สวมหน้ากากรักษาศีล

      ก่อนอื่น ผมขอใช้คำว่า มาสก์ (mask) ทับศัพท์ แทนคำว่าหน้ากาก ที่บางครั้งก็เขียนยาวเต็มยศว่า หน้ากากอนามัย นะครับ เพราะมันสั้นดี 

      เมื่อวันก่อน ผมได้เห็นคลิปน่ารัก เป็นเด็กอ้วนตุ้ยนุ้ย สวมมาสก์ เคี้ยวของกินตุ้ยๆ กลืนเสร็จก็เปิดมาสก์ กัดคำต่อไป แล้วปิดมาสก์ เคี้ยวต่อ คลิปนี้ มีข้อความบรรยายว่า … “กลัวก็กลัว – หิวก็หิว” 

      ข้อความบรรยายนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองอย่างหนึ่ง ที่อาจจะตรงใจกับคนในสังคมอีกหลายคน คือ สวมมาสก์เพราะกลัว … กลัวตนเองจะติดไวรัสโควิด 

      จึงดูเหมือนว่า แรงขับที่ทำให้สวมมาสก์ คือ “เพื่อตนเอง” อันเป็นธรรมชาติของคนเราที่นึกถึงตัวเองก่อนอยู่แล้ว 

      แต่วัตถุประสงค์หลักของการสวมมาสก์ในที่สาธารณะนั้น เป็นการทำ “เพื่อผู้อื่น” ก่อน ส่วนตนเองนั้นเป็นผลพลอยได้ครับ 

      นั่นจึงเป็นเหตุผลของการรณรงค์ให้ใช้มาสก์ หรือแม้แต่ต้องบังคับกันในบางที่ 

      สังเกตไหมครับว่า แรกๆ มีบางคนบอกว่า … “มาสก์นั้น สำหรับคนที่ไม่สบาย คนที่สบายดีไม่ต้องใช้ เดี๋ยวจะต้องไปแย่งทรัพยากรที่หายากเช่นมาสก์นี้ จากบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเขาจำเป็นต้องใช้มากกว่า”

      คนที่คิดเช่นนี้คงจะดูข่าวฝรั่งมากไปหน่อย ที่เขาไม่ชอบเมื่อเห็นคนเอเชียสวมมาสก์ เพราะฝรั่งไม่ชอบเอาอะไรมาปิดปากปิดจมูก เหมือนกับที่เขาส่งรูปล้อกันว่า ฮีโร่ฝรั่งสวมมาสก์ปิดแต่ตา เปิดปากเปิดจมูก 

      อีกประการหนึ่ง มาสก์ที่เขารณรงค์ให้ใช้นี้ ไม่ใช่ให้ไปแย่งใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดที่บุคลากรทางการแพทย์เขาใช้กัน เช่นพวก N95 เพราะนั่นมันเป็นยุค PM 2.5 ถล่มกรุง มาสก์ธรรมดาจึงใช้ป้องกันฝุ่นจิ๋วอย่างนั้นไม่ได้ 

      ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว N95 กับมาสก์ มันป้องกันคนละอย่าง คนละทิศทาง ตรงกันข้ามเลยทีเดียว 

      N95 กันฝุ่นละอองขนาดเล็ก เชื้อโรค ได้เกินกว่า 95% ตามชื่อนั่นแหละครับ ไม่ให้เข้าไปในร่างกายของเรา จึงเป็นอุปกรณ์ที่ถูกคุมเข้มด้านมาตรฐานโดยหน่วยงานที่ควบคุมทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของอเมริกา (National Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH) มันจึงปิดแนบสนิทหน้า การหายใจเข้าจะลำบากหน่อย เพราะต้องผ่านที่กรองแบบละเอียด แต่หายใจออกง่ายมาก ปล่อยพรวดเลย เนื่องจากลิ้นด้านข้างจะเปิดออก พวกเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้ เพราะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการติดเชื้อ 

      ส่วนมาสก์ทั่วไป ที่รณรงค์ให้ใช้ในตอนนี้นั้น เราใช้กันอยู่ในบริเวณปกติธรรมดา (กรณีที่ไปโรงพยาบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ถ้าเราถือว่าสิ่งแวดล้อมไม่มีเชื้อ แล้วเชื้อจะมาจากไหน – ก็มาจากคนเราที่เดินไปเดินมานี่แหละครับ โดยไม่รู้ว่าใครติดเชื้อกันบ้าง ดังนั้น ถ้าจะให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ ปิดปากปิดจมูก ขังเชื้อมันไว้แค่ตรงมาสก์ ไม่ให้มันออกมาข้างนอก เพราะเจ้าไวรัสวายร้าย ถึงแม้มันจะตัวเล็ก แต่มันจะออกมาเพ่นพ่านข้างนอกร่างกายคนเราได้ทางเดียว คือออกมากับละอองฝอย (liquid droplets หรือ respiratory droplets) เท่านั้น มาสก์จึงกันได้

      เมื่อไม่นานมานี้เอง เราเพิ่งจะได้ตระหนักว่า เราจะปิดปากปิดจมูกแค่คนมีอาการป่วยเท่านั้น ไม่ได้เสียแล้ว เพราะเจ้าโควิดนี้สามารถแพร่ได้จากคนที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือที่เรียกว่า พาหะ (carriers) ได้ด้วย 

      วิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องคิดเสียว่า ทุกคนที่เดินถนนนั้น ติดเชื้อกันหมด ทุกคนจึงต้องช่วยกันขังมันไว้ ให้มันติดอยู่แค่มาสก์ 

      รุ่นพี่ของผมคนหนึ่งบอกว่า …  “ถ้าคุณทำตัวเหมือนติดไวรัสคุณจะไม่ติดไวรัส”

      ทราบกันไหมครับว่า มาสก์นี้ มีวิวัฒนาการมาจาก หน้ากากหมอผ่าตัด (surgery mask) โดยเริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี 1960 งานนี้เขาไม่ได้กลัวว่าเชื้อจากคนไข้จะมาติดหมอ แต่กลัวเชื้อจากในคอหมอหรือพยาบาลไปติดคนไข้ครับ 

      ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกตัวเองว่าแข็งแรงดี ไม่เป็นอะไร ขอให้คิดเสมือนว่าเราอาจจะติดเชื้อแล้ว เพราะเจ้าโควิดนี่มาแปลกกว่าไวรัสรุ่นเก่าๆ เพราะสามารถแพร่ได้แม้ไม่แสดงอาการ จึงควรปิดปากปิดจมูกเรา ขังมันไว้ 

      การบล็อคทางออก ง่ายกว่าการพยายามปิดทางเข้านะครับ 

      เทียบกับการเล่นฟุตบอล ถ้าระวังไม่ให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสยิง ย่อมดีกว่าปล่อยให้นายประตูคอยแต่ปัดป้องอย่างเดียว – เพราะมันมีโอกาสพลาดได้ไงครับ 

      เปรียบได้เหมือนกับของที่เปรอะเปื้อนได้ บรรจุอยู่ในขวด จะง่ายกว่าไหม ถ้าเราปิดฝาขวดซะ แทนที่จะเปิดฝา ให้เสี่ยงต่อการหกกระจาย ลองคิดดูจะเห็นว่า การป้องกันโดยปิดฝาไม่ให้หก ง่ายกว่าเยอะ ถ้าเทียบกับการตามล้างตามเช็ดเมื่อหกแล้ว

