาวะออโตฟาจี้เกิดมากเกินไป เพราะสู้กับการติดเชื้อหรือภาวะเครียด และต่อสู้ได้ไม่ไหว เซลล์จะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพ็อพโตซีส (apoptosis) คือ กระบวนการตายของเซลล์ตามที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ (programmed cell death) ได้ การตายของเซลล์แบบอะพ็อพโตซิส เป็นกลไกป้องกันที่จะช่วยให้เซลล์ที่ตายไม่ปลดปล่อยเอ็นไซม์และสารที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ข้างเคียง เนื้อเยื่อและอวัยวะของร่างกาย”

และเมื่อคณะกรรมการของ Nobel Assembly ให้ข่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “การค้นพบของ Ohsumi นับเป็นการเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราเข้าใจขบวนการสรีระของร่างกายดีขึ้น เข้าใจความสำคัญของ autophagy ว่า ในยามที่ร่างกายขาดแคลนอาหาร หรือ ติดเชื้อนั้นร่างกายมีกลไกปกป้องตัวเองเพื่อความอยู่รอดได้อย่างไร” คนก็ฮือฮากันใหญ่ ตีความเพี้ยนกันไปถึงขนาดว่า เราต้องอดอาหารสิ อดเยอะๆ จะได้เกิด ออโตฟาจี้ รีไซเคิลขยะในร่างกายให้หมด เหลือแต่ของดีๆ – ไปโน่นเลย

หัวใจของเรื่องการอดอาหารนี้ก็คือ Calorie Restriction (CR) 

นักวิจัยพบว่า ถ้าทดลองกับสิ่งที่มีชีวิตที่ไม่ใช่คน ไม่ว่าจะเป็น ยีสต์ แมลงวัน หนู ลิง ล้วนพบว่าเมื่อสัตว์ทดลองลดพลังงานแคลอรีจากอาหารที่กินลง 30 เปอร์เซ็นต์ ช่วยยืดอายุขัยให้ยืนยาวขึ้นได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

แต่การทดลองในคน กลับให้ผลในทางตรงข้าม ! 

จากงานวิจัยซึ่งรวบรวมกลุ่มคนที่ลดอาหาร (CR) เป็นเวลาเฉลี่ยสิบปี 71 คน มาตรวจวัดค่าความยาวของเทโลเมียร์ (ยิ่งยาวยิ่งอายุยืน) จากเซลล์เม็ดเลือดขาว ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่อดทนกินไม่อิ่มมาเป็นเวลานับสิบปี กลับมีค่าความยาวเทโลเมียร์สั้นกว่าคนทั่วไป

พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล คุณหมอนักเขียน เจ้าของผลงานหนังสือ 14 เล่ม ที่อยากจะให้คนไทยมีสุขภาพดีจะได้ไม่ต้องไปหาหมอ ได้ยกคำพูดของ โอซูมิ ว่า “ชีวิตคงอยู่ด้วยความสมดุลระหว่างการสร้างและทำลาย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกขณะ” คุณหมอจึงแนะนำให้เดินสายกลางว่า …

“โดยส่วนตัวแล้ว หมอเชื่อว่าการกินอาหารแต่พอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปจนเกิดความเครียด เน้นอาหารที่แคลอรีต่ำแต่สารอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีนดี ไขมันดี วิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงเส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ น่าจะเป็นคำตอบของสุขภาพดีที่ยั่งยืนกว่า”

ฟังคุณหมอไว้หน่อยนะครับ บรรดาผู้ที่อยากจะลดความอ้วนทั้งหลาย ขอให้กินแต่พอควร และถ้าจะให้ดีก็แถมด้วยการออกกำลังกายเยอะๆ รับรองแข็งแรงแน่ ส่วนเซลล์มันจะกินตัวเองหรือไม่ก็ … ช่างมันเถอะ !

