จักรวาลของฮินดู

      ยุคสมัยนี้ พวกเราส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับบ้าน ดูแต่ Line กันจนตาแฉะ และเรื่องราวก็วนอยู่ตรงโควิดนี่แหละ ถ้าเป็นสมัยเด็กคงหาการ์ตูนหาหนังสือนิทานอ่านกันเรื่อยเปื่อย พออายุมากขึ้นนี่จะอ่านนิทานก็ชอบกล งั้นมาหาเรื่องเล่าของผู้ใหญ่อ่านเพลินๆบ้างดีกว่า 

      เรื่องเล่าที่เก่าแก่ คงหนีไม่พ้นที่จะมาจากอินเดีย ต้นอารยธรรมเก่าแก่แต่โบราณ 

      เพื่อนผมบอกว่า ชาวอินเดีย เป็นพวกคอเคเซียน (Caucasian) ดูโครงหน้าแล้วใช่เลย เพราะ คอเคเซียนไม่จำเป็นต้องผิวขาวจั๊วะก็ย่อมได้

      บางคนเรียกคอเคเซียนกลุ่มนี้ว่า อารยัน (Aryan) ซึ่งได้เคลื่อนย้ายลงมาจากทางเหนือ แถบยูเรเซียหรืออิหร่าน ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล รุกไล่ชนพื้นเมืองเดิมที่เรียกว่า มิลักขะ หรือ ฑราวิท (Dravidian) หนีลงไปจนถึงเกาะศรีลังกา จนเกิดเรื่องราวยาวเหยียด เรียกว่า รามเกียรติ์ 

      น่าสังเกตว่า พวกนาซีเยอรมันก็เรียกตัวเองว่า เป็นลูกหลานชาวอารยัน เหมือนกัน 

      ผู้ชนะ ย่อมเขียนให้พวกตนเองเป็นพระเอก พวกอสูร ย่อมเป็นพวกผู้ร้ายไปตามระเบียบ 

      แม้แต่เรื่องราวของ เทพ-อสูร บนฟ้าที่เล่าขานกัน ก็ยังแบ่งเป็นฝ่ายดี (เทพ) และฝ่ายบาปเคราะห์ (อสูร) 

      หนึ่งในเหล่าอสูรที่รู้จักกันดีที่น่าสนใจคือ “ราหู” 

      ที่ว่าน่าสนใจเพราะบังเอิญมีเด็กชาวอินเดียได้โยง “ราหู” เข้ากับการทำนายทายทักช่วงเวลาการเกิดดับเกี่ยวกับ โควิด-19 ที่กำลังดัง ใครสนใจก็ลองไปหาอ่านเอาเองนะครับ เพราะในเมื่อชาวบ้านยังหาคำตอบด้านวิทยาศาสตร์ยังไม่เจอ ก็อาจไปควานหาโหราศาสตร์มาแทนไปพลางๆ 

      โหราศาสตร์ อาศัย ดาราศาสตร์ ในการทำนายทายทัก โดยอาศัยตำแหน่งของดาวเคราะห์ทั้งเก้า หรือ นพเคราะห์ (navagraha) 

      นพเคราะห์ในทางโหราศาสตร์นั้น เป็นสิ่งที่มองเห็นวิ่งไปวิ่งมาบนฟากฟ้า ๙ ดวง

      ๑ อาทิตย์ ๒ จันทร์ … ไล่ตามวันของสัปดาห์ ไปจนถึง …๗ เสาร์ 

      อีกสองดวงล่ะ บางคนคิดว่าเป็น ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน 

      โหรฮินดูไม่คิดอย่างนั้นครับ เพราะดาวเคราะห์บริวารของดวงอาทิตย์ที่อยู่ชายขอบทั้งสองดวงนั้น มองไม่เห็นครับ 

      แต่แขกกลับเลือกที่จะมี “ดาวสมมุติ” อีกสองดวง คือ “๘ ราหู” (Rahu) กับ “๙ เกตุ” (Ketu) เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดบนโลก คือ “สุริยคราส” และ “จันทรคราส” 

      ราหูบ้านเรา งับทั้งดวงอาทิตย์ และ ดวงจันทร์ เราจึงมี “ราหูอมจันทร์” แต่แขกแบ่งงานกันครับ เพราะ พระราหูฮินดู จะปล่อยพระจันทร์ให้เป็นหน้าที่ของพระเกตุแทน 

      ที่เป็นดังนี้เพราะ ตำนานการแอบดื่มน้ำอมฤต จนถูกจักรขว้างมาตัดตัวแต่ไม่ตายนั้น ส่วนหัวได้กลายเป็น พระราหู ส่วนตัวได้กลายเป็น พระเกตุ (แขกบอกว่า ตัดคอ ไทยบอกว่า ตัดเอว) 