      ดังนั้น ต่อไปนี้เราคงจะต้องถึงยุคที่คนเราต้องใส่หน้ากากเข้าหากันให้มากขึ้นแล้วละ … เป็นการทำเพื่อสังคม ที่ฟังดูแล้วเป็นนามธรรมยังไงไม่รู้ ง่ายๆก็คือ “ทำเพื่อคนอื่น” นั่นเอง 

      การทำเพื่อคนอื่นนั้น สังคมโดยรวมจะเป็นสุข และน่าอยู่ 

      ผมเคยเห็นภาพการ์ตูนสอนใจ นานมาแล้ว เป็นรูปความแตกต่างระหว่าง นรก กับ สวรรค์ องค์ประกอบของภาพทั้งสองนั้น เหมือนกัน คือ คนกลุ่มหนึ่งล้อมวง ถือช้อนยักษ์ ด้ามยาว เพื่อตักกินชามซุปยักษ์ที่อยู่ตรงกลาง (สงสัยจะเป็นการ์ตูนฝรั่ง เพราะกินซุป) 

      ความแตกต่างระหว่าง นรก กับ สวรรค์ มีอยู่นิดเดียวคือ กลุ่มคนในนรกพยายามจะตักให้ตัวเอง แต่ช้อนก็ยาวเกินไป กินไม่ได้ ส่วนคนในสวรรค์ ตักแล้วป้อนให้คนอื่น แน่นอนว่า ตัวเองก็ได้กิน เพราะคนอื่นป้อนให้ 

      ใช่แล้วครับ สังคมเป็นสุขจากการช่วยเหลือกัน อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องไม่เบียดเบียนกัน 

      การไม่สวมมาสก์ไปในที่สาธารณะ อาจจะเป็นการเบียดเบียนกันโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะ – ถ้าเราเป็นพาหะ 

      ข้อห้าม ที่จะทำให้สังคมเป็นปกติสุข ไม่เบียดเบียนกัน ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดี คือ “ศีลห้า” 

      ไม่เพียงแต่ชาวพุทธ แขกอินเดียก็รู้จัก 

      แขกไม่ได้เอาศีลห้า มาจากศาสนาพุทธ สมัยที่เคยรุ่งเรืองในอินเดีย แต่กลับกัน คือ ศาสนาพุทธนำมาจากแขก อันเป็นหลักธรรมประจำสังคมมีมานานก่อนสมัยพุทธกาล ดังปรากฏใน จักกวัตติสูตร ที่กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิตรัสสอนประชาชน

      และไม่ใช่เพียงพุทธศาสนาเท่านั้น ทั้งศาสนาฮินดู และศาสนาเชน ก็มีเหมือนกัน 

      งั้นเปรียบเทียบศาสนาทั้งสามนี้ให้ดูนิดหนึ่ง 

      ศาสนาเชน ซึ่งคล้ายศาสนาพุทธมาก เกิดก่อนศาสนาพุทธ 29 ปี ถือว่าเป็นสมัยเดียวกัน ศาสดาก็มีประวัติคล้ายกัน ส่วนศาสนาฮินดู ไม่มีศาสดา มาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเกิดก่อนนานกว่ามาก 

      ทั้งสามศาสนา มีต้นทางที่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด และต้องการหลุดพ้นเพื่อจะได้ไม่เกิดอีก เหมือนกัน 

      สิ่งที่ต่างกันคือ กลางทาง หรือวิธีที่จะทำให้หลุดพ้นนั้น ถึงแม้จะใช้วิธีทำสมาธิเหมือนกัน แต่ความเข้มข้น ต่างกัน กล่าวคือ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งต่อมาเรียกเป็นศาสนาฮินดู จะเบาหน่อย แค่เป็นสุขในฌานได้แบบชิวๆ ศาสนาเชนจะหนักหน่อย ทรมานตนแบบสุดโต่งไปเลย เช่น ไม่พูดตลอด ยืนตลอด หรือชูมือตลอด และที่หนักหน่อย คือบางนิกาย (ทิฆัมพร) สละทรัพย์สินหมดทุกอย่าง ไม่มีแม้แต่เสื้อผ้าคลุมกาย ส่วนศาสนาพุทธถือทางสายกลาง 

      และสุดท้ายปลายทาง ก็มีความเชื่อต่างกัน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเชื่อในพระเจ้า เรียกการหลุดพ้นว่า “โมกษะ” (moksha) เป็นการกลับไปสู่พรหม แต่ศาสนาเชน ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่เชื่อว่า วิญญาณหรืออาตมันเป็นอมตะ (อัตตา) เมื่อบรรลุญาณที่เรียกว่า “เกวลญาณ (Kevala jñāna)” หรือ “ไกวัลย์” แล้ว อาตมันจะไปอยู่ที่ “สิทธศิลา” ไม่กลับมาเกิดอีก ส่วนศาสนาพุทธ เรียกการหลุดพ้นว่า “นิพพาน” อันเป็นการดับสูญ (อนัตตา) 

      กลับมาเรื่องศีลที่เหมือนกัน คือศีลห้า 

      อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ข้อห้ามเหล่านี้มีไว้เพื่อให้ “สังคม” อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เน้นคำว่าสังคม ก็คือคนอื่นนั่นเอง ดังนั้น เมื่อสังเกตให้ดีๆ ข้อห้ามนั้น จะเกี่ยวข้องกับคนอื่นทั้งนั้น “ยกเว้นข้อสุดท้าย” ซึ่งเป็นเรื่องของตัวเอง 

      ในอินเดียโบราณ การละเมิดข้อห้ามทางสังคมนั้น จะถูกลงโทษ เช่นแห่ประจาน ข้อห้ามดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้กับนักบวชในแต่ละศาสนา รวมทั้งศาสนาพุทธด้วย คือ “ปราชิก 4” ซึ่งทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุทันที คือ ฆ่าคน ลักทรัพย์ มีเพศสัมพันธ์ และอวดอุตริมนุษยธรรม (เช่นพูดว่าบรรลุแล้วโดยที่ยังไม่บรรลุ) 

      ส่วนฆราวาส หรือคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนทั่วไป จะลดดีกรีลงมาหน่อย กลายเป็นข้อห้ามที่เราคุ้นเคย คือ ไม่ฆ่าสัตว์-ไม่ลักทรัพย์-ไม่ผิดลูกเมีย และไม่โกหก 

      ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้อื่น” หรือเป็นเรื่องสังคมทั้งนั้น ในยุคโควิดระบาด ถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ยิ่งถ้าอยู่คนเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวเจอะเจอใครเลย สามารถรักษาศีลนี้ได้ครบทั้งสี่ข้อได้ สบายมาก 

      แล้วศีลข้อ 5 ล่ะ 

      ศีลข้อสุดท้ายนี้ เป็นศีลข้อพิเศษ ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครเลย เรื่องของตัวเองล้วนๆ ตอนเด็กๆ ผมอยู่ต่างจังหวัด จำได้ว่า ถ้ามีงานบุญ ญาติโยมรับศีลอยู่ตรงกลาง แต่ไกลออกไปหน่อยก็จะมีการตั้งวงเฮฮาสังสรรค์ ซึ่งกลุ่มนี้จะรับศีลจากหลวงพี่แค่สี่ข้อ พอถึงข้อสุดท้ายก็เงียบซะ – ฮ่า! 