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

19 สิงหา 61

_________________

Ref:

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Autophagy

ซูโม่

ซูโม่ (Sumo) เป็นคำญี่ปุ่นอีกคำหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดี

ซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติญี่ปุ่น ที่โด่งดังไปทั่วโลก ถ้าไม่นับเกม เป้ายิงฉุบ ซูโม่ น่าจะเป็นกีฬาที่เล่นแพ้ชนะกันในเวลาที่รวดเร็วที่สุด คือใช้เวลาไม่กี่วินาที ยังไม่ทันจะบอบช้ำอะไรก็รู้ผลแพ้ชนะเสียแล้ว ดังนั้น เกมกีฬาชนิดนี้ น่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่ ที่เรียกให้ทันสมัยว่าคน “gen Z” (generation Z) ที่มักจะมีสมาธิสั้น ชอบอะไรที่รวดเร็ว ถือคติ ปลาเร็วกินปลาช้า แทนของเก่าที่ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

แต่ซูโม่นี่เป็นทั้งสองอย่าง คือ นอกจากเร็วแล้ว คนตัวใหญ่ก็มักจะเป็นฝ่ายชนะ (ทั้งเร็วทั้งใหญ่) และเป็นกีฬาโบราณด้วย มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 8 โน่นแน่ะ ตอนนั้นเอาทหารตัวโตๆมาปล้ำกัน

กติกาซูโม่นั้นง่ายมาก แค่ทำให้อีกฝ่ายล้ม หรือดันให้ออกนอกวงกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.55 เมตรได้ก็ชนะแล้ว

ความที่กติกามีเพียงแค่นี้ แต่ละฝ่ายจึงต้องชิงไหวชิงพริบ ทำให้ดูสนุก เช่น ถึงแม้โอกาสจะน้อย แต่คนตัวเล็กกว่า ก็อาจชนะได้ โดยอาศัยความรวดเร็ว พลิ้วหลบ แล้วดันหลัง เสริมแรงจนเสียหลัก ตกเวทีไปเลย 

แต่ส่วนใหญ่คนตัวโตจะได้เปรียบ เขาจึงทำในสิ่งตรงกันข้ามกับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสาวๆ คือพยายามเพิ่มน้ำหนัก แทนการลดน้ำหนัก

สมัยนี้คนฮิตลดน้ำหนักกันเยอะ โดยการผูกโยงกับความดัน โรคหัวใจ เข่าเสื่อม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความอ้วน จนความอ้วนที่เคยเป็นสิ่งน่ารักคู่กับเด็กๆ กลับถูกลดชั้น กลายเป็นโรคชนิดหนึ่งไปเลย คือโรคอ้วน

ผลที่ตามมาสำหรับสังคมยุคใหม่คือ ธุรกิจลดความอ้วน โดยตั้งชื่อเป็นภาษาปะกิต ฟังดูแล้วน่าเชื่อถือ เสริมด้วยการวิจัยเข้าไปอีกหน่อย ทำให้ขลังขึ้นมากทีเดียว

ตัวอย่างเช่น คนทั่วไปเมื่อคิดถึงเรื่องการกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก จะคิดตรงไปตรงมาว่า ให้กินข้าวนัอยลง งดน้ำอัดลม กินของหวานน้อยลง การลดแป้งและน้ำตาล เพิ่มแต่โปรตีน เป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้

แต่มันไม่ขลังน่ะ ต้องตั้งชื่อให้เป็นฝรั่งหน่อย โดยเรียกอาหารประเภทนี้ว่า Ketogenic Diet ฟังดูเข้าท่าไหม แถมด้วยงานวิจัยให้ดูเป็นวิชาการหน่อยว่า เมื่อร่างกายขาดแป้งและน้ำตาล ที่จะถูกนำมาสร้างกลูโคส แหล่งพลังงานทางเลือกคือ ไขมัน ซึ่งตับจะนำมาสร้างเป็นคีโตน (ketone bodies) แทนกลูโคส คำว่า ketone จึงเป็นที่มาของคำว่า Ketogenic Diet คืออาหารที่ลดแป้ง เพิ่มแต่โปรตีน และไขมันชนิดดี 

