คุณภาพน้ำดื่ม

⭕️ คุยกันเรื่อง คุณภาพอากาศ อยู่ไม่ทันไร พออากาศทำท่าว่าจะกลับมาดี กลับมีข่าวเรื่องน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำประปา กร่อย แทรกเข้ามาอีก คุณภาพน้ำดื่มบ้านเราจะเป็นยังไงกันล่ะนี่ 

บ้านเรา มักจะมีเรื่องโน้นเรื่องนี้ ผลัดกันเข้ามาป่วนจิตอยู่เรื่อยเลย โบราณเขาเปรียบเปรยว่า “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” 

เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยได้เห็นวัวเห็นควาย ที่มีคุณูปการต่อมนุษย์เป็นอย่างสูง ช่วยเราทำไร่ไถนา อาจจะนึกค้านว่า “อากาศ ไม่ใช่เรื่องวัว และน้ำ ก็ไม่ใช่เรื่องควายสักหน่อย” เป็นการเปรียบเทียบครับ – เปรียบเทียบ 

หากคิดอย่างนี้ พรรคพวกที่เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในการประปาจะโกรธเอาน่ะนา 

ในบางพื้นที่ การประปาจะประกาศว่า น้ำประปาดื่มได้ แต่เพื่อความสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจะต้องเดินทางออกจากบ้านไปไหนมาไหน หลายคนจึงยอมเสียเงินซื้อน้ำบรรจุขวดมาดื่ม ส่วนหนึ่งคือแรงโฆษณา ว่าดียังงั้น ดียังงี้ 

พรรคพวกจึงถามไถ่มาว่า … “เห็นโฆษณาน้ำยี่ห้อต่างๆ ว่าดี ยังไงถึงว่าดีครับ ใครเป็นคนบอก เขาคุมคุณภาพกันอย่างไรครับ” 

ลองไปค้นหาข้อมูลดู ถึงได้รู้ว่า กรมควบคุมมลพิษเจ้าเก่านั่นเองครับ ที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานน้ำดื่ม แต่ว่า “ยังไงถึงว่าดี” ไม่ได้บอกไว้ครับ มีแต่ “ยังไงถึงว่าไม่ดี” เพราะว่ามีแต่ตัวเลข “ห้ามเกิน” เต็มไปหมด ก็คือสารเคมีทั้งหลายนั่นแหละ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านหมดปัญญา เพราะต้องอาศัยห้องแลปขนาดใหญ่มานั่งวัดกัน 

ถ้าตามไปดูประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) เรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ก็คือน้ำดื่มบรรจุขวดนั่นแหละ เรียกเป็นทางการเสียยาวเชียว) กำหนดมาตรฐานคุณสมบัติทางฟิสิกส์ว่า นอกจากจะสีใส ไม่ขุ่นแล้วยังต้องไม่มีกลิ่น (แต่ไม่รวมถึงกลิ่นคลอรีน) และที่สำคัญ ค่าความเป็นกรด-ด่าง ต้องอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 8.5 

คงรู้กันอยู่แล้วนะครับ ว่า ถ้าค่านี้เท่ากับ 7 พอดีเป๊ะ จะเป็นกลาง ไม่เป็นกรดเป็นด่างเลย แสดงว่า เขาอนุญาตให้น้ำสำหรับดื่มนี้ มีสภาพเป็นด่างได้มากกว่าเป็นกรด (ต่ำกว่าได้แค่ 0.5 แต่เกินได้ถึง 1.5) 

ชาวบ้านเขาไม่มีเครื่องวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง แต่ดื่มเข้าไปก็พอจะรู้ได้บ้าง เพราะถ้าเป็นกรด จะบาดคอนิดๆ ถ้าเป็นด่าง จะไหลลื่น เลยไปถึงเลี่ยนเลยแหละ 