      ความที่ข้อสุดท้ายนี้ เป็นเรื่องของตนเอง ทั้งสามศาสนาจึงให้ความสําคัญในประเด็นที่ต่างกัน 

      ไม่แปลกที่แต่ละศาสนาจะเลือกข้อเตือนใจเพียงหนึ่งเดียวไม่เหมือนกัน เพราะสิ่งไม่ดีที่พึงละเว้นนั้นมีมากมาย

      สิ่งไม่ดีทางใจดังกล่าวคือ กิเลส ซึ่งบางครั้งจะได้ยินคำเรียกที่เบาลงหน่อยว่า “จุดดำ” สามารถรวมลงได้เป็น 3 อย่าง คือ โลภะ-โทสะ-โมหะ หรือ โลภ-โกรธ-หลง 

      เป็นความบังเอิญที่ ทั้งสามศาสนาเลือกโฟกัสคนละอย่าง เลยจำง่าย 

      ศีลข้อสุดท้ายของพราหมณ์ใน มนูสมฤติ ของฤาษีมนู คือ “งดเว้นจากความโกรธ” 

     ศาสนาเชน ให้ “งดเว้นจากความโลภ” (aparigraha : อปริครหะ – ความไม่ยึดติด) ที่เคร่งจัด จนไม่มีเสื้อผ้าก็เพราะข้อนี้แหละ 

      ส่วนศาสนาพุทธ เน้นตรง “งดเว้นจากความหลง” ก็คือหลงผิด หรือประมาทนั่นเอง 

      ความไม่ประมาท สำคัญมาก จน พระพุทธองค์ ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายเป็นปัจฉิมโอวาทว่า…

“… ทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

      ส่วนศีลสำหรับคฤหัสถ์นั้น จะต้องห้ามการกระทำ เพื่อนำไปสู่ความประมาท อันเป็นศีลข้อสุดท้าย คือ 

“สุราเมรยมัชปมาทัฏฐานา เวรมณี : เว้นจากการบริโภคสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท”

      ในเมื่อคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีเชื้อสายศรีธนนชัย บอกว่า ถ้าดื่มเหล้าอย่างไม่ประมาท แค่แก้วสองแก้ว พอท้วมๆ ก็ย่อมได้สิ ว่าแล้วก็ชนแก้วผ่านจอกันทาง LINE อย่างครึกครื้น 

      ถ้าอย่างนั้น ในยุคโควิดระบาดนี่ผมขอให้มีศีลข้อสุดท้ายเป็นอย่างนี้ได้ไหมครับ …

“อ มาสกา ณ สาธารณา เวรมณี : เว้นจากการไม่สวมมาสก์ ในที่สาธารณะ !”

      ท่านมหาเปรียญทั้งหลาย อย่าได้งง เพราะศีลโควิดนี่ ผมมโนเอา ให้มันดูคล้ายๆบาลีเท่านั้นเอง – ฮ่า! 

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

26 เมษา 63 

Ref: https://th.m.wikipedia.org/wiki/เบญจศีล 

_________________________________

All right reserved © by Vatchara 

แสงแดดและโควิด

      ช่วงนี้ มีแต่คนอยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับโควิด ดังนั้น เรื่องวันนี้จึงหนีไม่พ้นอีกนั่นแหละ 

      บางคนอาจจะสงสัยว่ามันเกี่ยวโควิดยังไง – เดี๋ยวครับ รอสักครู่ 

      หวัด – ไข้หวัดใหญ่ – โควิด เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเหมือนกัน เกิดจากไวรัสเช่นกัน แต่เราไม่ค่อยกลัวหวัด เพราะแค่ทำให้เกิดความรำคาญ ส่วนไข้หวัดใหญ่ก็น่ากลัวเหมือนกัน เนื่องจากอาจถึงตายได้ เพียงแต่มีเปอร์เซ็นต์ไม่มาก และที่สำคัญ มีวัคซีนป้องกัน ส่วนโควิดนี่ คนวิตกกันมาก จนจะเป็นโรคประสาทก่อนติดโควิดเสียอีก เพราะ ยังไม่มีวัคซีน 

      ใช่แล้วครับ ตอนนี้เรายังไม่มีวัคซีนที่มนุษย์สร้าง พวกบริษัทยาเลยแข่งทำกันใหญ่ (ใครเสร็จก่อนรวยก่อน) ฟังว่ายังไม่เสร็จกระบวนการทดสอบกับคน บางเจ้าบอกว่า อาจจะต้องรออีก 18 เดือน ตอนนี้เลยมีแต่วัคซีนธรรมชาติในตัวคน สำหรับพวกโชคดีที่หาย หลังจากโชคร้ายที่ติด

      ระหว่างรอวัคซีน จึงต้องรักษาระยะห่าง เพราะไม่มีใครอยากติด ถึงแม้จะรู้ว่าโรคนี้มีโอกาสหายมากก็เถอะ  แต่โอกาสไม่รอดมันก็มีอยู่นี่นา เรื่องอะไรจะต้องไปเสี่ยง 

      ทั้งวัคซีนที่ธรรมชาติสร้าง และวัคซีนที่มนุษย์สร้าง มันมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างคือ ต้องอาศัย ภูมิคุ้มกัน ในตัวคนเรา 

      สมัยนี้พวกเรารู้จัก ภูมิคุ้มกัน กันดี ยิ่งยุคที่โรคเอดส์ดัง คนยิ่งรู้จักมากขึ้น เพราะชื่อยาวๆเต็มๆของเขาก็คือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นโรคเกิดจากไวรัสเหมือนกัน เพียงแต่ว่า เจ้าไวรัสตัวนี้นั้น มันแพร่ทางเลือด ไม่ใช่ทางการหายใจ 

      โรคติดต่อทางการหายใจในอดีตที่โด่งดังอีกอย่าง คือ วัณโรค ซึ่งสมัยก่อนนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว 

      มีความบังเอิญในการรักษาวัณโรคในสมัยก่อนซึ่งได้ผล ทั้งๆที่เป็นความเข้าใจผิด คือ ให้การรักษาด้วยการพาไปตากแดด โดยเข้าใจผิดว่า แสงแดดฆ่าเชื้อโรคได้ 

      ทั้งนี้เพราะ รังสียูวีในแสงแดดที่ฆ่าเชื้อโรคได้นั้น เป็นยูวีพลังงานสูง เรียกว่า ยูวีซี แต่มันมาไม่ถึงผิวโลกครับ เพราะถูกโอโซนในขั้นบรรยากาศดูดไปหมด (อาจจะมีบ้างแถวๆออสเตรเลีย เพราะมีรูโหว่โอโซนอยู่ที่นั่น) 

