รูบิก-อารยธรรมต่อจากจีน

⭕️ ⭕️ ⭕️

เพิ่งผ่านเทศกาลตรุษจีนมาไม่กี่วัน ผู้คนในจีนแผ่นดินใหญ่ยังท่องเที่ยวกันไม่เสร็จ เพราะเป็นวันหยุดยาวฉลองปีใหม่ตามปฏิทินทางจันทรคติ … จึงขออวยพรท่านผู้อ่านอีกรอบ ขอให้ เฮง เฮง กันทุกคนครับ

ตรุษจีน ทั้งคนจีนและคนเชื้อสายจีนต่างก็ร่วมกันเฉลิมฉลองกันทั่วโลกในดินแดนที่มีคนเชื้อสายจีนไปตั้งหลักปักฐานอยู่

อารยธรรมจีนมีมาเก่าแก่ นานนม และคงมีผู้คนกล่าวถึงตรุษจีนนี้กันทั่วไปแล้ว ผมจึงขอเล่าถึงสิ่งที่มีอารยธรรมทางความคิดสืบเนื่องมาจากจีนอีกสักอย่างหนึ่ง คือ … “รูบิก” ครับ

รูบิก (Rubik) ที่เด็กจีนเคยได้แชมป์ทำสถิติลงกินเนสบุ๊ก นั่นไม่ใช่ฝรั่งคิดหรอกหรือ

ฝรั่งคิดต่อจากแนวความคิดของจีนครับ … เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

รูบิก ที่บางทีเรียกเป็นไทยๆว่า ลูกบิด มีมาตรฐานที่คุ้นตากันมานาน ว่า แต่ละด้านจะมี 3 ลูก คือ 3x3x3 บางทีเขียนย่อๆ ว่า 3×3 ก็ยังเป็นที่รู้กันได้

วันก่อน หลานสาวของคนใกล้ชิดบ้านติดกัน วิ่งมายื่นลูกบิด 4×4 ที่บิดจนเละมาแล้ว ยื่นส่งให้ บอกว่าช่วยแก้ให้หน่อย … ยุ่งละสิ เพราะเคยทำแต่ 3×3

เลยต้องอาศัยตัวช่วยใกล้มือ คือถามอากู๋ (google) ว่าทำยังไง

ค้นไปค้นมา ถึงได้รู้ว่า รูบิกนี่มันมีชนิดต่าง ๆ มากมายหลายหลาก เล็กสุดตั้งแต่ 2×2 ก็ยังมี

ที่น่าทึ่งก็คือ เจ้ารูบิกที่ดูเหมือนของเล่นนี่ มันไม่ธรรมดาเลยนะ มีการนำไปวิจัยและพัฒนาทางเทคโนลียีมากมายจากคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของมัน

ก็สมควรอยู่ เพราะคนที่คิดสร้างมันขึ้นมานั้น เป็นประติมากรและสถาปนิกระดับปรมาจารย์ทีเดียว คือ ศาสตราจารย์ Ernő Rubik ชาวฮังกาเรียน ตั้งแต่ปี 1974 โน่น ตอนแรกเรียก Magic Cube ตอนหลังเปลี่ยนเป็น Rubik’s Cube เพื่อเป็นเกียรติแก่คนต้นคิด และถือเป็นหนึ่งในร้อยชนิดของสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงโลกในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

แนวความคิด (concept) ของรูบิก มีต้นกำเนิดย้อนหลังไปได้ถึง “หนังสือของลู” ของจีน (China Luo Book) ที่เขียนให้ง่าย (simplified) ลงมาเป็น “แผนผังของจิวกง” (Jiugong map) ดังนี้ …

4 9 2
3 5 7
8 1 6

เลข กลุ่มอย่างนี้ คงคุ้นตาหลาย ๆ คน เพราะจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะบวกแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวทะแยง แนวไหน ๆ ก็ได้คำตอบเท่ากันหมด ที่เรียกทับศัพท์กันว่า แมจิกสแควร์ (magic square) ไงครับ

