วิธีพ้นทุกข์

⭕️ เพิ่งผ่านวันมาฆะมาหมาดๆ เห็นหัวเรื่อง คงเดากันได้ว่า วันนี้ ผมจะขออนุญาต ออกแนวหลุดโลกสักครั้งนะครับ 

เรื่องของเรื่องก็คือว่า กัลยาณมิตรของผมได้ส่ง eBook มาให้อ่านเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือ “ธรรมบรรยาย” จัดทำโดย “มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์” 

เรื่องเกี่ยวกับธรรมะ เรื่องพระเรื่องเจ้าเหล่านี้ ผมก็พอจะได้ยินได้ฟัง และได้อ่านมาบ้าง แม้จะไม่มากนัก แต่ก็พอจะถูกจริตของความอยากรู้พอสมควร จึงนึกในใจว่า จะมีเรื่องอะไรใหม่ๆไหม 

เปล่าเลยครับ ศัพท์แสงที่กล่าวถึงในเล่มนี้ ผมได้ยินมาแล้วแทบทั้งนั้น (ส.ว.นี่ครับ) แต่ไม่น่าเชื่อ กลายเป็นว่า ผมได้เข้าใจมุมมองใหม่ๆมากกว่า 

คนที่พูดถึงศัพท์แสงดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้ง เป็นเจ้าของภาษาเอง คือ คนอินเดีย แต่เป็นคนอินเดียที่เกิดในพม่า และก่อนที่จะมาพบแนวทางปฏิบัติธรรมนี้ ท่านเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมายมาก่อน ท่านมีชื่อว่า สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า 

และความที่ท่านเกิดในพม่า จึงโชคดี มีโอกาสได้ปฏิบัติตามแนวทางของท่าน อูบาขิ่น ซึ่งเป็นวิปัสสนาวิถีพุทธที่ได้รับ จากอินเดีย และมาเติบโตในพม่า หลังจากที่สูญสลายไปจากอินเดีย ต่อมาท่านจึงได้นำกลับไปบ่มเพาะให้เติบโตที่อินเดียใหม่ หลังจากที่สูญหายไปนาน 

เปล่าครับ ท่านไม่ได้ให้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านต้องเปลี่ยนศาสนา จึงทำให้มีผู้มาเข้าอบรมมากมาย ทั้งฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ฝรั่ง แขก ไทย และแพร่หลายไปในทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ไทย พม่า กัมพูชา ไต้หวัน อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง มองโกเลีย อิหร่าน โอมาน อิสราเอล สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รัสเซีย ยุโรป อังกฤษ ฮังการี อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก อาร์เจนติน่า อุรุกวัย คิวบา เวเนซูเอล่า ซิมบับเว เคนย่า อัฟริกาใต้ ฯลฯ เพราะท่านกล่าวว่า ความทุกข์เป็นสากล ไม่ใช่ทุกข์แบบฮินดู พุทธ คริสต์ หรือ อิสลาม วิธีพ้นทุกข์ จึงเป็นสากลด้วยเช่นกัน ไม่ว่าใคร ถ้าทำอย่างนี้ก็จะพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น 

ท่านจึงตัดพิธีกรรม อันเป็นเรื่องศาสนาหรือความเชื่อออกไป เอาแต่เนื้อๆอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับศาสนาใดๆทั้งนั้น อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และทรงนำมาแนะนำสั่งสอน โดยทรงสอนไม่ได้ให้เชื่อ แต่ให้ปฏิบัติ 

วิธีปฏิบัติให้พ้นทุกข์ ก็คงจะคุ้นกันอยู่แล้ว คือ มรรค 8 (วิภังคสูตร) 

ถ้าเห็นว่า 8 เยอะไป ก็รวมบางข้อเข้าด้วยกัน รวบเข้ามาเป็น 3 อย่าง คือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา (จูฬเวทัลลสูตร) 

มรรค 1 และ 2 คือ ปัญญา (คิดวิเคราะห์)

มรรค 3, 4 และ 5 คือ ศีล (สำรวมกาย วาจา)

มรรค 6, 7 และ 8 คือ สมาธิ (ใจนิ่ง) 

มรรคหนึ่งและสอง เรื่องของปัญญา สำคัญที่สุด ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และนำมาสั่งสอนเพื่อจะได้พ้นทุกข์ แต่จะทำได้ต้องทำมรรคสามถึงแปดมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันมาก่อนยุคพระพุทธเจ้าเสียอีก เพราะศีลก็ไม่ต่างกัน นักบวชก่อนหน้านั้นได้ทำกันมาแล้ว แต่มาหยุดกันตรงการเข้าฌาณทำสมาธิ นิ่งกันอยู่แค่นั้น 

ที่น่าสนใจคือ ปัญญา คิดวิเคราะห์ น่ะ ทำยังไง แล้วจะพ้นทุกข์ได้ยังไง 

ปัญญาเกิดได้ 3 อย่างคือ จากการคิด (จินตมยปัญญา) จากการฟัง หรืออ่านก็ได้ (สุตมยปัญญา) และจากการปฏิบัติ (ภาวนามยปัญญา) 

ก็พอจะนึกออกว่า จะให้รู้จริงมันจะต้องลงเอยที่ปฏิบัติ เหมือนกับการว่ายน้ำ แค่ฟังเขาว่า หรือคิดเอาเอง โดยไม่ได้ลงน้ำว่ายจริงๆ แล้วจะว่ายได้ยังไง 

ที่งงกันอยู่คือ จะเริ่มตรงไหน และจะไปต่ออย่างไร

ใครที่สนใจทางนี้อยู่แล้ว คงพอจะรู้ว่า สามารถเริ่มได้หลายอย่าง เคยฟังบางท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนการขึ้นเขา อาจจะเริ่มคนละจุด แต่ถึงยอดเขาเหมือนกัน 

แต่แนวทางของท่านโกเอ็นก้า เลือกวิธีเดียว คือ การมีความระลึกรู้ตัวในลมหายใจเข้าออก (อานาปานสติ = อานะ หายใจออก + ปานะ หายใจเข้า + สติ รู้ตัว บาลีพูดถึงหายใจออกก่อนหายใจเข้านะ แปลกดี) 

เหตุผลก็คือ ลมหายใจ เป็นพรมแดนรอยต่อของร่างกาย เป็นทั้งส่วนที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ กล่าวคือ เราสามารถที่จะควบคุมให้หายใจสั้นหายใจยาว หรือแรงได้ ค่อยได้ หรือแม้แต่หยุดชั่วขณะ เช่นกลั้นหายใจสักครู่ก็ได้ เหมือนกับที่เราควบคุมแขนขาได้ 

