ศิลปะการจำ

อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ อาการอย่างหลังคงเป็นกันน้อยหน่อยเพราะว่า น่าจะหมายถึงพวกคนอกหัก ส่วนอาการอย่างแรกมีจำนวนเยอะกว่า เพราะเกิดกับทุกวัย และเป็นมากขึ้นเมื่อวัยสูงขึ้น เด็กๆเวลาสอบ อยากจะจำสิ่งที่เรียนไปแล้วแต่กลับลืม ส่วนคนที่เลี้ยงเด็กมากลับจำไม่ได้ว่า ตั้งแต่ตื่นมานี่แปรงฟันแล้วหรือยัง (อาการหนักกว่า)

เรามักจะเทียบความจำของสมองกับคอมพิวเตอร์ (น่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์มากกว่านะ) ซึ่งนำมาเปรียบเทียบกันลำบาก เพราะทำงานไม่เหมือนกัน คอมพิวเตอร์จำแล้วจำเลย (จาก 0 เป็น 1 หรือจาก 1 เป็น 0) จนกว่าจะมีคำสั่งบอกให้ลบ แต่สมองคนเรานั้น เมื่อได้รับสิ่งเร้าจากภายนอก เช่นการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส หรือรู้สึกจากการสัมผัส จะมีการเปลี่ยนแปลงของประสาทที่เชื่อมต่อในสมอง (synapse) ที่ต่อกันเป็นกลุ่มอีรุงตุงนัง ไม่ได้เจาะจงที่จุดใดจุดหนึ่งเหมือนหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์ การจำของสมองคนเราจึงจำแบบเป็นองค์รวมหรือ concept

มักจะมีการถามกันว่า ความจำของคนเรานั้น มันมีมากน้อยสักเท่าไหร่กัน (คงจะเป็นกังวลเพราะเคยประสบกับเหตุการณ์ที่ฮาร์ดดิสก์เต็มในคอมพิวเตอร์) 

ในการศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford เขารายงานว่า เฉพาะแค่ใน cerebral cortex ส่วนเดียว ก็มีเส้นเชื่อมต่อสำหรับเก็บข้อมูลนี้ถึง 125 ล้านล้านเส้น (125 trillion synapses) และมีการศึกษาต่อมาอีกด้วยว่า แต่ละ synapse สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 4.7 bits 

ดูแค่ความจุหรือความสามารถในการจำของสมองแล้ว เหนือกว่าคอมพิวเตอร์หลายขุม เคยมีการประเมินเปรียบเทียบความจุในการจำข้อมูลของสมองคนเรานั้น พอๆกันกับข้อมูลใน internet ที่วิ่งรอบโลกกันอยู่ในตอนนี้เลยทีเดียว

ดังนั้น อย่าประเมินศักยภาพของตัวเองต่ำไป 

ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบการจำของสมองกับคอมพิวเตอร์ก็คือ ถ้าเรากดปุ่ม save คอมพิวเตอร์ก็จำ พอกดปุ่ม delete คอมพิวเตอร์ก็ลบ ลืมไปเลย ไม่ต้องคิดอะไรมาก ที่จริงมันก็ไม่มีอะไรคิดนั่นแหละ ซึ่งต่างจากสมองของคนเรา ที่สั่งให้จำ หรือสั่งให้ลืมไม่ได้ สมองมันจะจัดการของมันเอง ว่าจะจำอะไร และทิ้งข้อมูลอะไร เพราะสมองเรามีถึงสองขั้นตอน คือความจำชั่วคราว และความจำถาวร แต่ละขั้นตอนสมองก็จะทิ้งข้อมูลที่คิดว่าไม่จำเป็นออกเป็นทอดๆ เช่น เมื่อตาเราอ่านหนังสือ ภาพของสิ่งข้างๆที่เลยเล่มหนังสือออกไปก็เข้าไปในสมองด้วย แต่สมองก็ตัดทิ้งหมด และเมื่อไปถึงความจำชั่วคราว สมองก็กรองอีกว่า ความจำส่วนไหนที่หมดความจำเป็นแล้ว ทิ้งไปได้เลย เช่นมีคนบอกเบอร์โทรศัพท์ให้เรากด พอเรากดเสร็จ สมองก็พิจารณาว่า ข้อมูลนี้ ไม่จำเป็นอีกแล้ว แค่ครึ่งนาที ก็ลืมได้เลย ข้อมูลที่จะลึกไปถึงความจำถาวร จึงไม่มากเท่าไหร่

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของสมองก็คือ มันมีการจัดการตัวเองให้ความจำและการระลึกได้ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มันจัดการตัวเองตอนไหนรู้ไหมครับ – ตอนที่เรานอนหลับครับ

ใครที่เตรียมตัวจะสอบพรุ่งนี้ คืนนี้ท่องตำรายันสว่าง นั่นเป็นวิธีที่ผิดมหันต์นะครับ เพราะสมองไม่มีเวลาที่จะจัดไฟล์ข้อมูลให้เข้าที่เข้าทาง แล้วจะไปทำข้อสอบให้ดีได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น – อย่าอดนอนก่อนสอบ !!