      เมื่อเทียบกับทางดาราศาสตร์ “ราหู” และ “เกตุ” ก็คือ จุดตัดของระนาบวงโคจร (orbital plane) ของดวงจันทร์ที่วิ่งวนรอบโลก กับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ซึ่ง สองระนาบนี้ เอียงทำมุมกันอยู่ประมาณ 5.1° 

      “ราหู” คือจุดตัดด้านใน ดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ 

      “เกตุ” คือจุดตัดด้านนอก โลกอยู่ระหว่างดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ 

      “ราหู” กับ “เกตุ” จึงอยู่ตรงข้ามกัน 180° เสมอ (เคยเห็นภาษาโหรเขาเขียนว่า “เล็ง”) 

      จุดตัดนี้จะค่อยขยับเลื่อนไปรอบๆโลกทีละนิด อันเนื่องมาจากการควงสว่านของดวงจันทร์ (Lunar precession) ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 18 ปี (18 ปี 11 วัน 8 ชั่วโมง) จึงจะครบรอบ กลับมาที่เดิม 

      ระยะเวลาครบรอบที่ว่านี้ เรียกว่า “saros” ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า “ซ้ำ” และสามารถนำไปคำนวณการเกิด “คราส” ได้ 

      ครึ่งหนึ่งของ Saros เรียกว่า sar (ไม่เกี่ยวกับโควิดนะ) คือ 9 ปี กับ 5.5 วัน อันเป็นระยะเวลาที่จะเกิดคราสอีกอย่าง (เกิดสุริยคราสหลังจันทรคราส หรือกลับกัน) ในซีรี่ส์เดียวกัน

      อ๊ะ ! มีซีรี่ส์ด้วยหรือ

      ใช่แล้วครับ คราสมีเยอะแยะ อาจจะมีมากถึง 40 ซีรีส์ ในซีรี่ส์เดียวกัน เมื่อครบ 18 ปีโดยประมาณ ก็เกิดซ้ำแบบเดิมอีก เพียงแต่ว่าจะขยับที่ไปนิดหนึ่ง พอหลายรอบเข้าก็จะหลุดไป ไม่เกิดคราสอีก (ประมาณ 69-87 ครั้ง ที่บ่อยที่สุดคือ 71-72 ครั้ง) 

      ตัวอย่างเช่น November 16, 1990 BC ถือเป็นสุริยคราส ซีรีส์ 1 

      และ February 23, 1994 BC ถือเป็นจันทรคราส ซีรีส์ 1 เป็นต้น 

 

      ตัวอย่างซีรี่ส์ปัจจุบัน เช่น Saros 131 …

April 13, 1968 @04:47 UT

April 24, 1986 @12:43 UT

May 4, 2004 @20:30 UT

May 16, 2022 @04:11 UT 

 

คุยเรื่องจริงซะยาว กลับมาที่เรื่องเล่ากันต่อนะครับ

      จักรวาลของฮินดู มีเกิดมีดับไม่สิ้นสุด เรียกว่า “ยุค” (Yuga) โดยพระพรหมจะสร้างโลกใหม่ทุกวัน

      วันในที่นี้ ไม่ใช่ 24 ชั่วโมงของโลกมนุษย์นะครับแต่เป็นวันของพระพรหม 

      หนึ่งวันของพระพรหม นานประมาณสี่พันล้านปีของโลกมนุษย์ (4.32 billion years อายุของระบบสุริยะของเรา 4.571 พันล้านปี) เรียกว่า หนึ่งกัลป์ (Kalpa) 

      แต่ละกัลป์แบ่งออกเป็นสี่ยุค หรือจตุรยุค (chaturyuga) คือ กฤดายุค (krita) ทวาบรยุค (dvapara) ไตรดายุค (treta) และ ยุคที่สี่สุดท้าย โลกก็ถึงกาลอวสาน มีไฟบรรลัยกัลป์ มาล้างโลก (นึกถึงดวงอาทิตย์ก่อนดับ จะขยายตัว เป็นดาวยักษ์แดง จนมาถึงโลกเลย) จากนั้น พระพรหมก็สร้างใหม่อีก ในรอบต่อไป

      ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคอะไรทราบไหมครับ … ฮินดูเขาเรียกว่า “กลียุค” (Kali Yuga) ครับ !

      มิน่า !! 

 

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

5 เมษา 63 

 

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Hindu_cosmology 

_________________________________

All right reserved © by Vatchara 

Author: Vatchara

This is my personal blog.

Leave a comment

Design a site like this with WordPress.com
Get started