ถ้าเราเรียกว่าอาหารแป้งน้อย ก็ฟังดูธรรมดาไป ไม่จ๊าบ ต้องเรียกเสียใหม่ว่าอาหารประเภทโลว์คาร์บ ฟังดูแล้วนึกถึงปลาคาร์บ ที่จริงมันย่อมาจากคำว่า low carbohydrate 

ถึงแม้ว่าร่างกายจะพยายามปรับตัวหาแหล่งพลังงานใหม่ ด้วยการใช้ไขมันมาเปลี่ยนเป็นคีโตนแทนกลูโคส อันเป็นขบวนการเพื่อความอยู่รอด เวลาขาดแคลนอาหาร เช่นเมื่อหมูป่าติดถ้ำ แต่เนื่องจากมันเป็นขบวนการที่ไม่เป็นปกติ ดังนั้น ถึงน้ำหนักจะลด เราก็จะรับรู้ได้ถึงความไม่ปกตินั้น เช่น จะมีกลิ่นตัว และลมหายใจมีกลิ่น 

อีกวิธีการหนึ่งที่คู่กับการลดการกิน คือเลื่อนการกิน ที่เรียกกันให้เตะหูว่า “intermittent fasting” คือหยุดกินเว้นช่วงยาวๆ ตั้งแต่ 12 ชั่วโมงขึ้นไป ช่วงเทศกาลถือศีลอด ที่กินเฉพาะตอนกลางคืน ก็เข้าข่ายลักษณะนี้ บางคนแนะนำว่าควรจะเว้นมากกว่า 16 ชั่วโมง ใครที่เว้นมื้อเย็นก็เป็นประเภทนี้ และที่เว้นสองมื้อก็มีนะ เหลือกินแค่วันละมื้อเดียว ส่วนพวกที่จัดหนัก หรือสาย hard core เว้น 24 ชั่วโมง คือกินวันเว้นวันไปเลย (จะไหวไหมเนี่ย)

เทียบกับซูโม่ ที่ทำในสิ่งตรงกันข้าม คือไม่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะต้องการเพิ่มน้ำหนัก แต่แปลกที่มาตรงกันอยู่อย่างคือ “การเลื่อนการกิน” นั่นก็แปลว่า การเลื่อนการกิน ทำให้น้ำหนักลดก็ได้ ทำให้น้ำหนักเพิ่มก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่า จะเลื่อน “มื้อไหน”

คนที่จะลดน้ำหนัก จะเลื่อน “มื้อเย็น” ออกไป แต่ซูโม่จะเลื่อน “มื้อเช้า” ออกไปครับ เรียกว่า ให้หิวซก พอได้กินมื้อกลางวันก็ซัดเต็มที่ อาหารประจำคือ สตูญี่ปุ่น (chankonabe) ปรุงพิเศษสำหรับซูโม่โดยเฉพาะ อุดมไปด้วยโปรตีน ทั้งเต้าหู้ ทั้งปลา ที่ขาดไม่ได้คือไก่ เพราะเขาเอาเคล็ดที่ไก่เดินสองขา ซูโม่จะได้ยืนอยู่บนขาทั้งสองได้อย่างมั่นคง (ที่จริงก็จะเอาโปรตีนจากไก่นั่นแหละ) ยกมาเสริฟทั้งหม้อเบ้อเร่อ พร้อมเตาปิคนิคอุ่นร้อน ไม่ใช่ตักแบ่งนะครับ กินคนเดียวทั้งหม้อ! เสริมความอร่อยด้วยสาเก และ mirin (เป็น rice wine หรือไวน์ที่ทำมาจากข้าวเจ้าเหมือนสาเก มีแอลกอฮอล์น้อยกว่า แต่มีน้ำตาลมากกว่า) และเบียร์พร้อมเสร็จสรรพ