เมื่อเราสั่งให้สมองจำไม่ได้ ถ้าสมองมันเห็นว่าไร้สาระที่จะจำ มันก็ไม่จำ ถ้าเราอยากจะให้สมองจำ เราก็ต้องสร้างความสำคัญ สมองก็จะจำได้เอง 

ที่เขาแข่งขันกันจำทศนิยมตัวเลขของพาย (π) เป็นหมื่นตำแหน่งนั้น เขาไม่ได้ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองเจื้อยแจ้วไปหรอกครับ ตัวเลขเป็นพรืดอย่างนั้น สมองไม่จำอยู่แล้ว สิ่งที่มีความหมายและมีอิทธิพลในการจำมากกว่าคือ “ภาพ” เขาใช้วิธีสร้างภาพช่วยจำ (mnemonic images) เป็นเรื่องราว สมองก็จะพิจารณาว่า เออ อย่างนี้ค่อยน่าจำหน่อย ขนาดเรื่องราวยาวเฟื้อยอย่างรามเกียรติ์ ก็ยังมีคนจำได้เลย จริงไหมครับ

เราลองมาดูกันว่า เขาสร้างภาพช่วยจำกันได้อย่างไร เผื่อใครจะเห็นประโยชน์ นำเอาไปปรับใช้ได้บ้าง ไม่ใช่เพียงแค่เอาไปแข่งกันจำตัวเลขทศนิยมค่าของ π

เทคนิคที่จะจำได้เยอะๆ วิธีหนึ่งก็คือ การสร้าง “ปราสาทความจำ” (Memory Palace) ที่ใช้เก็บภาพช่วยจำได้เยอะแยะ ซึ่งก็คือสถานที่ที่เราไปบ่อยๆ จนคุ้นชิน หลับตาเห็น นึกภาพออก อะไรประเภทนั้น อาจจะเป็นบ้าน หรือที่ทำงานก็ได้

ขั้นต่อไปก็คือวางแผนกำหนดเส้นทางไว้ในใจ ให้ตลอดเส้นทาง ว่าจะกวาดสายตาดูภาพ จากไหนไปไหน เช่นจากหน้าประตู ไปห้องน้ำ ห้องครัว รับแขก เป็นต้น บางคนอาจจะเลือกขวาไปซ้าย หรืออย่างไรก็ได้ แล้วแต่ถนัด

ต่อมาก็ต้องทำรายการที่ต้องการจะจำ เช่นของ 20 อย่างที่จะซื้อ … แครอท ขนมปัง นม ชา แอปเปิล อะไรก็ว่าไป

ได้รายการมาแล้วก็เอาภาพของที่จะซื้อนั้นไปวางไว้ในปราสาทความจำ พยายามนึกภาพให้เว่อร์ๆหน่อยจะได้จำง่าย เช่นแครอทอยู่ที่ประตูหน้า ก็ให้นึกภาพเป็นแครอททำท่าเปิดประตู (ผู้ใหญ่คิดว่าเพี้ยน แต่เด็กๆชอบ)

นั่นก็คือ ต้องพยายามทำภาพให้มีชีวิตชีวา หรือให้ขำๆ ตลกๆ ได้ยิ่งดี จะยิ่งทำให้จำได้ง่ายขึ้นอีก (บางคนนึกถึงภาพสิงโตอยู่ในห้องน้ำ ไม่รู้ว่าจำเรื่องอะไร)

 ที่จริง การสร้างภาพช่วยจำนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในตำนานของชาวโรมัน ก็ยังได้กล่าวถึงว่า เทคนิคนี้ คิดขึ้นโดย Simonides of Ceos เมื่อประมาณ 2,500 ปี มาแล้ว

บ่อยครั้งที่สิ่งที่อยากจะจำนั้น ไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็น สัญลักษณ์ อย่างเช่นตารางธาตุต่างๆ อย่างนี้น่ะ จะทำอย่างไร 

คำตอบก็ตรงไปตรงมาครับ คือพยายามนึกภาพที่ตัวเองนึกแปลความหมายได้เองไปหาสัญลักษณ์ที่ต้องการให้ได้ และแน่นอนว่า แต่ละคนย่อมคิดไม่เหมือนกัน