ขณะเดียวกัน ถ้าเราเผลอๆ ไม่คิดอะไร ร่างกายก็จะหายใจไปตามปกติ ตามเรื่องตามราวของมัน เหมือนกับส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นหัวใจ 

สิ่งพิเศษอีกอย่างคือ การหายใจ เป็นผลสะท้อนอารมณ์ของเราออกมาได้ด้วยโดยไม่รู้ตัว เช่น หายใจแรง หายใจถี่ 

การพิจารณาลมหายใจจนจิตนิ่งเป็นสมาธิ จึงมีการทำกันมานาน และสามารถพิจารณาลมหายใจให้เกิดปัญญาได้ด้วย

จึงมีคำกล่าวว่า อานาปานสติเป็นได้ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

ถึงตรงนี้ นิ่งดีแล้ว ยังไงต่อ 

จุดนี้แหละครับ ที่น่าสนใจ 

เพราะท่านโกเอ็นก้าได้ชี้ประเด็นให้เห็นชัดๆ ไปกันต่อได้ ที่ทำให้ผมเพิ่งจะถึงบางอ้อ คือธรรมะสำคัญข้อหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ “อุเบกขา” นั่นเอง 

ใครที่ชอบสมาธิ เพื่อให้ใจนิ่ง เกิดฌาน จะมีวิวัฒนาการของจิตเป็นลำดับไป แต่เมื่อถึงจุดที่เพียงพอที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา หรือวิปัสสนานั้น สิ่งที่บังเกิดกับจิตดังกล่าวจะหายไป (ปีติ สุข ฯลฯ) แต่สิ่งที่มาแทนคือ “อุเบกขา” 

อุเบกขา หนึ่งในพรหมวิหารสี่ ทำให้หลุดพ้นได้อย่างไร 

งั้นไปดูเรื่อง พรหมวิหารสี่ นี่กันก่อน 

พูดถึงเรื่องพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เราจะนึกถึงพ่อแม่ 

คงเป็นที่ประจักษ์รู้ชัดกันว่า พ่อแม่ มีธรรมะในเรื่องพรหมวิหารสี่กันอยู่แล้วโดนธรรมชาติในการเลี้ยงลูก อย่างที่พูดเทียบกันว่า “พ่อแม่ เป็นพระพรหมของลูก” เนื่องจากความรักและปรารถนาดีต่อลูกอย่างไม่มีขีดจำกัด 

เพื่อให้เข้าใจดีขึ้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต payutto.net) ได้มีคำอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า … 

“… ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ในเมืองไทยเรานี้ แสดงเมตตา กรุณา และมุทิตา ได้ง่าย หรือพร้อมที่จะแสดงพรหมวิหาร ๓ ข้อแรกนี้ได้ตลอดเวลา แต่มักวางอุเบกขาไม่เป็น หรือแม้แต่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดต่อข้ออุเบกขา ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น และไม่รู้จักรับผิดชอบ พรหมวิหารข้อสุดท้ายนี้จะปฏิบัติได้ถูกต้องจะต้องใช้ปัญญา จึงต้องศึกษาให้ดี ตอนแรกจะพูดเป็นแนวไว้ก่อน 

พ่อแม่มีเมตตา ในยามปกติ เมื่อลูกเจริญเติบโตอยู่ดีตามที่ควรจะเป็น (เขาปกติ) 

พ่อแม่มีกรุณา ยามลูกมีทุกข์ เช่น เจ็บป่วย หรือมีเรื่องลำบากเดือดร้อน (เขาตกต่ำ) 

พ่อแม่มีมุทิตา ยามเมื่อลูกทำอะไรได้ดีมีสุขหรือประสบความสำเร็จ เช่น สอบได้ที่ดีๆ สอบเข้างานได้ หรือได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง (เขาขึ้นสูง) 

แต่ในบางกรณี พ่อแม่ไม่อาจใช้เมตตา กรุณา หรือมุทิตา เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย เช่น อาจจะเสียหายแก่ชีวิตของลูกเอง หรือเสียธรรม ในกรณีอย่างนั้น จะต้องรู้จักวางอุเบกขา โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบ คือ 

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อจะฝึกหัดให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตนเอง จะได้ทำอะไรๆเป็น และพึ่งตนเองได้ เท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกพัฒนา เช่น ให้เดินเอง ทำการบ้านเอง โดยพ่อแม่วางทีเฉยดูให้เขาทำ แต่พร้อมที่จะช่วยเมื่อถึงเวลา หรือเป็นที่ปรึกษาให้…” 

จากเนื้อความของท่าน ป. ปยุตฺโต ที่เขียนบรรยาย ผมเห็นว่า ธรรมะข้อสำคัญที่สุด ที่จะทำให้ลูกพัฒนา ก็คือ “อุเบกขา” นี่แหละ 

กลับมาที่จิตของเราเองบ้าง 

ไม่ว่าใครจะมีลูกหรือไม่มีลูกให้รัก แต่ทุกคนย่อมรักตัวเอง 

แล้วทำไมเราจึงไม่ใช้อุเบกขามาพัฒนาจิตตัวเองบ้างล่ะ 

ลูกใครว่าซนมาก ยุกยิก ไม่อยู่นิ่ง ซนยังกะลิงอย่างโบราณว่า แต่จิตเราซนมากกว่า ยิ่งกว่าลิงไม่รู้กี่เท่า 

เพราะอาหารของจิต คือ ความคิด ที่คิดไม่ยอมหยุด และมักจะวนคิดอยู่แค่สองอย่าง คือ อดีตที่แก้ไม่ได้ และอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือเปล่า จะให้นิ่งอยู่กับปัจจุบัน ก็ต้องจดจ่อเฝ้าดูอยู่กับลมหายใจนั่นเอง 

คำที่สำคัญก็คือ “เฝ้าดู” 

นั่นคือ การใช้ธรรมข้อ “อุเบกขา” ในการเฝ้าดูจิต โดยไม่ต้องคิดต่อยอดออกไป กลายเป็นทุกข์หนักเข้าไปอีก 

หลายคนที่มาทางสายปฏิบัติ คงจำกันขึ้นใจได้ในเรื่องมหาสติปัฏฐานสี่ คือ “กาย เวทนา จิต ธรรม” 

ว่าแต่ว่า ทั้งสี่อย่างนั้นมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร 

เขาให้ “เฝ้าดู” ครับ เฝ้าดูกายก็จะเห็นสุขทุกข์ทางกาย คือเวทนา เฝ้าดูจิต ก็จะเห็นสุขทุกข์ทางจิต คือธรรม 