กินเสร็จ ทำยังไงต่อรู้ไหมครับ นอนเลย! (siesta)

เป็นไงครับ ขบวนการเพิ่มน้ำหนักของซูโม่แบบนี้ อาจจะมีบางคนเลียนแบบไปบ้างแล้วโดยไม่รู้ตัว แล้วมาบ่นภายหลังว่าทำไมน้ำหนักถึงขึ้นจัง

พิจารณากันเองนะครับ อยากผอมอยากอ้วน ตามสบาย ให้ข้อมูลเพิ่มอีกนิดหนึ่งว่า แม้จะอ้วนแข็งแรงแบบซูโม่ แต่อายุเฉลี่ยของพวกเขาประมาณ 60-65 ปี เท่านั้น คือน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นทั่วไปสิบปี 

ทางใครทางมัน เลือกทางเดินเอาตามอัธยาศัยครับ

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

12 สิงหา 61

_________________

Ref:

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Sumo

ศิลปะการจำ

อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ อาการอย่างหลังคงเป็นกันน้อยหน่อยเพราะว่า น่าจะหมายถึงพวกคนอกหัก ส่วนอาการอย่างแรกมีจำนวนเยอะกว่า เพราะเกิดกับทุกวัย และเป็นมากขึ้นเมื่อวัยสูงขึ้น เด็กๆเวลาสอบ อยากจะจำสิ่งที่เรียนไปแล้วแต่กลับลืม ส่วนคนที่เลี้ยงเด็กมากลับจำไม่ได้ว่า ตั้งแต่ตื่นมานี่แปรงฟันแล้วหรือยัง (อาการหนักกว่า)

เรามักจะเทียบความจำของสมองกับคอมพิวเตอร์ (น่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์มากกว่านะ) ซึ่งนำมาเปรียบเทียบกันลำบาก เพราะทำงานไม่เหมือนกัน คอมพิวเตอร์จำแล้วจำเลย (จาก 0 เป็น 1 หรือจาก 1 เป็น 0) จนกว่าจะมีคำสั่งบอกให้ลบ แต่สมองคนเรานั้น เมื่อได้รับสิ่งเร้าจากภายนอก เช่นการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส หรือรู้สึกจากการสัมผัส จะมีการเปลี่ยนแปลงของประสาทที่เชื่อมต่อในสมอง (synapse) ที่ต่อกันเป็นกลุ่มอีรุงตุงนัง ไม่ได้เจาะจงที่จุดใดจุดหนึ่งเหมือนหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์ การจำของสมองคนเราจึงจำแบบเป็นองค์รวมหรือ concept

มักจะมีการถามกันว่า ความจำของคนเรานั้น มันมีมากน้อยสักเท่าไหร่กัน (คงจะเป็นกังวลเพราะเคยประสบกับเหตุการณ์ที่ฮาร์ดดิสก์เต็มในคอมพิวเตอร์) 

ในการศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford เขารายงานว่า เฉพาะแค่ใน cerebral cortex ส่วนเดียว ก็มีเส้นเชื่อมต่อสำหรับเก็บข้อมูลนี้ถึง 125 ล้านล้านเส้น (125 trillion synapses) และมีการศึกษาต่อมาอีกด้วยว่า แต่ละ synapse สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 4.7 bits 

ดูแค่ความจุหรือความสามารถในการจำของสมองแล้ว เหนือกว่าคอมพิวเตอร์หลายขุม เคยมีการประเมินเปรียบเทียบความจุในการจำข้อมูลของสมองคนเรานั้น พอๆกันกับข้อมูลใน internet ที่วิ่งรอบโลกกันอยู่ในตอนนี้เลยทีเดียว