ต่อไปคือ มาตรฐานคุณสมบัติทางเคมี งานนี้ชาวบ้านมองตาปริบๆ ไม่รู้เรื่องด้วย รอให้หน่วยงานของรัฐวัดเอาเอง เพราะมันเยอะแยะไปหมด ตั้ง 18 อย่าง (แคลเซียมคาร์บอเนต สารหนู แบเรียม แคดเมียม คลอไรด์ โครเมียม ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว แมงกานีส ปรอท ไนเตรท ฟีนอล ซีลีเนียม เงิน ซัลเฟต สังกะสี และฟลูออไรต์) ที่ต้องคอยตรวจดูไม่ให้เกินค่าที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีค่าต่ำมากๆ เป็นเลขตัวเดียวหรือเป็นจุดทศนิยม เช่นปรอท ซึ่งอันตราย ต้องไม่เกิน 0.002 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร (mg/L) เป็นต้น ถ้าตัวไหนไม่ค่อยเป็นอันตราย ก็ยอมให้มีมากหน่อยเป็นหลักร้อยได้  ซึ่งมีเพียงแค่ 3 ตัว คือ …

ความกระด้างทั้งหมด คำนวณเป็นแคลเซียมซียมคาร์บอเนต ไม่เกิน 100 mg/L

ซัลเฟต ไม่เกิน 250 mg/L

และ  คลอไรด์ โดยคำนวณเป็นคลอรีน ไม่เกิน 250 mg/L

แต่ถ้าสาร 3 ตัวหลักนี้ สูงชนเพดานกันหมด ปริมาณสารรวมหมดทุกอย่างจะสูงเกิน 600 mg/Lนับว่าสูงไปหน่อย เขาจึงกำกับไว้อีกข้อหนึ่งต่างหากด้วยว่า ปริมาณสารทั้งหมด (TDS: Total Dissolved Solid) จะต้องไม่เกิน 500 mg/L

นอกจากมาตรฐานคุณสมบัติทางฟิสิกส์และทางเคมีแล้ว ยังมีมาตรฐานคุณสมบัติข้อที่สามที่สำคัญมาก คือ คุณสมบัติเกี่ยวกับจุลินทรีย์ คือจะต้องไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และจะต้องไม่มีแบคทีเรียตัวสำคัญที่ชื่อว่า อี.โคไล ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคท้องเสีย แต่ยอมให้มีแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์มได้นิดหน่อย โดยเขามีวิธีนับเรียกว่า MPN (Most Probable Number) ต้องนับได้ไม่เกิน 2.2 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร 

เมื่อตรวจได้ตามเกณฑ์ ก็สามารถติดตรามาตรฐานที่ขวดได้ ซึ่งผมเห็นมีอยู่ตราเดียว คือ อย.

ถ้าขวดน้ำไม่มี อย. ผู้บริโภคต้องเสี่ยงดวงเอาเอง หรือไม่ก็เอามาต้มก่อนดื่ม เพื่อความสบายใจ ว่าฆ่าเชื้อโรคได้หมดแล้ว 

การฆ่าเชื้อด้วยการต้มนั้น เป็นปราการด่านสุดท้ายที่ชาวบ้านทำกันเอง ไม่มีใครเขาต้มน้ำมาบรรจุขวดขายแน่นอน ถ้าเป็นต้นทางคือการประปา จะใช้วิธีเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ถ้าเป็นกลางทาง เช่นบริษัทที่ทำน้ำบรรจุขวดขาย จะใช้แสงยูวีเพื่อฆ่าเชื้อ บางเจ้าแถมด้วยการใช้โอโซนฆ่าเชื้อ เพิ่มเข้ามาด้วย 

น้ำสะอาด ปราศจากเชื้อ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับน้ำดื่ม ถึงแม้จะมีสารอื่นปนอยู่บ้าง ถ้าไม่อันตรายก็ไม่ว่ากัน บางคนถึงชอบดื่มน้ำแร่ไงครับ (แต่ผมว่ามันกร่อยนะ แถมแพงอีกต่างหาก) 