และเมื่อรวมกับสัจธรรมของความไม่เที่ยง (เด็กๆอาจจะกวน บอกว่า ยังเช้าอยู่มั้งครับ หรือว่าบ่ายแล้ว) คือเกิดแล้วต้องดับ ก็จะรู้ว่า เราแค่เฝ้าดู สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสุข (ที่จริงคือทุกข์น้อย) หรือทุกข์ ไม่ช้าก็จะดับหายไปตามธรรมชาติ 

อุเบกขาธรรมนี่เอง ที่เป็นยิ่งกว่าผงซักฟอกขจัดทุกข์ แค่เฝ้าดูจิต โดยไม่ต้องไปช่วยเสริมเติม คิดเพิ่ม ปรุงแต่งให้ทุกข์หนักยิ่งขึ้นไปอีก ปล่อยให้จิตวิ่งวุ่นไปขุดค้นของเก่าที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราให้ลอยขึ้นมา แล้วก็ปล่อยให้ดับหายไป หลุดลอกไปไปทีละชั้นๆ ถ้าไม่มีการเติม (ทุกข์) ของใหม่เข้าไป (ทุกข์) ก็ต้องหมดไปจนได้แหละน่า 

เรื่องอย่างนี้ผมก็ชอบศึกษา ชอบอ่าน ทว่า ทางพระท่านว่า มีแต่ “ปริยัติ” เมื่อยังไม่ได้ “ปฏิบัติ” แล้วจะได้ “ปฏิเวธ” คือรู้แจ้งแทงตลอดได้อย่างไร 

เหมือนกับเป็นการเล่าสู่กันฟังถึงการเล่นกอล์ฟ โดยยังไม่เคยจับไม้กอล์ฟเลย ยังงั้นแหละครับ 

กรณีอย่างนี้ ผมนึกถึงคนหนึ่ง จับลูกสอนลูกให้หัดขี่จักรยาน บอกให้ทำอย่างนั้นสิอย่างนี้สิ จนลูกชายขี่ได้ปร๋อ …

แต่ว่า ผู้สอนขี่จักรยานไม่เป็นหรอกครับ ! ๏๛

  … @_@ … 

วัชระ นูมหันต์ 

๒๘ กุมภา ๖๔  

Ref: https://www.payutto.net/book-content/กล่าวนำ-คุณบิดามารดา/

_________________________________

All right reserved © by vatchara@hotmail.com 

คุณภาพน้ำดื่ม

⭕️ คุยกันเรื่อง คุณภาพอากาศ อยู่ไม่ทันไร พออากาศทำท่าว่าจะกลับมาดี กลับมีข่าวเรื่องน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำประปา กร่อย แทรกเข้ามาอีก คุณภาพน้ำดื่มบ้านเราจะเป็นยังไงกันล่ะนี่ 

บ้านเรา มักจะมีเรื่องโน้นเรื่องนี้ ผลัดกันเข้ามาป่วนจิตอยู่เรื่อยเลย โบราณเขาเปรียบเปรยว่า “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” 

เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยได้เห็นวัวเห็นควาย ที่มีคุณูปการต่อมนุษย์เป็นอย่างสูง ช่วยเราทำไร่ไถนา อาจจะนึกค้านว่า “อากาศ ไม่ใช่เรื่องวัว และน้ำ ก็ไม่ใช่เรื่องควายสักหน่อย” เป็นการเปรียบเทียบครับ – เปรียบเทียบ 

หากคิดอย่างนี้ พรรคพวกที่เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในการประปาจะโกรธเอาน่ะนา 

ในบางพื้นที่ การประปาจะประกาศว่า น้ำประปาดื่มได้ แต่เพื่อความสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจะต้องเดินทางออกจากบ้านไปไหนมาไหน หลายคนจึงยอมเสียเงินซื้อน้ำบรรจุขวดมาดื่ม ส่วนหนึ่งคือแรงโฆษณา ว่าดียังงั้น ดียังงี้ 

พรรคพวกจึงถามไถ่มาว่า … “เห็นโฆษณาน้ำยี่ห้อต่างๆ ว่าดี ยังไงถึงว่าดีครับ ใครเป็นคนบอก เขาคุมคุณภาพกันอย่างไรครับ” 

ลองไปค้นหาข้อมูลดู ถึงได้รู้ว่า กรมควบคุมมลพิษเจ้าเก่านั่นเองครับ ที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานน้ำดื่ม แต่ว่า “ยังไงถึงว่าดี” ไม่ได้บอกไว้ครับ มีแต่ “ยังไงถึงว่าไม่ดี” เพราะว่ามีแต่ตัวเลข “ห้ามเกิน” เต็มไปหมด ก็คือสารเคมีทั้งหลายนั่นแหละ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านหมดปัญญา เพราะต้องอาศัยห้องแลปขนาดใหญ่มานั่งวัดกัน 

ถ้าตามไปดูประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) เรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ก็คือน้ำดื่มบรรจุขวดนั่นแหละ เรียกเป็นทางการเสียยาวเชียว) กำหนดมาตรฐานคุณสมบัติทางฟิสิกส์ว่า นอกจากจะสีใส ไม่ขุ่นแล้วยังต้องไม่มีกลิ่น (แต่ไม่รวมถึงกลิ่นคลอรีน) และที่สำคัญ ค่าความเป็นกรด-ด่าง ต้องอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 8.5 

คงรู้กันอยู่แล้วนะครับ ว่า ถ้าค่านี้เท่ากับ 7 พอดีเป๊ะ จะเป็นกลาง ไม่เป็นกรดเป็นด่างเลย แสดงว่า เขาอนุญาตให้น้ำสำหรับดื่มนี้ มีสภาพเป็นด่างได้มากกว่าเป็นกรด (ต่ำกว่าได้แค่ 0.5 แต่เกินได้ถึง 1.5) 

ชาวบ้านเขาไม่มีเครื่องวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง แต่ดื่มเข้าไปก็พอจะรู้ได้บ้าง เพราะถ้าเป็นกรด จะบาดคอนิดๆ ถ้าเป็นด่าง จะไหลลื่น เลยไปถึงเลี่ยนเลยแหละ 

ต่อไปคือ มาตรฐานคุณสมบัติทางเคมี งานนี้ชาวบ้านมองตาปริบๆ ไม่รู้เรื่องด้วย รอให้หน่วยงานของรัฐวัดเอาเอง เพราะมันเยอะแยะไปหมด ตั้ง 18 อย่าง (แคลเซียมคาร์บอเนต สารหนู แบเรียม แคดเมียม คลอไรด์ โครเมียม ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว แมงกานีส ปรอท ไนเตรท ฟีนอล ซีลีเนียม เงิน ซัลเฟต สังกะสี และฟลูออไรต์) ที่ต้องคอยตรวจดูไม่ให้เกินค่าที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีค่าต่ำมากๆ เป็นเลขตัวเดียวหรือเป็นจุดทศนิยม เช่นปรอท ซึ่งอันตราย ต้องไม่เกิน 0.002 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร (mg/L) เป็นต้น ถ้าตัวไหนไม่ค่อยเป็นอันตราย ก็ยอมให้มีมากหน่อยเป็นหลักร้อยได้  ซึ่งมีเพียงแค่ 3 ตัว คือ …