ดังนั้น อย่าประเมินศักยภาพของตัวเองต่ำไป 

ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบการจำของสมองกับคอมพิวเตอร์ก็คือ ถ้าเรากดปุ่ม save คอมพิวเตอร์ก็จำ พอกดปุ่ม delete คอมพิวเตอร์ก็ลบ ลืมไปเลย ไม่ต้องคิดอะไรมาก ที่จริงมันก็ไม่มีอะไรคิดนั่นแหละ ซึ่งต่างจากสมองของคนเรา ที่สั่งให้จำ หรือสั่งให้ลืมไม่ได้ สมองมันจะจัดการของมันเอง ว่าจะจำอะไร และทิ้งข้อมูลอะไร เพราะสมองเรามีถึงสองขั้นตอน คือความจำชั่วคราว และความจำถาวร แต่ละขั้นตอนสมองก็จะทิ้งข้อมูลที่คิดว่าไม่จำเป็นออกเป็นทอดๆ เช่น เมื่อตาเราอ่านหนังสือ ภาพของสิ่งข้างๆที่เลยเล่มหนังสือออกไปก็เข้าไปในสมองด้วย แต่สมองก็ตัดทิ้งหมด และเมื่อไปถึงความจำชั่วคราว สมองก็กรองอีกว่า ความจำส่วนไหนที่หมดความจำเป็นแล้ว ทิ้งไปได้เลย เช่นมีคนบอกเบอร์โทรศัพท์ให้เรากด พอเรากดเสร็จ สมองก็พิจารณาว่า ข้อมูลนี้ ไม่จำเป็นอีกแล้ว แค่ครึ่งนาที ก็ลืมได้เลย ข้อมูลที่จะลึกไปถึงความจำถาวร จึงไม่มากเท่าไหร่

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของสมองก็คือ มันมีการจัดการตัวเองให้ความจำและการระลึกได้ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มันจัดการตัวเองตอนไหนรู้ไหมครับ – ตอนที่เรานอนหลับครับ

ใครที่เตรียมตัวจะสอบพรุ่งนี้ คืนนี้ท่องตำรายันสว่าง นั่นเป็นวิธีที่ผิดมหันต์นะครับ เพราะสมองไม่มีเวลาที่จะจัดไฟล์ข้อมูลให้เข้าที่เข้าทาง แล้วจะไปทำข้อสอบให้ดีได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น – อย่าอดนอนก่อนสอบ !!

เมื่อเราสั่งให้สมองจำไม่ได้ ถ้าสมองมันเห็นว่าไร้สาระที่จะจำ มันก็ไม่จำ ถ้าเราอยากจะให้สมองจำ เราก็ต้องสร้างความสำคัญ สมองก็จะจำได้เอง 

ที่เขาแข่งขันกันจำทศนิยมตัวเลขของพาย (π) เป็นหมื่นตำแหน่งนั้น เขาไม่ได้ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองเจื้อยแจ้วไปหรอกครับ ตัวเลขเป็นพรืดอย่างนั้น สมองไม่จำอยู่แล้ว สิ่งที่มีความหมายและมีอิทธิพลในการจำมากกว่าคือ “ภาพ” เขาใช้วิธีสร้างภาพช่วยจำ (mnemonic images) เป็นเรื่องราว สมองก็จะพิจารณาว่า เออ อย่างนี้ค่อยน่าจำหน่อย ขนาดเรื่องราวยาวเฟื้อยอย่างรามเกียรติ์ ก็ยังมีคนจำได้เลย จริงไหมครับ

เราลองมาดูกันว่า เขาสร้างภาพช่วยจำกันได้อย่างไร เผื่อใครจะเห็นประโยชน์ นำเอาไปปรับใช้ได้บ้าง ไม่ใช่เพียงแค่เอาไปแข่งกันจำตัวเลขทศนิยมค่าของ π