คำตอบที่เท่ากันหมดทุกแนวนี้ เรียกว่า ตัวคงที่ของแมจิกสแควร์ (magic square constant) มีค่าเท่ากับ nx(nxn+1)/2 เมื่อ n เป็นจำนวนตัวเลขแต่ละด้าน เช่นกรณีนี้ n=3 เพราะเป็นตารางชนิด 3×3 นั่นคือ 3x(3×3+1)/2=15 ดังนั้น ผลรวมแต่ละแนวจะเท่ากับ 15

ถ้า n=4 ผลรวมแต่ละแนวของแมจิกสแควร์ชนิด 4×4 ก็จะเป็น 4x(4×4+1)/2=34

ชักสนุก (สนุกอยู่คนเดียวรึเปล่าไม่รู้) ลองคิดแมจิกสแควร์ 5×5 เล่นๆ ดูบ้าง ผลรวมแต่ละแนวจะเป็น 5x(5×5+1)/2=65 ได้หน้าตาออกมาเป็นดังนี้

11 18 25 2 9
10 12 19 21 3
4 6 13 20 22
23 5 7 14 16
17 24 1 8 15

แผนผังของจิวกง (Jiugong map) อย่างข้างบนนั้น มันยังแบนแต๊ดแต๋อยู่บนแผ่นกระดาษ ยังไม่เป็นลูกบาศก์สามมิติ ทางวิชาการ บางทีจึงเรียกว่า “zero-dimensional third-order cube” คือไม่ได้หมุนรอบแกนไหนสักแกนเดียวเลย สำหรับแมจิกสแควร์แบบ 3×3 นี้

ต่อมา ประมาณในยุคราชวงศ์หยวน (Chinese Yuan Dynasty) แผนผังของจิวกง (Jiugong) ได้ถูกพัฒนามาเป็นเครื่องเล่นเกมที่หยิบจับได้ ย้ายไปย้ายมาหนึ่งแกน คือรอบแกนตั้ง (หมายถึงแกนตั้งหรือแกน z คงที่ ย้ายแต่แกน x และ y) ชนิด 3×3 เรียกว่า “one-dimensional third-order cube” เป็นแผ่นไม้ 8 ชิ้น เลื่อนอยู่ในช่อง 9 ช่อง ชิ้นไม้ทั้งแปด มีเลข 1 ถึง 8 ส่วนช่องว่างหมายถึงเลข 9

เกมนี้ได้แพร่กระจายไปสู่โลกตะวันตก โดยเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง order กลายเป็น “one-dimensional fourth-order cube” เป็นแบบ 4×4 พัฒนาโดย Sam Loyd และยังใช้หลักการของ จิวกง 3×3 ทุกประการ กล่าวคือ ชิ้นส่วน 15 ชิ้น (1 ถึง 15) เลื่อนอยู่ในช่อง 16 ช่อง

ผมไม่เคยเห็นเครื่องเล่นแบบ 3×3 แต่ตอนเด็ก ๆ เคยเห็นแบบ 4×4 เป็นพลาสติกเล็ก ๆ ขนาดเหมาะมือ ไม่รู้ว่าสมัยนี้จะมีการนำกลับมาขายให้เด็ก ๆ หัดเล่นหัดคิดกันอีกหรือเปล่า

จำได้ว่า ไม่เพียงแต่ตัวเลื่อนจะเป็นเลข 1 ถึง 15 เท่านั้น ยังมีการเปลี่ยนตัวเลขเป็นลวดลายการ์ตูนภาพต่าง ๆ ซึ่งเมื่อสลับเลื่อน มันจะเละ จะเห็นเป็นภาพต่อเมื่อสลับเลื่อนกลับมาตำแหน่งเดิมอย่างถูกต้องเท่านั้น