ความกระด้างทั้งหมด คำนวณเป็นแคลเซียมซียมคาร์บอเนต ไม่เกิน 100 mg/L

ซัลเฟต ไม่เกิน 250 mg/L

และ  คลอไรด์ โดยคำนวณเป็นคลอรีน ไม่เกิน 250 mg/L

แต่ถ้าสาร 3 ตัวหลักนี้ สูงชนเพดานกันหมด ปริมาณสารรวมหมดทุกอย่างจะสูงเกิน 600 mg/Lนับว่าสูงไปหน่อย เขาจึงกำกับไว้อีกข้อหนึ่งต่างหากด้วยว่า ปริมาณสารทั้งหมด (TDS: Total Dissolved Solid) จะต้องไม่เกิน 500 mg/L

นอกจากมาตรฐานคุณสมบัติทางฟิสิกส์และทางเคมีแล้ว ยังมีมาตรฐานคุณสมบัติข้อที่สามที่สำคัญมาก คือ คุณสมบัติเกี่ยวกับจุลินทรีย์ คือจะต้องไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และจะต้องไม่มีแบคทีเรียตัวสำคัญที่ชื่อว่า อี.โคไล ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคท้องเสีย แต่ยอมให้มีแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์มได้นิดหน่อย โดยเขามีวิธีนับเรียกว่า MPN (Most Probable Number) ต้องนับได้ไม่เกิน 2.2 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร 

เมื่อตรวจได้ตามเกณฑ์ ก็สามารถติดตรามาตรฐานที่ขวดได้ ซึ่งผมเห็นมีอยู่ตราเดียว คือ อย.

ถ้าขวดน้ำไม่มี อย. ผู้บริโภคต้องเสี่ยงดวงเอาเอง หรือไม่ก็เอามาต้มก่อนดื่ม เพื่อความสบายใจ ว่าฆ่าเชื้อโรคได้หมดแล้ว 

การฆ่าเชื้อด้วยการต้มนั้น เป็นปราการด่านสุดท้ายที่ชาวบ้านทำกันเอง ไม่มีใครเขาต้มน้ำมาบรรจุขวดขายแน่นอน ถ้าเป็นต้นทางคือการประปา จะใช้วิธีเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ถ้าเป็นกลางทาง เช่นบริษัทที่ทำน้ำบรรจุขวดขาย จะใช้แสงยูวีเพื่อฆ่าเชื้อ บางเจ้าแถมด้วยการใช้โอโซนฆ่าเชื้อ เพิ่มเข้ามาด้วย 

น้ำสะอาด ปราศจากเชื้อ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับน้ำดื่ม ถึงแม้จะมีสารอื่นปนอยู่บ้าง ถ้าไม่อันตรายก็ไม่ว่ากัน บางคนถึงชอบดื่มน้ำแร่ไงครับ (แต่ผมว่ามันกร่อยนะ แถมแพงอีกต่างหาก) 

ส่วนน้ำบริสุทธิ์ ปราศจากสาร เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานด้านอุตสาหกรรมมากกว่า โดยเขาไม่จำเป็นต้องมีขบวนการฆ่าเชื้อโรค 

ขบวนการกำจัดสารทางอุตสาหกรรมต่างๆนี่แหละ ที่เขาย่อขนาดลงมา เพื่อใช้ทำน้ำดื่ม หรือแม้แต่ย่อให้จิ๋ว สำหรับติดตั้งตามบ้าน สำหรับคนที่อยากทำน้ำดื่มแบบ DIY 

ยุคแรกของการเลียนแบบ ชนิดย่อส่วน คือการแก้น้ำกระด้างให้เป็นน้ำอ่อน ด้วยการใช้เรซิน ที่เป็นเม็ดจิ๋วๆสีน้ำตาล ใช้ไปนานๆ ประสิทธิภาพการจับความกระด้างลดลง ต้องล้างด้วยน้ำเกลือ พอจำกันได้ไหมครับ

ที่หนีไม่พ้นคือ ตัวกรอง ฟิลเตอร์ (filter) เริ่มแรกเลยนั่น บอกว่ากรองได้ ถึง 1 ไมครอน (micron) หรือเล็กกว่า 1 ในพันของมิลลิเมตร แค่นี้ก็ฮือฮากันแล้ว แต่รูขนาดนี้เชื้อโรคผ่านไปได้สบายมากนะครับ 

ต่อมา มีฟิลเตอร์ขนาด 0.1 ไมครอน เรียกว่า ไมโครฟิลเตอร์ (MF: Micro Filter) บางบริษัทที่ทำน้ำดื่มขายมีโฆษณาข้างขวดอยู่เหมือนกัน ขนาดนี้กรองแบคทีเรียไม่ให้ผ่าน แต่ไวรัสผ่านได้ 

ตัวกรองที่ละเอียดขึ้นไปอีก คือ ขนาด 0.01 ไมครอน ไม่รู้จะเรียกอะไรดี เลยเรียกว่า อุลตรา หรือ อัลตรา ฟิลเตอร์ (UF: Ultra Filter) จะได้กรองไวรัสได้บางส่วน 

ตอนนี้เริ่มได้ยิน นาโนฟิลเตอร์ (NF: Nano Filter) ขนาด 0.001 ไมครอน กะจะกรองไวรัสด้วย ปัญหาที่ทำให้ยังใช้ไม่ค่อยแพร่หลายคือ ตัวกรองมันตันเร็วมาก 

ตัวที่มาแก้ปัญหาการตัน คือการเพิ่มระบบระบายน้ำทิ้ง ซึ่งมาพร้อมกับการทำให้ตัวกรองละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก เป็น 0.0001 ไมครอน แผ่นฟิลเตอร์พิเศษ (permeable membrane) ที่รูผ่านเล็กละเอียดมากนี้ ถ้าเอาไปวางกั้นเฉยๆ ระหว่างน้ำใสกับน้ำขุ่น น้ำที่อยู่ในน้ำใสจะค่อยๆซึมเข้ามาอยู่ที่น้ำขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า ออสโมซิส (osmosis) ถ้าจะให้น้ำจากส่วนน้ำขุ่นไหลซึมกลับทางไปด้านน้ำใส เรียกว่า “Reverse Osmosis” หรือ “RO” จะต้องอัดแรงดันด้านน้ำขุ่นเข้าไปเยอะๆ ระบบนี้จึงเปลืองน้ำหน่อย คือ ใช้ครึ่งทิ้งครึ่ง บางทีทิ้งมากกว่าครึ่งเสียอีก 