      แม้แต่รังสียูวีขนาดกลางๆ คือ ยูวีบี ยังถูกดูดไปเกือบหมด คือมากถึง 99% เหลือลงมาที่ผิวโลกแค่เปอร์เซ็นต์เดียว แต่แค่นี้ก็มากเพียงพอ เป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์เรา และสัตว์ร่วมโลกชนิดอื่นๆด้วย   นั่นคือ การสร้างวิตามินดี 

      เรื่องวิตามินดีกับแสงแดดน่ะ เกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น รู้กันมานานเพราะทั้งเรียนทั้งท่องกันมาตั้งแต่เล็กๆ ว่า ต้องไปตากแดด ร่างกายจะได้มีวิตามินดี ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง 

      แล้วกระดูกมาจากแดดได้อย่างไร … เปล่าครับ กระดูกไม่ได้มาจากแสงแดด แสงมีแต่พลังงาน ไม่มีแคลเซียมที่จะมาเติมให้กลายเป็นกระดูก 

      แคลเซียมมาจากอาหารที่เรากินเข้าไปนี่แหละครับ แต่ถ้ามนุษย์เราอยู่แต่ในถ้ำ ไม่ถูกแดดเลย แคลเซียมในอาหารที่กินเข้าไปมันก็ไม่ถูกดูดซึมเอาไปใช้งานในการสร้างกระดูก สารที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม (และฟอสฟอรัสด้วย) คือ วิตามินดี ซึ่งได้มาจากแสงแดด 

      อ้าว! ไหนว่าแสงแดดไม่มีสารอะไร 

      ใช่ครับ แสงแดดมีแต่พลังงาน เอางี้ พูดให้ยาวหน่อยละกัน วิตามินดี ได้มาจากการที่ผิวหนังถูกรังสียูวีบีส่อง โมเลกุลใต้ผิวหนัง ผลิตสารตั้งต้น วิ่งไปที่ตับ ผลิตวิตามินดีออกมาจ่ายเข้ากระแสเลือด ค่าเหมาะสมเมื่อตรวจเลือด คือ ควรจะสูงกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (ng/mL) 

      อีกวิธีหนึ่งซึ่งต้องเสียเงินแทนที่จะฟรีเหมือนแสงแดด คือกินวิตามินดีเป็นอาหารเสริม ถ้าค่าวิตามินดีในเลือดต่ำไป 

      ดังนั้น แสงแดด จึงดีต่อกระดูก โดยผ่านวิตามินดี 

      และอย่างที่ผมพูดค้างไว้เรื่องการนำคนไข้วัณโรคไปรับแดด หวังจะให้แสงแดดฆ่าเชื้อ ซึ่งที่จริงฆ่าไม่ได้อย่างที่กล่าวไปแล้ว แต่กลายเป็นว่า อาการเขากลับดีข้ึนเป็นลำดับ จึงเป็นการค้นพบโดยบังเอิญว่า แสงแดด ช่วยเพิ่มวิตามินดี และ วิตามินดี ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน โรคจึงค่อยๆทุเลา จนหายไปได้ คือ สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายรักษาตัวเอง นั่นเอง 

      ระบบภูมิคุ้มกัน มีสองอย่าง อย่างแรก เป็นแบบธรรมดา ตามธรรมชาติ (innate immune system) สัตว์ทั่วไปก็มี กับแบบพิเศษ ซึ่งจำผู้รุกรานได้ (adaptive immune system บางทีก็เรียกว่า acquired immune system) ทำให้สามารถสร้างวัคซีนได้ ซึ่งจะมีเฉพาะสัตว์ชั้นสูงขึ้นมาหน่อย เรียกว่า สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีกราม เช่น ปลาฉลาม เสือ และมนุษย์ เป็นต้น 

      เซลล์พิเศษในระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์เรา ประกอบด้วย เซลล์นักฆ่า (killer cell) เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือ บีเซลล์ (white blood cell : B cell) และที่พิเศษมาก เพิ่งรู้จักกันเมื่อไม่นานมานี้เอง คือ ทีเซลล์ (T cell) 

      ผมขอเปรียบเทียบระบบภูมิคุ้มกันนี้เหมือนกับกองทหารก็แล้วกันนะครับ

      ที่เรียกว่า T cell สำหรับหน่วยรบพิเศษชุดนี้ ตัว T ไม่ได้ย่อมาจาก Tiger (หรือพยัคฆ์ ไม่งั้นเดี๋ยวจะมีคนจำว่ามีคำว่า บูรพา นำหน้า) แต่เป็นเพราะจบมาจากโรงเรียนนายร้อยไทมัส (Thymus)

      อีกประการหนึ่ง การกำเนิดของสารตั้งต้น ของ T cell ก่อนที่จะไปสำเร็จหลักสูตรที่ไทมัส ก็เกิดขึ้นจากไขกระดูกทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ B cell เหมือนกัน 

      สรุปว่า สารในระบบภูมิคุ้มกัน มีกำเนิดมาจากไขกระดูก วิตามินดีก็ช่วยบำรุงกระดูก จึงมีการค้นพบโดยบังเอิญว่า วิตามินดีช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน หรือพูดอีกอย่างได้ว่า แสงแดด ช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันนั่นเอง 

      ปกติ T cell ก็จะอยู่ในกรมกองตามปกติ จะออกมาลาดตะเวนแต่เพียงส่วนน้อย ซึ่งจะมีปะปนกันทั้งพวกจบใหม่ (naive T cell) และพวก ทหารผ่านศึก (memory T cell) 

      พวกทหารผ่านศึกเหล่านี้แหละครับ ที่เป็นที่ต้องการในการสร้างวัคซีนขึ้นมา เพราะจะจำศัตรูได้ โดยตอนแรกเมื่อเราปล่อยวัคซีน หรือศัตรูที่ป้อแป้เข้าไป T cell จะเอาชนะได้โดยง่าย กลายเป็น memory T cell หรือทหารผ่านศึก ถ้าในอนาคตข้าศึกตัวจริงมาจะจำได้

      การจำของพวกทหารผ่านศึกนี้ จะอาศัย antigen หรือโมเลกุลส่วนที่ยื่นออกมาที่ผิวเซลล์ เป็นเครื่องหมาย ผมจะเรียกว่า ผ้าพันคอ ก็แล้วกัน เพราะเคยเห็นกองกำลังมักจะผูกผ้าพันคอ ที่เหมือนกัน จะได้ดูออกว่าเป็นพวกเดียวกัน 

      พวกทหารผ่านศึก memory T cell พอเห็นผ้าพันคอหรือ antigen ที่เป็นพวกเดียวกันก็ปล่อยผ่าน แต่ถ้าจำได้ว่าเป็นข้าศึก เพราะเคยถล่มกันมา ก็ตลุมบอนทันที 

      การสู้กับไวรัส ไม่ว่าจะเป็นแค่กองโจรเล็กๆ เช่นหวัดธรรมดา หรือสงครามโรคเช่นโควิด จึงต้องอาศัยกองกำลังที่แข็งแกร่งของภูมิคุ้มกันอย่างเดียว 

      คงมีคนสงสัยบ้างละว่า ในสมรภูมิรบโดยอาศัยภูมิคุ้มกันแต่เพียงอย่างเดียวนี้ ทำไมผู้ที่ค่อนข้างเสียเปรียบจึงเป็นบรรดาพวก ส.ว. ทั้งหลายเสียเป็นส่วนมาก พวกอายุน้อยๆ ไม่เป็นอะไร สบายมาก