ที่น่าสนใจสำหรับเจ้าตัวเกมที่มีเลข 1 ถึง 15 นี้ก็คือ ผมเห็นแต่ว่าทุกคนพยายามที่จะเรียงเลข 1 ถึง 15 โดยเว้นช่องโบ๋ ๆ นั้นไว้ในช่องสุดท้าย พอเรียงเสร็จเป็นอันจบ นึกว่าเสร็จแล้ว ผมเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า จุดหมายปลายทางของเกมนั้น คือ แมจิกสแควร์ครับ ไม่ใช่แค่เรียงเลข คือต้องพยายามสลับจัดเรียงใหม่ให้ผลรวมของเลขทั้ง 4 ตัวในแต่ละแนว ไม่ว่าแนวตั้ง แนวนอน และแนวทะแยงนั้น ต้องรวมให้ได้เท่ากับ 34 พอดีเป๊ะทุกแนว โดยช่องว่าง คือเลข 16 ซึ่งเมื่อทำได้แล้ว หน้าตาจะเป็นแบบนี้

1 14 15 4
8 11 10 5
12 7 6 9
13 2 3 [16]

ต่อมา พัฒนาการของลูกบาศก์ เปลี่ยนจาก “order” มาเป็น “dimension” ในยุคราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) มีการทำลูกบาศก์มีหมายเลขกำกับ จำนวนแปดลูก คือหมายเลข 1 ถึง 8 มาต่อรวมกันเป็นลูกบาศก์ที่โตขึ้นเป็นขนาด 2×2 (three-dimensional second-order cube) และที่สำคัญ มันเป็นแมจิกสแควร์แบบสามมิติด้วย (three-dimensional magic squares) หมายความว่า ด้านแต่ละด้าน ทั้ง 6 ด้าน ของลูกบาศก์ 2×2 จะประกอบด้วยลูกบาศก์เล็ก (เรียกว่าลูกเต๋าละกัน) 4 ลูก ซึ่งมีเลขกำกับ เลขทั้ง 4 นี้ เมื่อบวกรวมกัน จะต้องเท่ากันทุกด้าน คือเท่ากับ 18

สมัยนี้ มีรูบิกขนาด 2×2 ขายแล้ว ซึ่งมีสีมาตรฐานรูบิกทั้ง 6 ด้าน คือ แดงตรงข้ามกับส้ม ขาวตรงข้ามกับเหลือง และน้ำเงินตรงข้ามกับเขียว

ผมขอเขียนย่อ แดง (Red) ส้ม (Orange) ขาว (White) เหลือง (Yellow) น้ำเงิน (Blue) และเขียว (Green) เป็น R O W Y B และ G นะครับ

ถ้าวางรูบิก ให้ B อยู่ล่าง (bottom) R อยู่ขวา (right) ให้ตัวย่อมันล้อกันอย่างนี้แล้วละก็ …

O จะอยู่ซ้าย Y จะอยู่หน้า W จะอยู่หลัง และ G จะอยู่บน

ถ้ามีการเขียนเลขลงบนลูกเต๋าที่อยู่มุมทั้ง 8 ดังนี้ …

1 = หน้าซ้ายล่าง (YOB)
2 = หลังขวาล่าง (WRB)
3 = หลังซ้ายบน (WOG)
4 = หน้าขวาบน (YRG)
5 = หลังขวาบน (WRG)
6 = หน้าซ้ายบน (YOG)
7 = หน้าขวาล่าง (YRB)
8 = หลังซ้ายล่าง (WOB)

ถ้าบิดรูบิคจนสีแต่ละด้านกลับมาเหมือนเดิมแล้ว ตัวเลขที่ปรากฏในแต่ละด้าน จะรวมกันแล้ว เท่ากับ 18 เหมือนกันทั้ง 6 ด้าน คือ …

ด้านซ้าย (O)
3 6
8 1

ด้านขวา (R)
4 5
7 2

ด้านหน้า (Y)
6 4
1 7

ด้านหลัง (W)
5 3
2 8

ด้านบน (G)
3 5
6 4

ด้านล่าง (B)
1 7
8 2

แมจิกสแควร์แบบสามแกน (three-dimensional magic square) อย่างนี้ สมัยก่อนยังไม่มีระบบกลไกภายในอะไร อาศัยวางซ้อนกันของลูกเต๋าเฉย ๆ เพิ่งจะมี นวัตกรรมลูกบิดในปี 1974 โดยคุณ Rubik นี่เอง รูบิกถึงได้บูมไปทั่วโลก