ส่วนน้ำบริสุทธิ์ ปราศจากสาร เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานด้านอุตสาหกรรมมากกว่า โดยเขาไม่จำเป็นต้องมีขบวนการฆ่าเชื้อโรค 

ขบวนการกำจัดสารทางอุตสาหกรรมต่างๆนี่แหละ ที่เขาย่อขนาดลงมา เพื่อใช้ทำน้ำดื่ม หรือแม้แต่ย่อให้จิ๋ว สำหรับติดตั้งตามบ้าน สำหรับคนที่อยากทำน้ำดื่มแบบ DIY 

ยุคแรกของการเลียนแบบ ชนิดย่อส่วน คือการแก้น้ำกระด้างให้เป็นน้ำอ่อน ด้วยการใช้เรซิน ที่เป็นเม็ดจิ๋วๆสีน้ำตาล ใช้ไปนานๆ ประสิทธิภาพการจับความกระด้างลดลง ต้องล้างด้วยน้ำเกลือ พอจำกันได้ไหมครับ

ที่หนีไม่พ้นคือ ตัวกรอง ฟิลเตอร์ (filter) เริ่มแรกเลยนั่น บอกว่ากรองได้ ถึง 1 ไมครอน (micron) หรือเล็กกว่า 1 ในพันของมิลลิเมตร แค่นี้ก็ฮือฮากันแล้ว แต่รูขนาดนี้เชื้อโรคผ่านไปได้สบายมากนะครับ 

ต่อมา มีฟิลเตอร์ขนาด 0.1 ไมครอน เรียกว่า ไมโครฟิลเตอร์ (MF: Micro Filter) บางบริษัทที่ทำน้ำดื่มขายมีโฆษณาข้างขวดอยู่เหมือนกัน ขนาดนี้กรองแบคทีเรียไม่ให้ผ่าน แต่ไวรัสผ่านได้ 

ตัวกรองที่ละเอียดขึ้นไปอีก คือ ขนาด 0.01 ไมครอน ไม่รู้จะเรียกอะไรดี เลยเรียกว่า อุลตรา หรือ อัลตรา ฟิลเตอร์ (UF: Ultra Filter) จะได้กรองไวรัสได้บางส่วน 

ตอนนี้เริ่มได้ยิน นาโนฟิลเตอร์ (NF: Nano Filter) ขนาด 0.001 ไมครอน กะจะกรองไวรัสด้วย ปัญหาที่ทำให้ยังใช้ไม่ค่อยแพร่หลายคือ ตัวกรองมันตันเร็วมาก 

ตัวที่มาแก้ปัญหาการตัน คือการเพิ่มระบบระบายน้ำทิ้ง ซึ่งมาพร้อมกับการทำให้ตัวกรองละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก เป็น 0.0001 ไมครอน แผ่นฟิลเตอร์พิเศษ (permeable membrane) ที่รูผ่านเล็กละเอียดมากนี้ ถ้าเอาไปวางกั้นเฉยๆ ระหว่างน้ำใสกับน้ำขุ่น น้ำที่อยู่ในน้ำใสจะค่อยๆซึมเข้ามาอยู่ที่น้ำขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า ออสโมซิส (osmosis) ถ้าจะให้น้ำจากส่วนน้ำขุ่นไหลซึมกลับทางไปด้านน้ำใส เรียกว่า “Reverse Osmosis” หรือ “RO” จะต้องอัดแรงดันด้านน้ำขุ่นเข้าไปเยอะๆ ระบบนี้จึงเปลืองน้ำหน่อย คือ ใช้ครึ่งทิ้งครึ่ง บางทีทิ้งมากกว่าครึ่งเสียอีก 

ดั้งเดิมของเทคโนโลยีการทำน้ำ RO นี้ มาจากการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด (desalination) แรกๆจึงแพงมาก เดี๋ยวนี้ราคาค่อยๆถูกลงมา บ้านเราจึงเริ่มมีใช้กันแล้วในการทำน้ำบรรจุขวด