      ที่เป็นดังนี้ก็เพราะ โรงเรียนนายร้อยไทมัสนี่แหละครับ เพราะตอนตั้งใหม่ๆก็ประคบประหงมดูแลดีทีเดียว แต่พอนานไป งบประมาณกลับถูกตัดลงไปเรื่อยๆ 

      ใช่แล้วครับ ไทมัสซึ่งอยู่ที่กลางหน้าอกส่วนบน จะโตตามวัยของเด็กขึ้นมาเรื่อยๆ และจะโตเต็มที่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จากนั้นก็จะกลับหดเล็กลงเรื่อยๆ ทุกปีที่ผ่านไป หรือภูมิคุ้มกันน้อยลงเรื่อยๆนั่นเอง 

      ดังนั้น อย่าลืมว่า เรื่องภูมิคุ้มกัน วิตามินดีช่วยได้ ต้องคอยเติมเข้าไว้ และมิตรแท้ตลอดกาล คือแสงแดด  (ถ้าไม่อยากเสียเงินซื้อวิตามินดีมากิน) 

      ฝรั่งผิวขาว ชอบอาบแดด อยากผิวเข้ม เจอแดดวิ่งเข้าใส่ ส่วนคนไทยกลัวร้อน กลัวดำ คอยหลบแดดอยู่เรื่อย ผลออกมา ฝรั่งเป็นมะเร็งผิวหนัง 1 ต่อ 40 คน ฝรั่งถึงได้กลัว จนมีการผลิตครีมกันแดดออกมาขายกัน ส่วนคนไทยเป็นมะเร็งผิวหนังเพียง 1 ต่อ 30,000 คน น้อยมากๆ หมอสันต์ถึงได้บอกว่า เป็นคนไทยอย่ากลัวแดด 

      แดดกับสิ่งที่มีชีวิต (รวมทั้งมนุษย์ด้วย) เป็นของคู่กัน เพราะ สิ่งที่มีชีวิตต้องการพลังงานจากแสงแดด ในปริมาณที่เหมาะสม ถ้าเรากลัวแดด ไม่กล้าออกไปเจอแดดเลย เพราะกลัวอันตรายจากมะเร็งผิวหนัง หมอฝรั่งจาก Boston University Medical Center ได้พูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยให้ฟังดังนี้ว่า…

      “ใครที่บอกว่า ไม่ควรถูกแดดเลยเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง จะเหมือนกับการแนะนำว่า เนื่องจากการหายใจเอาออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% อาจจะทำลายปอด และเสียชีวิต เราจึงไม่ควรหายใจจากอากาศรอบตัวเรา ซึ่งมีออกซิเจน 20%” – (บ้าไปแล้ว!)

      ดังนั้น เพื่อป้องกันโควิด เราไปออกแดดกันเถอะ จะได้เพิ่มวิตามินดี – ดีจริงๆนะ 

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

19 เมษา 63 

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Thymus 

_________________________________

All right reserved © by Vatchara 

ยูวี

      เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีเรื่องราวฮือฮาเกี่ยวกับความกังวลด้านสาธารณสุขกันอีกอย่างในยุค covid mania คือ เกรงว่าธนบัตร จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ 

      วันที่ 4 เมษายน กรุงเทพธุรกิจลงข่าวว่า ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำทีมโดย ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฯ ได้พัฒนา กล่องฆ่าเชื้อ โรคโควิด-19 ใช้กระบวนการผ่านรังสียูวี ที่เป็น UVC เพื่อฆ่าเชื้อโควิด-19 บน ธนบัตร โดยทำเป็นกล่อง เมื่อจะใช้ให้ใส่ธนบัตรแล้วปิดฝา ใช้เวลาฆ่าเชื้อ 15 นาที และท่านยังกล่าวด้วยว่า …

      “สามารถดัดแปลงเพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคในหน้ากากที่ใช้แล้ว โดยใช้หลอดยูวี 2 หลอด เพื่อสามารถฆ่าเชื้อได้ทั้ง 2 ด้าน”

      ผศ.นพ.มล.ทยา กิติยากร และทีมงานจากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ยืนยันผลการวิจัยอบด้วยรังสี UVC สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นทางเลือกในการนำหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำ มีรูปเครื่องที่ใช้อบด้วย ขนาดกระทัดรัด สวยทีเดียว แสดงว่า อุปกรณ์นี้มีขาย ถ้าไม่อยากทำใช้เอง

      ใช่แล้วครับ องค์ความรู้ว่า UVC ฆ่าเชื้อโรคได้นี้ มีมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 1878 โน่นแน่ะ โดยคุณ Arthur Downes และคุณ Thomas P. Blunt ได้ทำการวิจัยแล้วเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รับรู้ 

      แต่ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นยูวีแล้วจะฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งหมด งั้นมาทำความรู้จักเจ้ายูวีนี่อีกสักนิดนะครับ 

      คลื่นของพลังงานที่เรารู้จักกันดีคือ แสงอาทิตย์ ทำให้เราได้เห็นสิ่งต่างๆ แต่คลื่นพลังงานที่เรามองไม่เห็น จะไม่เรียกว่า “แสง” แต่เรียกว่า “รังสี” 

      ความเร็วของคลื่นพลังงาน เป็นความเร็วคงที่ ไม่มีสิ่งใดจะเร็วกว่านี้อีกแล้ว เรียกว่าความเร็วแสง 

      คลื่นมีพลังงานมากน้อยต่างกัน แต่กลับมีความเร็วเท่ากัน ถ้าเป็นนักวิ่งก็ต้องมีขาสั้นยาวไม่เท่ากัน 

      ถ้าจะให้ถึงเส้นชัยพร้อมกัน นักวิ่งขายาว ใช้พลังงานน้อยกว่า ก้าวยาวๆไม่กี่ก้าว ก็ถึงเส้นชัย ส่วนนักวิ่งขาสั้น จะวิ่งซอยเท้าถี่ยิบ ใช้พลังงานเยอะ จึงจะถึงเส้นชัยพร้อมกับเจ้าขายาว 

      ดังนั้น คลื่นพลังงานสูง จึงมีความถี่สูงและคลื่นสั้น ส่วนคลื่นพลังงานต่ำ จะมีความถี่ต่ำและความยาวคลื่นจะยาวกว่า 

      คลื่นพลังงานต่ำความถี่ต่ำ ความยาวคลื่น ยาวเป็นกิโลเมตรเลย คลื่นพวกนี้อยู่รอบๆตัวเราอยู่แล้วโดยเราไม่รู้สึก อย่างเช่นคลื่นวิทยุ ถัดมาก็เป็นคลื่นเครื่องมือสื่อสารเช่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นพวกคลื่นไมโครเวฟ คลื่นสั้นลงอีกนิด ความถี่สูงขึ้นอีกหน่อย ก็จะเป็นพวกคลื่นความร้อน คืออินฟราเรด (infrared) แปลว่าต่ำกว่าแดง ความถี่สูงกว่านี้ก็เป็นแสงสีแดงที่ตามองเห็นแล้ว ความยาวคลื่นที่ตรงนี้คือ 700 นาโนเมตร (nm : nanometer เมื่อแบ่งเมตรออกเป็นหน่วยย่อยพันล้านส่วน) 