อย่างเช่น ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นธาตุตัวแรก บางคนอาจจะนึกถึงภาพดวงอาทิตย์ ซึ่งมีไฮโดรเจนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนอื่นอาจจะนึกถึงน้ำ เพราะประกอบไปด้วยธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจนรวมกัน

ธาตุที่สองในตารางธาตุคือฮีเลียม ก็อาจจะนึกภาพเป็นลูกโป่งสวรรค์ ที่อัดก๊าซฮีเลียมให้มันลอยได้

ลิเทียมเป็นธาตุที่สาม ก็อาจจะนึกถึงถ่านชาร์จ – ง่ายหน่อย

ธาตุที่สี่ “beryllium” ชักไม่ค่อยคุ้น อาจจะต้องนึกภาพสตรอว์เบอร์รี่ หรือลูกอะไรก็ได้ที่ลงท้ายด้วยเบอร์รี่ มาละเลงให้มันเลอะข้างฝา

ธาตุที่ห้า “boron” เสียงมันคล้ายๆ “boar” หรือหมูป่า คราวนี้นึกภาพง่ายเลย เพราะ หมูป่าติดถ้ำกำลังดัง

ก็คิดภาพอย่างนี้ ตามตำแหน่งต่างๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

สัญลักษณ์ที่ใช้ภาพมาแทนนี้ ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการจำตัวเลขได้ ดูเหมือนว่า เลขทั้งสิบตัว คือ 0-9 จำแค่สิบภาพ จำสบายๆ แต่สบายเกินไปจนทำให้จำตัวเลขได้น้อย ถ้าจะให้จำตัวเลขได้เยอะขึ้น เขาแนะนำให้จำร้อยภาพ คือ 00-99 ซึ่งคนธรรมดาทั่วๆไป สามารถทำได้ แต่มืออาชีพที่เขาแข่งจำตัวเลขเยอะๆกัน เขาจะจำได้พันภาพ คือ 000-999 ดังนั้น เลขที่อยู่เรียงกันยาวๆ เมื่อแบ่งกลุ่มทีละสามตัว จะทำให้สร้างภาพที่จะต้องจำอยู่ไม่กี่ภาพ

แต่ถ้าเป็นมือสมัครเล่น อยากจะฝึกจำให้คนทึ่ง จนนึกว่าเป็นนักมายากล โดยฝึกจำภาพเพียง 8 ภาพเท่านั้น ก็สามารถจำไพ่ที่สลับแล้วทั้งสำรับ ว่าเป็นสีดำแดง เรียงกันอย่างไรได้ (เอาแค่สีพอ ถ้าจะให้จำว่าหมายเลขอะไรด้วยนี่จะมากไปหน่อยในการฝึกแค่ 15 นาที)

เทคนิคนี้ คุณ Josh Cohen ที่เขียน blog “art of memory” บอกว่า ได้มาจากหนังสือ “Mind Peformance Hacks” เขียนโดย Ron Hale-Evans

ข้อเด่นของการจำแค่สีดำและแดง ก็คือ มันเป็นเลขไบนารี (binary) มีแค่ 0 กับ 1 อาจจะเลือกให้สีดำเป็น 0 สีแดง เป็น 1 ก็ได้ เหมือนกับสวิตช์ไฟ คือ ดำ-ไฟดับ แดง-ไฟติด

ไพ่ทั้งสำรับ 52 ใบ แถมโจ๊กให้อีก 2 ใบ เป็น 54 แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ใบพอดี

ก็ต้องจินตนาการห้องแห่งความจำขึ้นมา ให้มีตำแหน่งสำหรับสร้างภาพสัก 9 แห่ง คือ มุมสี่มุม ด้านสี่ด้าน และกลางห้อง จะเป็นเพดานหรือพื้นก็เลือกเอา (วิธีคิดแบบนี้เรียกว่า Roman room for nook & cranny method) เรียงลำดับตามถนัด เช่นเริ่มจากมุมห้องด้านหลังซ้าย แล้ววนตามเข็มนาฬิกา

แต่ละแห่งจะมีภาพ 2 ภาพ แต่ละภาพแทนไพ่ 3 ใบ ครบ 6 ใบต่อกลุ่ม

ถึงตรงนี้ อาจจะมีบางคนนึกถามในใจว่า แล้วทำไมถึงจำแค่ 8 ภาพ … ตัวเลข 8 มาจากไหน

มาจากไพ่ 3 ใบครับ

จำ trigram หรือขีดสามขีด ได้ไหมครับ ที่มีเส้นขาดกับเส้นเต็ม แทน 0 กับ 1 จะเขียนทั้งหมดได้ 8 อย่าง (2 ยกกำลัง 3 เท่ากับ 8) ที่เกาหลีใต้เอาครึ่งหนึ่งคือ 4 อย่างไปแปะบนธงชาติไงครับ 

