ดัชนีคุณภาพอากาศ

⭕️ เมืองไทยเป็นเมืองร้อน พอเริ่มเข้าหน้าหนาวจึงเป็นที่ถูกอกถูกใจหลายๆคน แต่นั่นแหละนะ มีดีก็มีเสีย เพราะ ในหน้านี้สิ่งไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งในอากาศจะมีมากขึ้นในบางวัน สิ่งนั้นก็คือ ฝุ่นจิ๋ว (PM 2.5) ชึ่ง ในรอบปี จะมีค่าสูงอยู่แค่สองเดือน คือ มกราคม และกุมภาพันธ์ พอถึงเดือนมีนาคม ลมจะเปลี่ยนทิศ พัดกลับขึ้นมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ หอบเอาอากาศดีๆจากทะเลขึ้นฝั่ง ถึงจะร้อนหน่อย แต่ไม่มีฝุ่น คงจะดีกว่า

อากาศร้อนที่ไม่มีฝุ่น ถือว่า คุณภาพอากาศ ดี นะครับ เพราะ อุณหภูมิ ไม่ถือเป็นมลภาวะ 

ส่วนฝุ่นในอากาศ เป็นมลภาวะแน่นอน ไม่เชื่อลองไปถามคนเป็นโรคหอบหืดดูสิ 

แล้วนอกจากฝุ่น มีอะไรที่เป็นมลภาวะอีกบ้างไหม ?

มีสิครับ หลายอย่างด้วย 

ความที่ต้องวัดหลายอย่าง แถมมีหน่วยประหลาดๆอีกต่างหาก ภาครัฐกลัวชาวบ้านจะงง เลยทำเป็นดัชนี คือตัวเลขลอยๆ ไม่มีหน่วย ให้ชาวบ้านดูง่ายๆ ว่าเลขน้อยอากาศดี เลขมากอากาศแย่ เรียกว่า “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (AQI : Air Quality Index) 

แต่ทว่า เนื่องจากแต่ละประเทศมีปัญหาแตกต่างกันไป จึงให้ความสําคัญของจำนวนมลพิษในอากาศน้อยบ้างมากบ้าง ไม่เท่ากัน 

เช่น ฮ่องกง วัดแค่ 4 อย่าง คือ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น (รวมกันทั้ง PM10 และ PM2.5) แต่เรียกแปลกออกไป คือเดิมเรียก ดัชนีมลพิษในอากาศ (Air Pollution Index) แล้วเปลี่ยนมาเป็น ดัชนีคุณภาพอากาศด้านสุขภาพ (AQHI : Air Quality Health Index) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2013 

อังกฤษ วัด AQI 5 อย่าง คือแยกวัดฝุ่น เป็น ฝุ่นละออง (PM10) ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) 

สหรัฐอเมริกา เพิ่มการวัดคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาอีกอย่าง แต่ไม่ได้แยกเรื่องฝุ่น AQI จึงยังคงเป็นการวัด 5 อย่าง

แต่จีนแผ่นดินใหญ่ วัดเหมือนอเมริกา แต่แยกวัดฝุ่น เป็น ฝุ่นละออง (PM10) ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) จึงเป็นการวัด 6 อย่าง 

ยุโรป (EAQI : European Air Quality Index) วัด 6 อย่างเหมือนจีน  แต่แยกเป็นตัวหลักภาคบังคับ 3 อย่าง คือ ฝุ่นละออง (PM10) ไนโตรเจนไดออกไซด์ และโอโซน ที่เหลืออีก 3 อย่างเป็น option ไม่บังคับ คือ ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) คาร์บอนมอนอกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 

ออสเตรเลีย วัดเพิ่มจากจีนอีกอย่าง คือสารตะกั่วในอากาศ รวมเป็น 7 อย่าง

อินเดีย มีการวัดมลพิษในอากาศมากที่สุดถึง 8 อย่าง เพิ่มจากออสเตรเลียอีกอย่างคือ แอมโมเนีย 

ของไทยเรา เช่นเดียวกับเม็กซิโก ที่ให้ความสําคัญในเรื่องมลพิษในอากาศอยู่ 6 อย่าง เหมือนจีน คือ … ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) ฝุ่นละออง (PM10) โอโซน คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 