เทคนิคที่จะจำได้เยอะๆ วิธีหนึ่งก็คือ การสร้าง “ปราสาทความจำ” (Memory Palace) ที่ใช้เก็บภาพช่วยจำได้เยอะแยะ ซึ่งก็คือสถานที่ที่เราไปบ่อยๆ จนคุ้นชิน หลับตาเห็น นึกภาพออก อะไรประเภทนั้น อาจจะเป็นบ้าน หรือที่ทำงานก็ได้

ขั้นต่อไปก็คือวางแผนกำหนดเส้นทางไว้ในใจ ให้ตลอดเส้นทาง ว่าจะกวาดสายตาดูภาพ จากไหนไปไหน เช่นจากหน้าประตู ไปห้องน้ำ ห้องครัว รับแขก เป็นต้น บางคนอาจจะเลือกขวาไปซ้าย หรืออย่างไรก็ได้ แล้วแต่ถนัด

ต่อมาก็ต้องทำรายการที่ต้องการจะจำ เช่นของ 20 อย่างที่จะซื้อ … แครอท ขนมปัง นม ชา แอปเปิล อะไรก็ว่าไป

ได้รายการมาแล้วก็เอาภาพของที่จะซื้อนั้นไปวางไว้ในปราสาทความจำ พยายามนึกภาพให้เว่อร์ๆหน่อยจะได้จำง่าย เช่นแครอทอยู่ที่ประตูหน้า ก็ให้นึกภาพเป็นแครอททำท่าเปิดประตู (ผู้ใหญ่คิดว่าเพี้ยน แต่เด็กๆชอบ)

นั่นก็คือ ต้องพยายามทำภาพให้มีชีวิตชีวา หรือให้ขำๆ ตลกๆ ได้ยิ่งดี จะยิ่งทำให้จำได้ง่ายขึ้นอีก (บางคนนึกถึงภาพสิงโตอยู่ในห้องน้ำ ไม่รู้ว่าจำเรื่องอะไร)

 ที่จริง การสร้างภาพช่วยจำนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในตำนานของชาวโรมัน ก็ยังได้กล่าวถึงว่า เทคนิคนี้ คิดขึ้นโดย Simonides of Ceos เมื่อประมาณ 2,500 ปี มาแล้ว

บ่อยครั้งที่สิ่งที่อยากจะจำนั้น ไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็น สัญลักษณ์ อย่างเช่นตารางธาตุต่างๆ อย่างนี้น่ะ จะทำอย่างไร 

คำตอบก็ตรงไปตรงมาครับ คือพยายามนึกภาพที่ตัวเองนึกแปลความหมายได้เองไปหาสัญลักษณ์ที่ต้องการให้ได้ และแน่นอนว่า แต่ละคนย่อมคิดไม่เหมือนกัน

อย่างเช่น ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นธาตุตัวแรก บางคนอาจจะนึกถึงภาพดวงอาทิตย์ ซึ่งมีไฮโดรเจนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนอื่นอาจจะนึกถึงน้ำ เพราะประกอบไปด้วยธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจนรวมกัน

ธาตุที่สองในตารางธาตุคือฮีเลียม ก็อาจจะนึกภาพเป็นลูกโป่งสวรรค์ ที่อัดก๊าซฮีเลียมให้มันลอยได้

ลิเทียมเป็นธาตุที่สาม ก็อาจจะนึกถึงถ่านชาร์จ – ง่ายหน่อย

ธาตุที่สี่ “beryllium” ชักไม่ค่อยคุ้น อาจจะต้องนึกภาพสตรอว์เบอร์รี่ หรือลูกอะไรก็ได้ที่ลงท้ายด้วยเบอร์รี่ มาละเลงให้มันเลอะข้างฝา

ธาตุที่ห้า “boron” เสียงมันคล้ายๆ “boar” หรือหมูป่า คราวนี้นึกภาพง่ายเลย เพราะ หมูป่าติดถ้ำกำลังดัง

ก็คิดภาพอย่างนี้ ตามตำแหน่งต่างๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