รูบิก ยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นสามมิติ (3-dimension) คือหมุนได้สามแกนไว้ แต่พัฒนาการเป็นการเปลี่ยน “order” จากเดิมมาตรฐาน 3×3 มีทั้งลดลง เป็น 2×2 แบบพกพา (Pocket/Mini Cube) และเพิ่มขึ้น เป็น 4×4 สำหรับมืออาชีพ (Revenge/Master Cube) และ 5×5 ระดับปรมาจารย์ (Professor’s Cube)

โรงงาน ShengShou ในเมืองจีน รับผลิตรูบิกทุกขนาด ตั้งแต่ 2×2 ไปจนถึง 10×10 ได้ในปี 2013 หลังจากนั้นก็ทำ 11×11 ต่อมาเห็นรูปโฆษณา 13×13

มีการเพิ่มจำนวน “order” กันไม่หยุดหย่อน ถึงปี 2011 ก็มี 17×17 (“Over the Top” cube ) ขายกันแล้ว แถมมีการสั่งทำอันที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเดือนธันวาคม 2017 และแน่นอนว่าราคาก็ต้องสูงที่สุดในโลกด้วย (มากกว่า 2,000 ดอลลาร์)

กำลัง งง ๆ ว่า เขาจะขยาย “order” กันไปถึงไหน ต้นปี 2016 ในเดือนมกราคมก็มีข่าวบอกว่า ทำ 22×22 ได้แล้ว สุดท้าย ปลายปี 2017 มีข่าวการทำ “order” สูงสุด คือ 33×33 ในเดือนธันวาคม

ไม่ว่า รูบิก จะมี “order” สูงขึ้นไปแค่ไหนก็ตาม พื้นฐานการแก้ปัญหา จะกลับมาที่ “order” มาตรฐาน คือ 3×3 ทั้งนั้น

รูบิก 2×2 ก็ทำเหมือน 3×3 แต่ตัดตอน ทำเฉพาะลูกมุม เพราะไม่มีลูกกลาง

ส่วนรูบิก ตั้งแต่ 4×4 ขึ้นไป จะต้องพยายามทำให้เหมือน 3×3 ในขั้นตอนสุดท้าย จึงต้องมีอีกสองขั้นตอนแทรกเข้ามาก่อน คือการเลื่อนชิ้นที่มีสีเดียวให้ถูกหน้าหรือถูกสีก่อน ขั้นที่สองคือเลื่อนชิ้นขอบที่มีสองสีให้เข้าที่ เมื่อทำสองขั้นนี้แล้วก็ให้ทำต่อเสมือนว่าเป็นรูบิก 3×3 ได้เลย

ความยากของ 4×4 อีกอย่าง ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 3×3 ก็คือ ชิ้นขอบที่มีสองสีนี่แหละ เพราะ 3×3 มันมีลูกเดียว ส่วน 4×4 มันมีสองลูก เป็นฝาแฝดกัน จึงมีโอกาสที่มันจะสลับกันได้โดยเราไม่มีทางรู้ จนกว่าจะทำเสร็จแล้ว และพบว่า มันมีลูกขอบอยู่คู่หนึ่งที่สีมันพลิก ภาษาเทคนิคเขาเรียกว่า มันเกิด “parity”

ผมพยายามมั่วอยู่สักพัก เพื่อแก้ปัญหา parity… ก็ยังไม่ได้สักที ต้องยอมไปคารวะกูเกิลกูรู หาดูวิธีแก้ปัญหาในยูทูบ

ครับ – หลังจากที่พยายามอยู่สองวัน ผมก็แก้ปัญหารูบิก 4×4 ได้

เมื่อผมเอาไปคืนหลานสาวที่ยิ้มร่าเริง รับไปด้วยความขอบคุณ พร้อมคำตอบว่า … “ขอบคุณค่ะ ต่อไปหนูจะไม่บิดมันเล่นอีกแล้ว ให้มันอยู่อย่างนี้แหละ เอาไว้ดูอย่างเดียว” … อ้าว! ไหงงั้นล่ะ !!