แต่ที่จริง ในบ้านเรา ตัวที่นำโด่งเป็นพระเอก (ผู้ร้ายตัวเอก) มีเพียงตัวเดียว คือ ฝุ่นจิ๋ว (PM2.5) ซึ่งผมเคยพูดถึงไปบ้าง เมื่อสองปีที่แล้ว ตอนที่ฝุ่นจิ๋วกำลังฮิตก่อนโควิดมา ที่รณรงค์ให้สวมหน้ากากกันฝุ่น ซึ่งหายใจยากนิดหนึ่ง เช่น N95 พอฝุ่นหายแล้ว โควิดมา ก็ลดดีกรีของหน้ากากลงมา เป็นหน้ากากยุคโควิด เช่นหน้ากากผ้า เพื่อกันแค่ละอองเสมหะแทน 

ปัจจุบัน กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ของบ้านเรา ได้ติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศ และเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบสภาพอากาศในขณะนั้นเลย (real time) โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพมหานคร จะได้ทำตัวได้ถูกว่า จะไปลัลล้าทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างสบาย หรือจะเก็บตัวอยู่แต่ในอาคารดี ถ้าจะต้องออกไปก็สวมหน้ากากกันฝุ่นเสียหน่อย 

ปกติ เราจะไม่ตัดสินกันแบบแบ่งสองข้างสองขั้วอย่างเด็ดขาดไปว่า “ดี-ไม่ดี” เพราะอารมณ์คนเราเองก็ยังมี “ชอบ-เฉยๆ-ไม่ชอบ” 

เรื่องคุณภาพอากาศก็เลยต้องมีสามส่วนคือ “ดี-โอเค-แย่” 

และเพื่อความสะดวก สื่อสารกันง่าย จึงกำหนดเป็น รหัสสี ซึ่งน่าจะเป็น “เขียว-เหลือง-แดง” แค่สามสี 

ปัญหาคือ คนเราไม่เหมือนกัน จุดตัดที่บอกว่า ต่ำกว่าเท่าไหร่จึงถือว่าดี และสูงกว่าเท่าไหร่จึงถือว่าแย่ สำหรับกลุ่มหนุ่มสาว คนที่แข็งแรง จุดตัดย่อมสูงกว่า กลุ่ม ส.ว. รวมทั้งเด็กและผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 

จุดตัดว่า เท่าไหร่ดี จึงมีสองจุด เท่าไหร่แย่ ก็มีสองจุด 

รหัสสีของกรมควบคุมมลพิษบ้านเราจึงเพิ่มเป็น 5 สี คือ “ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง” 

สำหรับคนทั่วไป “เหลือง-ส้ม” คือ “โอเค” ส่วน ส.ว. “เขียว-เหลือง” ถือว่า “ใช้ได้” 

สำหรับคนที่ไม่พอใจแค่โค้ดสี อยากจะรู้ลึกลงไปอีกว่า สีมันเปลี่ยนที่ดัชนีเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่ชวน “งงพอสมควร เพราะแต่ละประเทศก็มีระบบของตัวเอง อย่างเช่น ฮ่องกง และอังกฤษ มีดัชนีแค่สิบ คือ 10 อากาศแย่ ต้องต่ำกว่า 5 ถึงจะค่อยยังชั่ว แต่ประเทศอื่นๆ ดัชนีมีเป็นร้อย แต่กระนั้นก็ยังคิดไม่เหมือนกันอีก เช่นยุโรป ดัชนี 100 ถือว่าแย่เต็มที่แล้ว ที่ดีควรจะอยู่กลางๆ คือสัก 50 ในขณะที่ประเทศอื่นๆถือว่า 100 นี่แหละจุดตัดที่ดี เป็นตัวแบ่งง่ายๆว่า ต่ำกว่านี้มีเลข 2 หลัก ถือว่าใช้ได้ อากาศแย่ต้องเลข 3 หลัก … ไทยเราก็อยู่ในกลุ่มนี้ครับ 