เรื่องน้ำดื่มที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เท่าๆกันทุกคนนี้ กลับมีมาตรฐานไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ซึ่งคงเป็นเพราะการให้น้ำหนักความสําคัญต่างกันไปมากกว่า จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องมากำหนดมาตรฐานกลาง ให้แต่ละประเทศเอาไปปรับใช้ ซึ่งก็ได้เป็นแต่เพียงคำแนะนำ แทบทุกประเทศจึงไม่ได้บังคับ เป็นกฎหมาย ยกเว้น สหรัฐอเมริกา  ที่มี Safe Drinking Water Act และ สหภาพยุโรป หรืออียู (EU: European Union) ที่มี European Drinking Water Directive ซึ่งบางอย่างอียู บังคับเข้มกว่าองค์การอนามัยโลกก็มี เช่น การปนเปื้อนของสารจากยาฆ่าแมลง (pesticides) อียูกำหนดให้มีการปนเปื้อนได้น้อยมาก คือต่ำกว่าองค์การอนามัยโลกถึง 20 เท่า เพราะ อียูไม่ได้มองแค่สุขอนามัยของคน แต่มองไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 

กลับมาเมืองไทยในบ้านเรา ตัวเลือกอีกอย่างถ้าไม่ต้องการจะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด คือการกรองจากน้ำประปา ถึงแม้ว่า การประปาจะให้ความมั่นใจผู้บริโภคว่า น้ำประปาดื่มได้ก็ตาม แต่ระบบท่อที่มาไกล กว่าจะมาถึงตามบ้าน ทำให้บางคนก็ชักไม่แน่ใจในคุณภาพน้ำ เกรงจะมีการปนเปื้อนระหว่างทาง 

ที่สำคัญคือเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาถึงคลองประปา จนทำให้น้ำประปาเริ่มกร่อยนั่นแหละ 

พอมีคนสนใจเรื่องความเค็มจนกร่อย การประปาเขาก็มีการวัดค่าคลอไรด์ในน้ำประปาที่แสดงถึงการหนุนของทะเลมาให้ดูตลอดเวลา (real time) เผื่อใครที่สนใจ จะได้ติดตามดูได้ (twqonline.mwa.co.th)โดยเขาจะแสดงค่าความเค็มเป็น กรัม/ลิตร (g/L) ถ้าเห็นว่าบริเวณจุดไหนใกล้บ้านเรา ค่าความเค็มเกิน 0.25 g/L ก็แสดงว่า เกินมาตรฐานแล้ว (มาตรฐานคือ 250 mg/L) ต้องรอสักพัก ให้ระดับน้ำทะเลลด (ระดับน้ำขึ้นลงตามดวงจันทร์) ความเค็มก็จะลดกลับลงมาตามปกติ 

พูดถึงเรื่องน้ำ เคยมีคำถามว่า …

ถ้าน้ำสีขุ่นข้น ดำปี๋ ค่าความเป็นกรดมาก (pH ต่ำ ไม่ถึง 3 ในขณะที่ pH น้ำดื่มต้องเกิน 6.5) ปริมาณสารที่ละลายอยู่ทั้งหมด (TDS) เกิน 680 mg/L (มาตรฐานน้ำดื่ม ต้องน้อยกว่า 500 mg/L) ถามว่า ใครจะกล้าดื่มบ้าง? 

ใครที่เห็นตัวเลข คงชะงัก แต่เด็กๆไม่สนครับ เด็กคงชอบดื่มน้ำนี้กันทุกคน เพราะน้ำนี้คือ …

น้ำอัดลมไงล่ะครับ ๏๛

  … @_@ … 

วัชระ นูมหันต์ 

๒๑ กุมภา ๖๔ 

Ref: http://pcd.go.th/info_serv/reg_std_water01.html 

____________________

All right reserved © 

by vatchara@hotmail.com 

Design a site like this with WordPress.com
Get started