สัญลักษณ์ที่ใช้ภาพมาแทนนี้ ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการจำตัวเลขได้ ดูเหมือนว่า เลขทั้งสิบตัว คือ 0-9 จำแค่สิบภาพ จำสบายๆ แต่สบายเกินไปจนทำให้จำตัวเลขได้น้อย ถ้าจะให้จำตัวเลขได้เยอะขึ้น เขาแนะนำให้จำร้อยภาพ คือ 00-99 ซึ่งคนธรรมดาทั่วๆไป สามารถทำได้ แต่มืออาชีพที่เขาแข่งจำตัวเลขเยอะๆกัน เขาจะจำได้พันภาพ คือ 000-999 ดังนั้น เลขที่อยู่เรียงกันยาวๆ เมื่อแบ่งกลุ่มทีละสามตัว จะทำให้สร้างภาพที่จะต้องจำอยู่ไม่กี่ภาพ

แต่ถ้าเป็นมือสมัครเล่น อยากจะฝึกจำให้คนทึ่ง จนนึกว่าเป็นนักมายากล โดยฝึกจำภาพเพียง 8 ภาพเท่านั้น ก็สามารถจำไพ่ที่สลับแล้วทั้งสำรับ ว่าเป็นสีดำแดง เรียงกันอย่างไรได้ (เอาแค่สีพอ ถ้าจะให้จำว่าหมายเลขอะไรด้วยนี่จะมากไปหน่อยในการฝึกแค่ 15 นาที)

เทคนิคนี้ คุณ Josh Cohen ที่เขียน blog “art of memory” บอกว่า ได้มาจากหนังสือ “Mind Peformance Hacks” เขียนโดย Ron Hale-Evans

ข้อเด่นของการจำแค่สีดำและแดง ก็คือ มันเป็นเลขไบนารี (binary) มีแค่ 0 กับ 1 อาจจะเลือกให้สีดำเป็น 0 สีแดง เป็น 1 ก็ได้ เหมือนกับสวิตช์ไฟ คือ ดำ-ไฟดับ แดง-ไฟติด

ไพ่ทั้งสำรับ 52 ใบ แถมโจ๊กให้อีก 2 ใบ เป็น 54 แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ใบพอดี

ก็ต้องจินตนาการห้องแห่งความจำขึ้นมา ให้มีตำแหน่งสำหรับสร้างภาพสัก 9 แห่ง คือ มุมสี่มุม ด้านสี่ด้าน และกลางห้อง จะเป็นเพดานหรือพื้นก็เลือกเอา (วิธีคิดแบบนี้เรียกว่า Roman room for nook & cranny method) เรียงลำดับตามถนัด เช่นเริ่มจากมุมห้องด้านหลังซ้าย แล้ววนตามเข็มนาฬิกา

แต่ละแห่งจะมีภาพ 2 ภาพ แต่ละภาพแทนไพ่ 3 ใบ ครบ 6 ใบต่อกลุ่ม

ถึงตรงนี้ อาจจะมีบางคนนึกถามในใจว่า แล้วทำไมถึงจำแค่ 8 ภาพ … ตัวเลข 8 มาจากไหน

มาจากไพ่ 3 ใบครับ

จำ trigram หรือขีดสามขีด ได้ไหมครับ ที่มีเส้นขาดกับเส้นเต็ม แทน 0 กับ 1 จะเขียนทั้งหมดได้ 8 อย่าง (2 ยกกำลัง 3 เท่ากับ 8) ที่เกาหลีใต้เอาครึ่งหนึ่งคือ 4 อย่างไปแปะบนธงชาติไงครับ 

ดังนั้นการที่สลับไพ่ไปมา เมื่อหยิบขึ้นมา 3 ใบ ซ้อนกันจากบนลงล่าง จะมีโอกาสเป็นสีดำ (0) และสีแดง (1) แค่ 8 อย่าง โดยเน้นสีแดงเป็นหลัก ว่าอยู่ตำแหน่งไหน แล้วหาทางแทนด้วยรูปตัวอะไรต่อมิอะไรดังต่อไปนี้