ไทยเราใช้หลัก “น้อยกว่าครึ่งเดียว” หรือ “มากกว่าเท่าตัว” 

นั่นก็คือ โค้ดสีทั้ง 5 “ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง” มีจุดตัดดังนี้ครับ …

AQI ต่ำกว่า 100 เข้าเขตเหลือง อากาศใช้ได้ ทุกคนโอเค ทั้งคนหนุ่มคนแก่

ครึ่งของ 100 คือ AQI ต่ำกว่า 50 สุดเขตเหลือง เข้าเขตเขียว คนหนุ่มบอกว่า อากาศดี 

ครึ่งของ 50 คือ AQI ต่ำกว่า 25 สุดเขตเขียว เข้าเขตฟ้า อากาศดี สำหรับทุกคน 

กลับกัน ถ้า AQI เกิน 100 เข้าเขตสีส้ม ไม่ดีสำหรับ ส.ว.

มากกว่า 100 เท่าตัว คือ AQI เกิน 200 เข้าเขตสีแดง ไม่ดีสำหรับทุกคน 

ตัวเลขดัชนีที่ไม่มีหน่วยนี้ ไม่ใช่ค่าของสารที่วัดออกมาได้นะครับ เป็นเพียงตัวเลขที่แต่ละประเทศต่างคนต่างตั้งขึ้นมา อย่างเช่นบ้านเรา ค่า AQI 100 นี้ …

ถ้าเป็น ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ก็คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง 

ถ้าเป็น ฝุ่นละออง PM10 คือ 120 มคก./ลบ.ม. เฉลี่ย 24 ชั่วโมง 

ถ้าเป็นโอโซน คือ 70 ppb (part per billion ต่อพันล้านส่วน) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง 

ถ้าเป็น คาร์บอนมอนอกไซด์ คือ 9 ppm (part per million ต่อล้านส่วน) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง 

ถ้าเป็น ไนโตรเจนไดออกไซด์ คือ 170 ppb เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 

ถ้าเป็น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คือ 300 ppb เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 

หลักการง่ายๆคือ ม้าทั้ง 6 ตัวนี้ ตัวไหนชนะ ได้เข้าวิน ตัวนั้นก็จะได้เป็น AQI และในอดีตที่ผ่านมา ในเมืองไทยบ้านเรา ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ชนะสูงสุดได้เข้าวิน เป็น AQI มาตลอด 

แต่ที่ทำให้ชวน งง หนักขึ้นไปอีก คือ มีการจัดอันดับประเทศด้วยนะ ว่าประเทศไหนมีอากาศแย่ที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง และแย่รองลงมาเป็นอันดับสอง สาม สี่ … ไปเรื่อยๆ คนอ่านก็ไปลุ้นว่า วันนี้ประเทศตัวเองอยู่อันดับที่เท่าไหร่ 

ก็มันคนละมาตรฐานนี่นา จะเทียบกันได้ยังไง 

ดังนั้น อย่าไปซีเรียสเรื่องตัวเลข เพราะแต่ละประเทศมีมาตรฐานกันคนละตัว ดูแค่สีก็พอแล้ว 

ไม่ต้องดูอื่นไกล จนป่านนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่า ตัวเลขที่ขึ้นๆลงๆอยู่หน้าเครื่องฟอกอากาศมันเป็นค่าอะไร แต่ก็เอาเถอะ เห็นตัวเลขมันต่ำกว่าเมื่อวานนี้ ถือว่า อากาศดี ใช้ได้ก็แล้วกันนะ 

ตีกอล์ฟช่วงนี้ ได้บรรยากาศเย็นดี เสียอย่างเดียว บางวันฝุ่นเยอะ ต้องเปลี่ยนหน้ากากโควิด เป็นหน้ากากกันฝุ่นแทน แฮ่กเลย…

ก็มันหายใจยากกว่ากันนี่ครับ ๏๛

 . . . @_@ . . . 

วัชระ นูมหันต์ 

๗ กุมภา ๖๔ 

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Air_quality_index 

_______________________________________________

All right reserved © by vatchara@hotmail.com 

Design a site like this with WordPress.com
Get started