ดั้งเดิมของเทคโนโลยีการทำน้ำ RO นี้ มาจากการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด (desalination) แรกๆจึงแพงมาก เดี๋ยวนี้ราคาค่อยๆถูกลงมา บ้านเราจึงเริ่มมีใช้กันแล้วในการทำน้ำบรรจุขวด

เรื่องน้ำดื่มที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เท่าๆกันทุกคนนี้ กลับมีมาตรฐานไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ซึ่งคงเป็นเพราะการให้น้ำหนักความสําคัญต่างกันไปมากกว่า จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องมากำหนดมาตรฐานกลาง ให้แต่ละประเทศเอาไปปรับใช้ ซึ่งก็ได้เป็นแต่เพียงคำแนะนำ แทบทุกประเทศจึงไม่ได้บังคับ เป็นกฎหมาย ยกเว้น สหรัฐอเมริกา  ที่มี Safe Drinking Water Act และ สหภาพยุโรป หรืออียู (EU: European Union) ที่มี European Drinking Water Directive ซึ่งบางอย่างอียู บังคับเข้มกว่าองค์การอนามัยโลกก็มี เช่น การปนเปื้อนของสารจากยาฆ่าแมลง (pesticides) อียูกำหนดให้มีการปนเปื้อนได้น้อยมาก คือต่ำกว่าองค์การอนามัยโลกถึง 20 เท่า เพราะ อียูไม่ได้มองแค่สุขอนามัยของคน แต่มองไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 

กลับมาเมืองไทยในบ้านเรา ตัวเลือกอีกอย่างถ้าไม่ต้องการจะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด คือการกรองจากน้ำประปา ถึงแม้ว่า การประปาจะให้ความมั่นใจผู้บริโภคว่า น้ำประปาดื่มได้ก็ตาม แต่ระบบท่อที่มาไกล กว่าจะมาถึงตามบ้าน ทำให้บางคนก็ชักไม่แน่ใจในคุณภาพน้ำ เกรงจะมีการปนเปื้อนระหว่างทาง 

ที่สำคัญคือเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาถึงคลองประปา จนทำให้น้ำประปาเริ่มกร่อยนั่นแหละ 

พอมีคนสนใจเรื่องความเค็มจนกร่อย การประปาเขาก็มีการวัดค่าคลอไรด์ในน้ำประปาที่แสดงถึงการหนุนของทะเลมาให้ดูตลอดเวลา (real time) เผื่อใครที่สนใจ จะได้ติดตามดูได้ (twqonline.mwa.co.th)โดยเขาจะแสดงค่าความเค็มเป็น กรัม/ลิตร (g/L) ถ้าเห็นว่าบริเวณจุดไหนใกล้บ้านเรา ค่าความเค็มเกิน 0.25 g/L ก็แสดงว่า เกินมาตรฐานแล้ว (มาตรฐานคือ 250 mg/L) ต้องรอสักพัก ให้ระดับน้ำทะเลลด (ระดับน้ำขึ้นลงตามดวงจันทร์) ความเค็มก็จะลดกลับลงมาตามปกติ 

พูดถึงเรื่องน้ำ เคยมีคำถามว่า …

ถ้าน้ำสีขุ่นข้น ดำปี๋ ค่าความเป็นกรดมาก (pH ต่ำ ไม่ถึง 3 ในขณะที่ pH น้ำดื่มต้องเกิน 6.5) ปริมาณสารที่ละลายอยู่ทั้งหมด (TDS) เกิน 680 mg/L (มาตรฐานน้ำดื่ม ต้องน้อยกว่า 500 mg/L) ถามว่า ใครจะกล้าดื่มบ้าง? 

ใครที่เห็นตัวเลข คงชะงัก แต่เด็กๆไม่สนครับ เด็กคงชอบดื่มน้ำนี้กันทุกคน เพราะน้ำนี้คือ …

น้ำอัดลมไงล่ะครับ ๏๛

  … @_@ … 

วัชระ นูมหันต์ 

๒๑ กุมภา ๖๔ 

Ref: http://pcd.go.th/info_serv/reg_std_water01.html 

____________________

All right reserved © 

by vatchara@hotmail.com 

เกิดฝุ่นได้ยังไง

⭕️ ใกล้จะหมดฤดูหนาว ฝุ่นเริ่มจาง แต่มีควันหลงจากฝุ่น หลงเหลือมาถามไถ่กันว่า “เกิดฝุ่นได้ยังไง” 

เป็นที่รู้กันนะครับว่า ฝุ่นในที่นี้ คือฝุ่นจิ๋ว PM2.5 (ฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร หรือขนาดหนึ่งในสี่ร้อยมิลลิเมตร) 

ก่อนอื่น ขอไขข้อข้องใจเกี่ยวเนื่อง ในเรื่องดัชนีคุณภาพอากาศ ที่อยากจะเปรียบเทียบระหว่าง จีน-ไทย-ฝรั่ง (อเมริกา) เข้ากันได้พอดีกับบรรยากาศการชนกันระหว่าง จีน-อเมริกา 

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า รัฐบาลของทุกประเทศ พยายามให้ข้อมูลอากาศแก่ประชาชนของตัวเองแบบง่ายๆ ด้วยการบอกเป็นรหัสสี ของจีนและอเมริกา มี 6 สีเหมือนกัน คือ เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง-ม่วง-น้ำตาล แต่แทนค่าความเข้มข้นของฝุ่นต่างกันหน่อย โดยจีนจะสูงกว่า จีนอ้างว่า ประเทศของเขา กำลังพัฒนาอุตสาหกรรม ส่วนของไทยมีแค่ 5 สี คือ ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง รหัสสีฟ้าที่ไทยเราถือว่า เป็นอากาศที่ดีมากสำหรับทุกเพศทุกวัยนั้น ทั้งจีนและอเมริกาไม่มี และไทยเราถือว่า ตั้งแต่แดงเป็นต้นไป อากาศมันก็ไม่ดีสำหรับทุกคนอยู่แล้ว จะแยกสีไปอีกทำไม (ก็นั่นน่ะสิ) 

อย่างไรก็ตาม รหัสสีร่วมกัน คือ เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง นั้น ไทยเราอยู่ตรงกลางระหว่างจีน กับอเมริกา คือ ถ้าเทียบดัชนีตัวเลข AQI (Air Quality Index) ที่เท่ากัน ปริมาณฝุ่นของจีนจะสูงกว่าไทย และไทยจะสูงกว่าอเมริกา 