0

0 – None – N => Narwhal (ปลานิลดีกว่า)

0

1

1 – All – A => Apple

1

1

0 – Top – T => Taxi หรือ Top ลูกข่าง

0

0

0 – Bottom – B => Bear หมี

1

1

1 – Upper – U => Unicorn ม้ามีเขา

0

0

1 – Lower – L => Lemon มะนาว

1

1

0 – Outer – O => Otter นาก

1

0

1 – Inner – I => Iguana อีกัวนา

0

คราวนี้ก็หาทางจำ ไพ่สามใบใช้รูปหนึ่ง หกใบใช้สองรูป เช่น 010 และ 011 คือ Inner กับ Lower ก็จินตนาการสร้างภาพตัวอีกัวนางับลูกมะนาว อยู่ที่มุมห้อง อย่าลืมเรียงลำดับให้ดีๆว่า ตัวอีกัวนาอยู่ก่อนมะนาว อย่างนี้เป็นต้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ เห็นภาพตัวโน้นตัวนี้รอบห้องไปหมด ไม่มีใครเขารู้หรอกว่าเรานึกถึงภาพอะไร แต่การที่สามารถบอกได้ว่า ไพ่ใบต่อไปจะเป็นสีดำหรือสีแดง จนครบถูกต้องทั้งสำรับจากการเห็นเพียงครั้งเดียวนี่ มันน่าทึ่งไหมล่ะ

ส่วนการสร้างภาพ 00-99 นั้นก็ใช้หลักการแบบเดียวกัน เพียงแต่ต้องจำภาพเยอะหน่อย (ร้อยภาพ) ต้องอาศัยการฝึกฝนนาน จึงจะสามารถใช้การได้อย่างคล่องแคล่ว

นานมาแล้ว ผมเคยอ่านเรื่องราวที่ใช้ภาพช่วยจำเหมือนกัน แต่เอามาใช้เพียงอย่างเดียวจนทุกวันนี้ คือ การทำฟัน

คือว่า หมอฟันจะนัดผมตรวจฟันขูดหินปูน ทุกหกเดือน มันนานมากจนต้องหาทางจำ ครั้นจะจำว่าเป็นต้นปี กับกลางปี เหมือนธนาคาร มันก็จะไปตรงกันกับเทศกาลปีเก่าปีใหม่ – วุ่นอีก จะให้ไปตรงกับวัน equinox ที่กลางวันกับกลางคืนเท่ากัน ในเดือนมีนาคม กับกันยายน ก็จำยากอีก ผมเลยคิดอยู่ในใจแบบแผลงๆหน่อยว่า การทำฟัน มันมีตัว ฟ.ฟัน อยู่ มันก็คล้ายๆ พ.พาน ถ้าเขียนหวัดๆ แบบตัว w จะเหมือนฟันหน้า 2 ซี่ อีกทั้ง เดือนที่ใช้ตัว พ.พาน นั้น จะมีแค่ 2 เดือน คือ พฤษภาคม กับ พฤศจิกายน ห่างกันหกเดือนพอดี ผมก็เลยจะไปทำฟันในช่วง 2 เดือนที่ว่านี่แหละ รวมทั้งเลยไปถึงการทำอะไรที่ห่างกันหกเดือนเช่นเอารถเข้าเช็คตามระยะที่ศูนย์ ผมก็มักจะไปในช่วงเดือน พฤษภาคม และ พฤศจิกายนเช่นกัน มันจำง่ายดีครับ 

เรื่องนี้ยังไม่เคยบอกใครเลยนะเนี่ย – ความลับแตกวันนี้เอง

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

5 สิงหา 61

_________________

Ref:

https://artofmemory.com/wiki/How_to_Build_a_Memory_Palace

Design a site like this with WordPress.com
Get started