      เมื่อคลื่นพลังงานเพิ่มขึ้น ความถี่สูงขึ้น คลื่นจะสั้นลงเรื่อยๆ สีของแสงจะเปลี่ยนจากแดงเป็นเหลือง เขียว ฟ้า และ น้ำเงิน จนกระทั่งมองไม่เห็น คลื่นจะสั้นเหลือ 400 nm 

      คลื่นที่มีพลังงานเพิ่มขึ้นถัดจากนี้ไปอีก ความถี่สูงกว่าน้ำเงิน หรือ blue ที่เกินกว่าตาคนเราจะมองเห็น (แต่มีแมลงและนกบางชนิดเห็น) ควรจะเรียกว่า “เหนือน้ำเงิน” หรือ อัลตรา บลู (ultra blue : UB) แต่กลับถูกเรียกว่า “เหนือม่วง” หรือ อัลตราไวโอเลต (ultraviolet : UV) ทั้งๆที่ แสงความถี่สีม่วงไม่มี เป็นสีที่สร้างในสมองของเรา เช่นเราเห็นดอกไม้สีม่วงเพราะดอกไม้ดูดซับแสงสีเขียวไว้ ปล่อยแสงสีแดงกับน้ำเงินสะท้อนมาเข้าตาเรา จากนั้น สมองจึงจับสองสีนี้ผสมกันแล้วบอกว่า นี่คือสีม่วง 

      ผู้ที่เรียกคนแรกคือ Sir Isaac Newton นักวิทยาศาสตร์ใหญ่แห่งยุคนั้น – เลยไม่มีใครกล้าเปลี่ยน 

      อย่างไรก็ตาม เราก็มาถึงคลื่นพลังงานสุดฮิต คือ ยูวี (UV) แล้ว นั่นคือคลื่นพลังงานที่สั้นกว่า 400 nm นั่นเอง 

      เมื่อเพิ่มพลังงานขึ้นอีก แม้ว่าจะเป็น ยูวี เหมือนกัน แต่คุณสมบัติเริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จึงมีการขยายการเรียก แบ่งแยกออกไปอีก 

      ก่อนที่จะแบ่งย่อย ยูวี นี้ออกไป ขอเลยไปจนสุดดีกว่าว่า จะไปสิ้นสุดตรงไหนที่ยังเรียก ยูวี อยู่ 

      เราจะเรียกว่า ยูวี จนถึงคลื่นพลังงานที่สั้นเหลือแค่ 10 nm ครับ

       ที่เป็นดังนี้เพราะ คลื่นพลังงานที่สูงเลยจุดนี้ขึ้นไป จนคลื่นสั้นกว่า 10 nm เป็นจุดที่มนุษย์มือบอนสร้างคลื่นพลังงานขึ้นมาใช้เอง ไม่ใช่ในธรรมชาติ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งทางการแพทย์ นั่นคือ รังสีเอ็กซ์ (X-ray) นั่นเอง โดยการเพิ่มพลังงานให้เป็นลำอิเล็กตรอนพลังสูงแล้วยิงใส่เป้าโลหะ เกิดเป็นรังสีเอ็กซ์ออกมา จึงสามารถควบคุมให้เกิดรังสีเอ็กซ์ที่มีพลังงานเท่าไหร่ก็ได้ แต่เขามักจะทำอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 0.1-10 nm 

      ถามว่าคลื่นพลังงานที่สูงขึ้นไปอีก คือคลื่นสั้นกว่า 0.1 nm มีไหม 

      มีครับ เพียงแต่ว่าพลังงานมาจากนิวเคลียสของอะตอม ไม่ใช่มาจากอิเล็กตรอนเหมือนรังสีเอ็กซ์ พลังงานจึงสูงขึ้นไปอีก เรียกว่า รังสีแกมมา นั่นเอง อันนี้เลยไปถึงพลังงานนิวเคลียร์แล้วครับ 

      ทั้งรังสีเอ็กซ์ที่เกิดจากอิเล็กตรอน และรังสีแกมมา ที่เกิดจากนิวเคลียส มีพลังงานสูงมาก อำนาจทะลุทะลวงสูง โมเลกุลอะไรที่ขวางหน้า จะกระเจิดกระเจิง แตกกระจัดกระจาย บอนด์ที่ยึดโยงกันอยู่ก็หลุด กลายเป็นประจุบวก ประจุลบ เรียกว่า ionizing radiation หรือรังสีที่ทำให้เกิดการแตกตัว 

      กลับมาที่ ยูวี กันใหม่ ว่าเขาแบ่ง 10-400 nm แยกย่อยอย่างไรกันบ้าง และแต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไร 

      ถ้าแบ่งตามมาตรฐาน ISO standard (ISO-21348) เขาจะแบ่ง ยูวี ออกเป็นชื่อต่างๆ ดังนี้คือ 

UVA 400-315 nm บางทีเรียก black light ไม่ถูกดูดซับด้วยโอโซน 

UVB 315-280 nm สร้างวิตามินดี ส่วนใหญ่จะถูกดูดซับด้วยโอโซน 

UVC 280-100 nm ช่วยฆ่าเชื้อโรค (germicidal) โอโซนดูดซับหมด

      UVA,B และ C เป็นการแบ่งคลื่นยูวีจากดวงอาทิตย์ที่ฮิตกันมาก แต่เขาคิดแค่ 100-400 nm เพราะคลื่นที่พลังงานสูงกว่านี้มันมาไม่ถึงผิวโลก และเอา UVB (315-280 nm) ที่ช่วยสร้างวิตามินดีให้มนุษย์เรา เป็นตัวแบ่ง โดยตัดปลายสองข้างออกไป เรียกพลังงานต่ำกว่าเป็น UVA และพลังงานสูงกว่าเป็น UVC 

      มีการแบ่งอีกอย่าง โดยดูว่าคลื่นพลังงานสูงมากเพียงพอที่จะทำให้โมเลกุลแตกตัวเป็นอิออนหรือยัง เพื่อใช้ช่วยฆ่าเชื้อโรค (germicidal) เพราะ RNA หรือ DNA จะโดนถล่มกระจุย 

      จุดพิเศษนี้จะอยู่ปลายๆของ UVC ที่ความยาว 121.6 nm เรียกว่า H Lyman-α (Hydrogen Lyman alpha 121-122 nm) ถ้าคลื่นสั้นกว่านี้ คือมีพลังงานสูงกว่านี้ จะเริ่มเกิดการแตกตัว (ionizing radiation) แบบเดียวกับรังสีเอ็กซ์แล้ว 

      จึงมีการแบ่งคลื่นยูวีอีกแบบหนึ่ง คิดเฉพาะ 122-400 nm โดย แบ่งด้วยตัวเลขปัดเป็นตัวกลมๆ คือ