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของดัชนีตัวเลขนี้คือ มันจะไม่เป็นเส้นตรง (non-linear) กล่าวคือ AQI 300 ไม่ได้หมายความว่า มีฝุ่นรุนแรงเป็น 2 เท่าของ AQI 150 หรือถ้าเทียบ AQI 100 กับ AQI 50 ก็ไม่ได้มีฝุ่นเป็น 2 เท่า เช่นกัน อีกทั้งถ้าวัดครึ่งปีแรก AQI 50 ครึ่งปีหลัง AQI 100 ก็ไม่ได้หมายความว่า เฉลี่ยทั้งปีเป็น AQI 75 (ยุ่งจัง) 

ผมจะเทียบจุดตัดการแบ่งรหัสสี ของจีน ไทย และอเมริกา ดังนี้ครับ…

จีน (MEP:  Ministry of Environmental Protection) มีรหัสสี 6 สี คือ เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง-ม่วง-น้ำตาล ค่าดัชนีตัวเลข AQI ของจุดตัดแบ่งสี 5 จุด คือ 50-100-150-200-300 ปริมาณฝุ่นจิ๋วที่จุดตัดเท่ากับ 37-75-112-150-250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง (24 hr. moving average คือ จะวัดค่าของชั่วโมงไหน ก็นำค่าที่วัดรายชั่วโมง ทุกค่า ถอยกลับไปให้ครบ 24 ชั่วโมง นำมาเฉลี่ย)

ไทย (กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ) มีรหัสสี 5 สี คือ ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง ค่าดัชนีตัวเลข AQI ของจุดตัดแบ่งสี 4 จุด คือ AQI 25-50-100-200 ปริมาณฝุ่นจิ๋วที่จุดตัดเท่ากับ 25-37-50-90 มคก./ลบ.ม. 

อเมริกา (EPA: Environmental Protection Agency) มีรหัสสี 6 สี เหมือนจีน คือ เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง-ม่วง-น้ำตาล ค่าดัชนีตัวเลข AQI ของจุดตัดแบ่งสี 5 จุด คือ 50-100-150-200-300 เหมือนจีนอีกเช่นเดียวกัน แต่ที่ไม่เหมือนจีนคือ ปริมาณฝุ่นจิ๋ว ที่จุดตัด ซึ่งน้อยกว่าจีน คือ 12-35-55-150-250 มคก./ลบ.ม. (ที่จริงมันมีจุดทศนิยมด้วย แต่ผมขออนุญาตเอาออก เหลือแต่ตัวกลมๆ ดูง่ายดี) 

เรื่องข้อมูลฝุ่นจิ๋วนี้ ผมชอบเข้าไปดูที่ aqicn.org ซึ่งเป็นของจีน เพราะมีข้อมูลตามเวลาจริง (real time) ส่งจากประเทศต่างๆมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก (รวมทั้งสถานีวัดอากาศที่อยู่แถวบ้านผมด้วย) ผ่านช่องทาง สถานฑูตอเมริกาประจำปักกิ่ง แล้วทีมงานก็จะเอาไปเข้ารหัสสีตามมาตรฐานของจีน ซึ่งจะมีสีม่วง และน้ำตาลด้วย ถ้าค่าฝุ่นจิ๋วสูงมาก ซึ่งบ้านเราสูงสุดแค่สีแดง 

ที่ชอบดูเว็บไซต์นี้เพราะว่า มันดูพยากรณ์ล่วงหน้าได้ด้วย จะได้เตรียมหน้ากากได้ถูก สำหรับการตีกอล์ฟครั้งต่อไป (air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ ผมก็เข้าไปดูบ้าง แต่สถานีวัดอยู่ห่างบ้านผมไปหน่อย และยังไม่เห็นการพยากรณ์ล่วงหน้าครับ)

กลับมาเรื่องกำเนิดของฝุ่นกันหน่อย ว่าเป็นฝีมือใครกันนะ 

เพื่อความปลอดภัย เดี๋ยวจะหาว่า ผมโมเม เที่ยวไปต่อว่าใครต่อใครเสียเอง ต้องบอกว่า “เขาว่ามาอย่างนี้” และยกเอาที่ไกลๆตัวหน่อยก็แล้วกัน อย่างเช่นหน่วยงานของรัฐที่อังกฤษ ได้สรุปมาว่า การเกิดฝุ่นจิ๋วที่เป็นเรื่องของธรรมชาติก็มีบ้างเหมือนกัน เช่น ทะเลแตกฟอง หรือ sea-spray (ผมเคยเล่าให้ฟังนานแล้ว) 

นอกจากทะเลแล้ว แสงแดดก็เป็นจำเลยได้เหมือนกัน 

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้ คุณกัลยาณี ได้เขียนข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หัวข้อเรื่อง “ไต่ KU TOWER วิเคราะห์ฝุ่น PM2.5 จากปฏิกิริยาเคมีในชั้นบรรยากาศ” (https://bit.ly/3p52Tir) ที่ได้กล่าวถึงกูรูนักวิจัยฝุ่นเมืองไทยท่านหนึ่ง คือ “ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ” คณบดีภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้วิจัยฝุ่นมานานกว่า 15 ปีแล้ว ได้กล่าวว่า “ฝุ่นทุติยภูมิที่มนุษย์ไม่ได้ก่อ เป็นผลจากแสงแดดอันเจิดจ้า ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดฝุ่นละเอียดในชั้นบรรยากาศที่ซ้ำเติมมลภาวะทางอากาศ” 

แต่ Department for Environment Food & Rural Affairs ของอังกฤษสรุปว่า ฝุ่นส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์เรานี่แหละ ตามชนบทก็มี โดยเผาโน่นเผานี่กัน ส่วนในเมืองก็ไม่เบา ที่มาจากโรงงาน รองลงไปคือ ไอเสียรถยนต์ และเนื่องจาก อากาศเป็นที่เปิด บางทีตัวเองไม่ได้ทำ แต่ประเทศเพื่อนบ้านทำ ลมหอบมาแถมให้ก็โดนเหมือนกัน เขาเลยสรุปแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของแหล่งที่มาของฝุ่นจิ๋วได้คร่าวๆเรียงจากมากไปหาน้อย ดังนี้ … 

ในประเทศนอกเมือง 45% 

โรงงานในเมือง 21% 

ประเทศเพื่อนบ้าน 20%

รถยนต์ในเมือง 14% 

สรุปว่า ธรรมชาติไม่ได้ทำให้เกิดฝุ่นจิ๋วสักเท่าไหร่ แทบจะเป็นการเผาไหม้อันเกิดจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเองมากกว่า ธรรมชาติเองเสียอีกที่ช่วยแก้ปัญหา ด้วยการเอาลมมาหอบทิ้งไปให้ตามฤดูกาล 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ วันหนึ่ง ที่บ้านทอดปลาทู อือม! หอมทั้งบ้านเลย แต่พอหันไปดูเครื่องวัดฝุ่นจิ๋ว มันกระพริบแดงโร่ เลขขึ้นเกือบสามร้อย (เจ้าเครื่องนี้มันกระพริบเมื่อค่าเกิน 115 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 