ดังนั้นการที่สลับไพ่ไปมา เมื่อหยิบขึ้นมา 3 ใบ ซ้อนกันจากบนลงล่าง จะมีโอกาสเป็นสีดำ (0) และสีแดง (1) แค่ 8 อย่าง โดยเน้นสีแดงเป็นหลัก ว่าอยู่ตำแหน่งไหน แล้วหาทางแทนด้วยรูปตัวอะไรต่อมิอะไรดังต่อไปนี้

0

0 – None – N => Narwhal (ปลานิลดีกว่า)

0

1

1 – All – A => Apple

1

1

0 – Top – T => Taxi หรือ Top ลูกข่าง

0

0

0 – Bottom – B => Bear หมี

1

1

1 – Upper – U => Unicorn ม้ามีเขา

0

0

1 – Lower – L => Lemon มะนาว

1

1

0 – Outer – O => Otter นาก

1

0

1 – Inner – I => Iguana อีกัวนา

0

คราวนี้ก็หาทางจำ ไพ่สามใบใช้รูปหนึ่ง หกใบใช้สองรูป เช่น 010 และ 011 คือ Inner กับ Lower ก็จินตนาการสร้างภาพตัวอีกัวนางับลูกมะนาว อยู่ที่มุมห้อง อย่าลืมเรียงลำดับให้ดีๆว่า ตัวอีกัวนาอยู่ก่อนมะนาว อย่างนี้เป็นต้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ เห็นภาพตัวโน้นตัวนี้รอบห้องไปหมด ไม่มีใครเขารู้หรอกว่าเรานึกถึงภาพอะไร แต่การที่สามารถบอกได้ว่า ไพ่ใบต่อไปจะเป็นสีดำหรือสีแดง จนครบถูกต้องทั้งสำรับจากการเห็นเพียงครั้งเดียวนี่ มันน่าทึ่งไหมล่ะ

ส่วนการสร้างภาพ 00-99 นั้นก็ใช้หลักการแบบเดียวกัน เพียงแต่ต้องจำภาพเยอะหน่อย (ร้อยภาพ) ต้องอาศัยการฝึกฝนนาน จึงจะสามารถใช้การได้อย่างคล่องแคล่ว

นานมาแล้ว ผมเคยอ่านเรื่องราวที่ใช้ภาพช่วยจำเหมือนกัน แต่เอามาใช้เพียงอย่างเดียวจนทุกวันนี้ คือ การทำฟัน

คือว่า หมอฟันจะนัดผมตรวจฟันขูดหินปูน ทุกหกเดือน มันนานมากจนต้องหาทางจำ ครั้นจะจำว่าเป็นต้นปี กับกลางปี เหมือนธนาคาร มันก็จะไปตรงกันกับเทศกาลปีเก่าปีใหม่ – วุ่นอีก จะให้ไปตรงกับวัน equinox ที่กลางวันกับกลางคืนเท่ากัน ในเดือนมีนาคม กับกันยายน ก็จำยากอีก ผมเลยคิดอยู่ในใจแบบแผลงๆหน่อยว่า การทำฟัน มันมีตัว ฟ.ฟัน อยู่ มันก็คล้ายๆ พ.พาน ถ้าเขียนหวัดๆ แบบตัว w จะเหมือนฟันหน้า 2 ซี่ อีกทั้ง เดือนที่ใช้ตัว พ.พาน นั้น จะมีแค่ 2 เดือน คือ พฤษภาคม กับ พฤศจิกายน ห่างกันหกเดือนพอดี ผมก็เลยจะไปทำฟันในช่วง 2 เดือนที่ว่านี่แหละ รวมทั้งเลยไปถึงการทำอะไรที่ห่างกันหกเดือนเช่นเอารถเข้าเช็คตามระยะที่ศูนย์ ผมก็มักจะไปในช่วงเดือน พฤษภาคม และ พฤศจิกายนเช่นกัน มันจำง่ายดีครับ 

เรื่องนี้ยังไม่เคยบอกใครเลยนะเนี่ย – ความลับแตกวันนี้เอง

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

5 สิงหา 61

_________________

Ref:

https://artofmemory.com/wiki/How_to_Build_a_Memory_Palace

Author: Vatchara

This is my personal blog.

Leave a comment

Design a site like this with WordPress.com
Get started