NUV near ultraviolet 400-300 nm

MUV middle ultraviolet 300-200 nm 

FUV far ultraviolet  200-122 nm 

      การแบ่งแบบนี้ พุ่งเป้าไปที่คลื่นยูวีที่ยังไม่ทำให้โมเลกุลเกิดการแตกตัวเป็นหลัก แล้วเอามาแบ่ง ตัดหัวตัดท้าย (อีกแล้ว) เหลือตรงกลาง เรียกว่า MUV เพราะ ช่วง 300-200 nm นี้ เป็นช่วงที่โมเลกุลของสิ่งที่มีชีวิตดูดซับได้มากที่สุด (strongly absorbed by nucleic acid) 

      ส่วนคลื่นยูวีที่มีพลังงานสูงมากที่ทำให้เกิดการแตกตัว (ionizing radiation) ก็จะมีชื่อว่า …

EUV extream ultraviolet 121-10 nm 

      นอกจากนั้น ยังมีพวกที่มองภาพรวมว่า มีคลื่นยูวีช่วงไหนที่ถูกดูดซับด้วยบรรยากาศ จึงเป็นคลื่นที่มีในอวกาศ และหายไปเมื่อเข้าบรรยากาศของโลก (คงจะเป็นห่วงพวกนักบินอวกาศ) นั่นคือ คลื่นยูวีพลังงานสูง ที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่า 200 nm ที่มีในอวกาศ จะถูกดูดซับด้วยออกซิเจนในบรรยากาศที่หุ้มห่อโลก จึงมีชื่ออีกอย่างว่า …

VUV vacuum ultraviolet 200-10 nm 

     ตั้งแต่มนุษย์เราค้นพบไฟฟ้าขึ้นมาได้ เราก็สามารถสร้างคลื่นพลังงานชนิดไหนก็ได้ ตามต้องการว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร 

      อย่างเช่น สร้างหลอด black light ผลิตคลื่นยูวีในย่าน UVA เอาไว้ส่องวัตถุให้เกิดมีแสงเรือง (fluorescence) เนื่องจากอิเล็กตรอนวงนอกเมื่อได้รับพลังงานจะเขยิบชั้นขึ้นไป แต่พลังที่ได้รับไม่มากพอที่จะทำให้อิเล็กตรอนกระเด็นหลุดออกไปได้ จึงตกกลับลงไปที่เดิม แล้วคายพลังงานออกมาเป็นโฟตอน หรือแสงที่เรามองเห็น เพราะ UVA ก็อยู่ใกล้ชิดติดกันกับแสงส่วนที่มองเห็นอยู่แล้ว 

      UVA จึงใช้ทำ black light สำหรับการแสดงบนเวที นอกจากนั้นยังใช้สำหรับล่อแมลง เช่นเครื่องกำจัดยุง (แมลงเห็นแสง UVA) หรือใช้สำหรับตรวจลายเซ็นหลังสมุดธนาคาร ตรวจธนปลอม สารพัดที่จะนำไปใช้ มีแม้กระทั่ง ทำเป็นแบบใส่ถ่าน (portable) เอาไปส่องดูว่า เจ้าหมาน้อยตัวดีไปฉี่เลอะเทอะไว้ที่ไหน เพราะอาจจะแห้งแล้วมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่สารซึ่งอยู่ในฉี่จะสะท้อนแสง UVA ให้มองเห็นได้ 

      ส่วน UVB บ้านเราอาจจะไม่ค่อยมีใครใช้ แต่พวกฝรั่งที่อยู่เมืองหนาวใช้ทำที่อาบแดดเทียม เนื่องจากไม่มีแดดจัดเหมือนบ้านเรา ทำให้ขาดวิตามินดีจากแสงแดด ซึ่งมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและโรคกระดูก 

      อย่างที่สาม คือ UVC ก็ใช้ฆ่าเชื้อโรคอย่างที่เป็นข่าวนั่นแหละครับ ส่วนการใช้เป็นเรื่องเป็นราวในอุตสาหกรรมที่คุ้นเคยก็คือ ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ที่ความยาวคลื่นแถวๆ 250 nm (หลอดยูวีแบบไอปรอท ให้คลื่น UVC ที่ 253.7 nm) 

      มีการเปรียบเทียบกันว่า การใช้พลังงานเพื่อผลิตคลื่น UVC มาฆ่าเชื้อโรคในน้ำดิ่ม น้อยกว่าการใช้พลังงานเพื่อต้มน้ำซึ่งเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่รู้จักกันดีถึง 20,000 เท่า (สงสัยว่า คนที่คิดเทียบจะเป็นคนขายหลอด UVC) 

      อย่างไรก็ตาม ถ้าใครคิดจะทำกันขึ้นมาเอง แบบ DIY ละก้อ ดูหลอดยูวีที่จะซื้อมาดีๆนะครับ ว่าเป็นแบบที่ใช้ฆ่าเชื้อ ซึ่งมีความยาวคลื่นในช่วง  UVC ไม่ใช่เห็นแค่คำว่ายูวีก็คว้ามาเลย เพราะอาจจะกลายเป็นแค่ black light ความยาวคลื่น UVA แทนที่จะเอามาใช้ฆ่าเชื้อที่ติดอยู่ที่ธนบัตร ก็อาจจะแค่ใช้สำหรับไว้ดูว่าเป็นแบ็งค์ปลอมหรือไม่ เท่านั้นเอง – ฮ่า 🙂

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

12 เมษา 63 

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Ultraviolet 

_________________________________

All right reserved © by Vatchara 

จักรวาลของฮินดู

      ยุคสมัยนี้ พวกเราส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับบ้าน ดูแต่ Line กันจนตาแฉะ และเรื่องราวก็วนอยู่ตรงโควิดนี่แหละ ถ้าเป็นสมัยเด็กคงหาการ์ตูนหาหนังสือนิทานอ่านกันเรื่อยเปื่อย พออายุมากขึ้นนี่จะอ่านนิทานก็ชอบกล งั้นมาหาเรื่องเล่าของผู้ใหญ่อ่านเพลินๆบ้างดีกว่า 

      เรื่องเล่าที่เก่าแก่ คงหนีไม่พ้นที่จะมาจากอินเดีย ต้นอารยธรรมเก่าแก่แต่โบราณ 

      เพื่อนผมบอกว่า ชาวอินเดีย เป็นพวกคอเคเซียน (Caucasian) ดูโครงหน้าแล้วใช่เลย เพราะ คอเคเซียนไม่จำเป็นต้องผิวขาวจั๊วะก็ย่อมได้

      บางคนเรียกคอเคเซียนกลุ่มนี้ว่า อารยัน (Aryan) ซึ่งได้เคลื่อนย้ายลงมาจากทางเหนือ แถบยูเรเซียหรืออิหร่าน ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล รุกไล่ชนพื้นเมืองเดิมที่เรียกว่า มิลักขะ หรือ ฑราวิท (Dravidian) หนีลงไปจนถึงเกาะศรีลังกา จนเกิดเรื่องราวยาวเหยียด เรียกว่า รามเกียรติ์ 

      น่าสังเกตว่า พวกนาซีเยอรมันก็เรียกตัวเองว่า เป็นลูกหลานชาวอารยัน เหมือนกัน 

      ผู้ชนะ ย่อมเขียนให้พวกตนเองเป็นพระเอก พวกอสูร ย่อมเป็นพวกผู้ร้ายไปตามระเบียบ 

      แม้แต่เรื่องราวของ เทพ-อสูร บนฟ้าที่เล่าขานกัน ก็ยังแบ่งเป็นฝ่ายดี (เทพ) และฝ่ายบาปเคราะห์ (อสูร) 