อีกวันหนึ่ง ไปซื้อข้าวเกรียบงาเจ้าอร่อยจากตลาด ถึงบ้านมันเหนียวไปหน่อย อยากจะให้กรอบอีกนิด จึงใช้เตาไมโครเวฟ ลองมาอบดู เผลอแผลบเดียว ควันโขมง ตัวเลขหน้าเครื่องฟอกอากาศซึ่งปกติแค่สิบกว่า โดดขึ้นไปถึงหกร้อยกว่า เปิดประตูหน้าต่างบ้านแทบไม่ทันเลย 

จึงพอจะสรุปได้ว่า เกิดฝุ่นในอากาศได้เพราะ … มนุษย์พบวิธีจุดไฟได้นี่เองแหละครับ ๏๛

  … @_@ … 

วัชระ นูมหันต์ 

๑๔ กุมภา ๖๔ 

Ref: https://laqm.defra.gov.uk/public-health/pm25.html 

____________________

All right reserved © 

by vatchara@hotmail.com 

ดัชนีคุณภาพอากาศ

⭕️ เมืองไทยเป็นเมืองร้อน พอเริ่มเข้าหน้าหนาวจึงเป็นที่ถูกอกถูกใจหลายๆคน แต่นั่นแหละนะ มีดีก็มีเสีย เพราะ ในหน้านี้สิ่งไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งในอากาศจะมีมากขึ้นในบางวัน สิ่งนั้นก็คือ ฝุ่นจิ๋ว (PM 2.5) ชึ่ง ในรอบปี จะมีค่าสูงอยู่แค่สองเดือน คือ มกราคม และกุมภาพันธ์ พอถึงเดือนมีนาคม ลมจะเปลี่ยนทิศ พัดกลับขึ้นมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ หอบเอาอากาศดีๆจากทะเลขึ้นฝั่ง ถึงจะร้อนหน่อย แต่ไม่มีฝุ่น คงจะดีกว่า

อากาศร้อนที่ไม่มีฝุ่น ถือว่า คุณภาพอากาศ ดี นะครับ เพราะ อุณหภูมิ ไม่ถือเป็นมลภาวะ 

ส่วนฝุ่นในอากาศ เป็นมลภาวะแน่นอน ไม่เชื่อลองไปถามคนเป็นโรคหอบหืดดูสิ 

แล้วนอกจากฝุ่น มีอะไรที่เป็นมลภาวะอีกบ้างไหม ?

มีสิครับ หลายอย่างด้วย 

ความที่ต้องวัดหลายอย่าง แถมมีหน่วยประหลาดๆอีกต่างหาก ภาครัฐกลัวชาวบ้านจะงง เลยทำเป็นดัชนี คือตัวเลขลอยๆ ไม่มีหน่วย ให้ชาวบ้านดูง่ายๆ ว่าเลขน้อยอากาศดี เลขมากอากาศแย่ เรียกว่า “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (AQI : Air Quality Index) 

แต่ทว่า เนื่องจากแต่ละประเทศมีปัญหาแตกต่างกันไป จึงให้ความสําคัญของจำนวนมลพิษในอากาศน้อยบ้างมากบ้าง ไม่เท่ากัน 

เช่น ฮ่องกง วัดแค่ 4 อย่าง คือ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น (รวมกันทั้ง PM10 และ PM2.5) แต่เรียกแปลกออกไป คือเดิมเรียก ดัชนีมลพิษในอากาศ (Air Pollution Index) แล้วเปลี่ยนมาเป็น ดัชนีคุณภาพอากาศด้านสุขภาพ (AQHI : Air Quality Health Index) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2013 

อังกฤษ วัด AQI 5 อย่าง คือแยกวัดฝุ่น เป็น ฝุ่นละออง (PM10) ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) 

สหรัฐอเมริกา เพิ่มการวัดคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาอีกอย่าง แต่ไม่ได้แยกเรื่องฝุ่น AQI จึงยังคงเป็นการวัด 5 อย่าง

แต่จีนแผ่นดินใหญ่ วัดเหมือนอเมริกา แต่แยกวัดฝุ่น เป็น ฝุ่นละออง (PM10) ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) จึงเป็นการวัด 6 อย่าง 

ยุโรป (EAQI : European Air Quality Index) วัด 6 อย่างเหมือนจีน  แต่แยกเป็นตัวหลักภาคบังคับ 3 อย่าง คือ ฝุ่นละออง (PM10) ไนโตรเจนไดออกไซด์ และโอโซน ที่เหลืออีก 3 อย่างเป็น option ไม่บังคับ คือ ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) คาร์บอนมอนอกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 

ออสเตรเลีย วัดเพิ่มจากจีนอีกอย่าง คือสารตะกั่วในอากาศ รวมเป็น 7 อย่าง

อินเดีย มีการวัดมลพิษในอากาศมากที่สุดถึง 8 อย่าง เพิ่มจากออสเตรเลียอีกอย่างคือ แอมโมเนีย 

ของไทยเรา เช่นเดียวกับเม็กซิโก ที่ให้ความสําคัญในเรื่องมลพิษในอากาศอยู่ 6 อย่าง เหมือนจีน คือ … ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) ฝุ่นละออง (PM10) โอโซน คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 

แต่ที่จริง ในบ้านเรา ตัวที่นำโด่งเป็นพระเอก (ผู้ร้ายตัวเอก) มีเพียงตัวเดียว คือ ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) ซึ่งผมเคยพูดถึงไปบ้าง เมื่อสองปีที่แล้ว ตอนที่ฝุ่นจิ๋วกำลังฮิตก่อนโควิดมา ที่รณรงค์ให้สวมหน้ากากกันฝุ่น ซึ่งหายใจยากนิดหนึ่ง เช่น N95 พอฝุ่นหายแล้ว โควิดมา ก็ลดดีกรีของหน้ากากลงมา เป็นหน้ากากยุคโควิด เช่นหน้ากากผ้า เพื่อกันแค่ละอองเสมหะแทน 

ปัจจุบัน กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ของบ้านเรา ได้ติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศ และเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบสภาพอากาศในขณะนั้นเลย (real time) โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพมหานคร จะได้ทำตัวได้ถูกว่า จะไปลัลล้าทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างสบาย หรือจะเก็บตัวอยู่แต่ในอาคารดี ถ้าจะต้องออกไปก็สวมหน้ากากกันฝุ่นเสียหน่อย 