      หนึ่งในเหล่าอสูรที่รู้จักกันดีที่น่าสนใจคือ “ราหู” 

      ที่ว่าน่าสนใจเพราะบังเอิญมีเด็กชาวอินเดียได้โยง “ราหู” เข้ากับการทำนายทายทักช่วงเวลาการเกิดดับเกี่ยวกับ โควิด-19 ที่กำลังดัง ใครสนใจก็ลองไปหาอ่านเอาเองนะครับ เพราะในเมื่อชาวบ้านยังหาคำตอบด้านวิทยาศาสตร์ยังไม่เจอ ก็อาจไปควานหาโหราศาสตร์มาแทนไปพลางๆ 

      โหราศาสตร์ อาศัย ดาราศาสตร์ ในการทำนายทายทัก โดยอาศัยตำแหน่งของดาวเคราะห์ทั้งเก้า หรือ นพเคราะห์ (navagraha) 

      นพเคราะห์ในทางโหราศาสตร์นั้น เป็นสิ่งที่มองเห็นวิ่งไปวิ่งมาบนฟากฟ้า ๙ ดวง

      ๑ อาทิตย์ ๒ จันทร์ … ไล่ตามวันของสัปดาห์ ไปจนถึง …๗ เสาร์ 

      อีกสองดวงล่ะ บางคนคิดว่าเป็น ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน 

      โหรฮินดูไม่คิดอย่างนั้นครับ เพราะดาวเคราะห์บริวารของดวงอาทิตย์ที่อยู่ชายขอบทั้งสองดวงนั้น มองไม่เห็นครับ 

      แต่แขกกลับเลือกที่จะมี “ดาวสมมุติ” อีกสองดวง คือ “๘ ราหู” (Rahu) กับ “๙ เกตุ” (Ketu) เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดบนโลก คือ “สุริยคราส” และ “จันทรคราส” 

      ราหูบ้านเรา งับทั้งดวงอาทิตย์ และ ดวงจันทร์ เราจึงมี “ราหูอมจันทร์” แต่แขกแบ่งงานกันครับ เพราะ พระราหูฮินดู จะปล่อยพระจันทร์ให้เป็นหน้าที่ของพระเกตุแทน 

      ที่เป็นดังนี้เพราะ ตำนานการแอบดื่มน้ำอมฤต จนถูกจักรขว้างมาตัดตัวแต่ไม่ตายนั้น ส่วนหัวได้กลายเป็น พระราหู ส่วนตัวได้กลายเป็น พระเกตุ (แขกบอกว่า ตัดคอ ไทยบอกว่า ตัดเอว) 

      เมื่อเทียบกับทางดาราศาสตร์ “ราหู” และ “เกตุ” ก็คือ จุดตัดของระนาบวงโคจร (orbital plane) ของดวงจันทร์ที่วิ่งวนรอบโลก กับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ซึ่ง สองระนาบนี้ เอียงทำมุมกันอยู่ประมาณ 5.1° 

      “ราหู” คือจุดตัดด้านใน ดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ 

      “เกตุ” คือจุดตัดด้านนอก โลกอยู่ระหว่างดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ 

      “ราหู” กับ “เกตุ” จึงอยู่ตรงข้ามกัน 180° เสมอ (เคยเห็นภาษาโหรเขาเขียนว่า “เล็ง”) 

      จุดตัดนี้จะค่อยขยับเลื่อนไปรอบๆโลกทีละนิด อันเนื่องมาจากการควงสว่านของดวงจันทร์ (Lunar precession) ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 18 ปี (18 ปี 11 วัน 8 ชั่วโมง) จึงจะครบรอบ กลับมาที่เดิม 

      ระยะเวลาครบรอบที่ว่านี้ เรียกว่า “saros” ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า “ซ้ำ” และสามารถนำไปคำนวณการเกิด “คราส” ได้ 

      ครึ่งหนึ่งของ Saros เรียกว่า sar (ไม่เกี่ยวกับโควิดนะ) คือ 9 ปี กับ 5.5 วัน อันเป็นระยะเวลาที่จะเกิดคราสอีกอย่าง (เกิดสุริยคราสหลังจันทรคราส หรือกลับกัน) ในซีรี่ส์เดียวกัน

      อ๊ะ ! มีซีรี่ส์ด้วยหรือ

      ใช่แล้วครับ คราสมีเยอะแยะ อาจจะมีมากถึง 40 ซีรีส์ ในซีรี่ส์เดียวกัน เมื่อครบ 18 ปีโดยประมาณ ก็เกิดซ้ำแบบเดิมอีก เพียงแต่ว่าจะขยับที่ไปนิดหนึ่ง พอหลายรอบเข้าก็จะหลุดไป ไม่เกิดคราสอีก (ประมาณ 69-87 ครั้ง ที่บ่อยที่สุดคือ 71-72 ครั้ง) 

      ตัวอย่างเช่น November 16, 1990 BC ถือเป็นสุริยคราส ซีรีส์ 1 

      และ February 23, 1994 BC ถือเป็นจันทรคราส ซีรีส์ 1 เป็นต้น 

 

      ตัวอย่างซีรี่ส์ปัจจุบัน เช่น Saros 131 …

April 13, 1968 @04:47 UT

April 24, 1986 @12:43 UT

May 4, 2004 @20:30 UT

May 16, 2022 @04:11 UT 

 

คุยเรื่องจริงซะยาว กลับมาที่เรื่องเล่ากันต่อนะครับ

      จักรวาลของฮินดู มีเกิดมีดับไม่สิ้นสุด เรียกว่า “ยุค” (Yuga) โดยพระพรหมจะสร้างโลกใหม่ทุกวัน

      วันในที่นี้ ไม่ใช่ 24 ชั่วโมงของโลกมนุษย์นะครับแต่เป็นวันของพระพรหม 

      หนึ่งวันของพระพรหม นานประมาณสี่พันล้านปีของโลกมนุษย์ (4.32 billion years อายุของระบบสุริยะของเรา 4.571 พันล้านปี) เรียกว่า หนึ่งกัลป์ (Kalpa) 

      แต่ละกัลป์แบ่งออกเป็นสี่ยุค หรือจตุรยุค (chaturyuga) คือ กฤดายุค (krita) ทวาบรยุค (dvapara) ไตรดายุค (treta) และ ยุคที่สี่สุดท้าย โลกก็ถึงกาลอวสาน มีไฟบรรลัยกัลป์ มาล้างโลก (นึกถึงดวงอาทิตย์ก่อนดับ จะขยายตัว เป็นดาวยักษ์แดง จนมาถึงโลกเลย) จากนั้น พระพรหมก็สร้างใหม่อีก ในรอบต่อไป

      ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคอะไรทราบไหมครับ … ฮินดูเขาเรียกว่า “กลียุค” (Kali Yuga) ครับ !

      มิน่า !! 

 

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

5 เมษา 63 

 

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Hindu_cosmology 

_________________________________

All right reserved © by Vatchara 

Design a site like this with WordPress.com
Get started