ปกติ เราจะไม่ตัดสินกันแบบแบ่งสองข้างสองขั้วอย่างเด็ดขาดไปว่า “ดี-ไม่ดี” เพราะอารมณ์คนเราเองก็ยังมี “ชอบ-เฉยๆ-ไม่ชอบ” 

เรื่องคุณภาพอากาศก็เลยต้องมีสามส่วนคือ “ดี-โอเค-แย่” 

และเพื่อความสะดวก สื่อสารกันง่าย จึงกำหนดเป็น รหัสสี ซึ่งน่าจะเป็น “เขียว-เหลือง-แดง” แค่สามสี 

ปัญหาคือ คนเราไม่เหมือนกัน จุดตัดที่บอกว่า ต่ำกว่าเท่าไหร่จึงถือว่าดี และสูงกว่าเท่าไหร่จึงถือว่าแย่ สำหรับกลุ่มหนุ่มสาว คนที่แข็งแรง จุดตัดย่อมสูงกว่า กลุ่ม ส.ว. รวมทั้งเด็กและผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 

จุดตัดว่า เท่าไหร่ดี จึงมีสองจุด เท่าไหร่แย่ ก็มีสองจุด 

รหัสสีของกรมควบคุมมลพิษบ้านเราจึงเพิ่มเป็น 5 สี คือ “ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง” 

สำหรับคนทั่วไป “เหลือง-ส้ม” คือ “โอเค” ส่วน ส.ว. “เขียว-เหลือง” ถือว่า “ใช้ได้” 

สำหรับคนที่ไม่พอใจแค่โค้ดสี อยากจะรู้ลึกลงไปอีกว่า สีมันเปลี่ยนที่ดัชนีเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่ชวน “งงพอสมควร เพราะแต่ละประเทศก็มีระบบของตัวเอง อย่างเช่น ฮ่องกง และอังกฤษ มีดัชนีแค่สิบ คือ 10 อากาศแย่ ต้องต่ำกว่า 5 ถึงจะค่อยยังชั่ว แต่ประเทศอื่นๆ ดัชนีมีเป็นร้อย แต่กระนั้นก็ยังคิดไม่เหมือนกันอีก เช่นยุโรป ดัชนี 100 ถือว่าแย่เต็มที่แล้ว ที่ดีควรจะอยู่กลางๆ คือสัก 50 ในขณะที่ประเทศอื่นๆถือว่า 100 นี่แหละจุดตัดที่ดี เป็นตัวแบ่งง่ายๆว่า ต่ำกว่านี้มีเลข 2 หลัก ถือว่าใช้ได้ อากาศแย่ต้องเลข 3 หลัก … ไทยเราก็อยู่ในกลุ่มนี้ครับ 

ไทยเราใช้หลัก “น้อยกว่าครึ่งเดียว” หรือ “มากกว่าเท่าตัว” 

นั่นก็คือ โค้ดสีทั้ง 5 “ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง” มีจุดตัดดังนี้ครับ …

AQI ต่ำกว่า 100 เข้าเขตเหลือง อากาศใช้ได้ ทุกคนโอเค ทั้งคนหนุ่มคนแก่

ครึ่งของ 100 คือ AQI ต่ำกว่า 50 สุดเขตเหลือง เข้าเขตเขียว คนหนุ่มบอกว่า อากาศดี 

ครึ่งของ 50 คือ AQI ต่ำกว่า 25 สุดเขตเขียว เข้าเขตฟ้า อากาศดี สำหรับทุกคน 

กลับกัน ถ้า AQI เกิน 100 เข้าเขตสีส้ม ไม่ดีสำหรับ ส.ว.

มากกว่า 100 เท่าตัว คือ AQI เกิน 200 เข้าเขตสีแดง ไม่ดีสำหรับทุกคน 

ตัวเลขดัชนีที่ไม่มีหน่วยนี้ ไม่ใช่ค่าของสารที่วัดออกมาได้นะครับ เป็นเพียงตัวเลขที่แต่ละประเทศต่างคนต่างตั้งขึ้นมา อย่างเช่นบ้านเรา ค่า AQI 100 นี้ …

ถ้าเป็น ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ก็คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง 

ถ้าเป็น ฝุ่นละออง PM10 คือ 120 มคก./ลบ.ม. เฉลี่ย 24 ชั่วโมง 

ถ้าเป็นโอโซน คือ 70 ppb (part per billion ต่อพันล้านส่วน) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง 

ถ้าเป็น คาร์บอนมอนอกไซด์ คือ 9 ppm (part per million ต่อล้านส่วน) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง 

ถ้าเป็น ไนโตรเจนไดออกไซด์ คือ 170 ppb เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 

ถ้าเป็น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คือ 300 ppb เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 

หลักการง่ายๆคือ ม้าทั้ง 6 ตัวนี้ ตัวไหนชนะ ได้เข้าวิน ตัวนั้นก็จะได้เป็น AQI และในอดีตที่ผ่านมา ในเมืองไทยบ้านเรา ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ชนะสูงสุดได้เข้าวิน เป็น AQI มาตลอด 

แต่ที่ทำให้ชวน งง หนักขึ้นไปอีก คือ มีการจัดอันดับประเทศด้วยนะ ว่าประเทศไหนมีอากาศแย่ที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง และแย่รองลงมาเป็นอันดับสอง สาม สี่ … ไปเรื่อยๆ คนอ่านก็ไปลุ้นว่า วันนี้ประเทศตัวเองอยู่อันดับที่เท่าไหร่ 

ก็มันคนละมาตรฐานนี่นา จะเทียบกันได้ยังไง 

ดังนั้น อย่าไปซีเรียสเรื่องตัวเลข เพราะแต่ละประเทศมีมาตรฐานกันคนละตัว ดูแค่สีก็พอแล้ว 

ไม่ต้องดูอื่นไกล จนป่านนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่า ตัวเลขที่ขึ้นๆลงๆอยู่หน้าเครื่องฟอกอากาศมันเป็นค่าอะไร แต่ก็เอาเถอะ เห็นตัวเลขมันต่ำกว่าเมื่อวานนี้ ถือว่า อากาศดี ใช้ได้ก็แล้วกันนะ 

ตีกอล์ฟช่วงนี้ ได้บรรยากาศเย็นดี เสียอย่างเดียว บางวันฝุ่นเยอะ ต้องเปลี่ยนหน้ากากโควิด เป็นหน้ากากกันฝุ่นแทน แฮ่กเลย…

ก็มันหายใจยากกว่ากันนี่ครับ ๏๛

 . . . @_@ . . . 

วัชระ นูมหันต์ 

๗ กุมภา ๖๔ 

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Air_quality_index 

_______________________________________________

All right reserved © by vatchara@hotmail.com 

Design a site like this with WordPress.com
Get started