ให้พ่อเสียเงินซื้อมาตั้งหลายตังค์ เอามานั่งดูบูชาซะงั้น !! ๏๛

… @_@ …
วัชระ นูมหันต์
2023-01-29

Ref: Overview of Rubik’s Cube and Reflections on Its Application in Mechanism
https://cjme.springeropen.com/articles/10.1186/s10033-018-0269-7
All Rights Reserved ©

การศึกษา

⭕️ ⭕️ ⭕️

ต้นปีนี้ วันอาทิตย์ที่ผมส่งเรื่องออก ปรากฏว่า jackpot ตรงกับวันสำคัญหลายเทศกาล นอกจากจะอวยพรให้สุขสันต์วันคริสต์มาส สุขสันต์วันปีใหม่แล้ว ก็ขอแถมสัปดาห์นี้ให้ด้วยครับ ขอให้สุขสันต์วันตรุษจีน สุขีสุขี มั่งมีเงินทองกันทั่วหน้านะครับ

อีกทั้งเรายังเพิ่งผ่านวันครูมาหมาดๆ จึงขอสนทนาเรื่องที่เกี่ยวกับครูสักเรื่อง คือ … “การศึกษา”

เมื่อเร็วๆนี้ มีการส่งเรื่องราวในโลกโซเชี่ยลอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ฮือฮาอยู่ในกลุ่มการศึกษาหรือผู้เรียนกับผู้สอน นั่นคือ “ใครคิดการบ้าน”

และมีนิ้วหลายนิ้วจากหลายบทความ รุมกันชี้ไปที่ Roberto Nevillis ว่าเป็นคนต้นคิด แถมมีรูปประกอบเสร็จสรรพ ให้จำหน้าไว้เชียว ว่า อีตาคนนี้แหละที่ทำให้พวกเด็กๆลำบาก

ในเว็บต่างๆ อ้างว่าเป็นคนเวนิส ชาวอิตาลี แต่ปีที่สร้างการบ้าน ก็สับสนอยู่ว่า เป็นปี 1095 หรือ 1905 แล้วแต่ว่า ใครจะไปเปิดเว็บไหน

เมื่อไม่มีหลักฐาน บางคนจึงเชื่อว่า บุคคลนี้ไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องหลอกๆในอินเทอร์เน็ต ที่เดี๋ยวนี้มีมากมายจนกาลามสูตรแทบจะรับไม่ไหว ต้องตั้งสติให้ดีๆ

ถึงแม้ประวัติศาสตร์โลกจะไม่มีหลักฐาน ใครเป็นต้นคิด แต่ในศตวรรษที่ 19 ประวัติศาสตร์การศึกษาของสหรัฐอเมริกาเขายกอีกบุคคลหนึ่ง คือ Horace Mann ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการบ้าน

Horace Mann เป็นนักการเมืองและนักปฏิรูปการศึกษา (politician and educational reformer) ที่สนใจในเรื่องระบบการศึกษาร่วมสมัยในเยอรมัน เขาจึงเป็นหัวหอกในการพัฒนาและแก้กฎระเบียบต่างๆทางด้านการศึกษาของสหรัฐ รวมทั้งด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง เมื่อไปเยือนเยอรมันในปี 1843 เพื่อดูระบบการศึกษาในเยอรมันที่เรียกว่า “Volksschulen” (people’s school) หรือโรงเรียนของปวงประชา (นึกถึงรถโฟล์คขึ้นมาทีเดียว เพราะคำว่า โฟล์คสวาเกน หรือ Volkswagen เขียนเป็นคำอังกฤษได้ว่า folk’s wagon ที่แปลว่า รถของชาวบ้าน) ถ้าเป็นระบบแบบไทยเรา น่าจะคล้ายๆกับ โรงเรียนประชาบาล (พ.ศ. 2464~2523) ที่ผมเคยเรียนตอนเล็กๆ ที่เดี๋ยวนี้กลายเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติไปแล้ว

เมื่อ Horace Mann กลับอเมริกา เขาก็นำเอาหลักการทางการศึกษาของเยอรมัน รวมทั้ง … “การบ้าน” กลับมาด้วย

เด็กอเมริกันจึงต้องคร่ำเคร่งทำการบ้านกันมานานหลายสิบปี จนกระทั่งถึงปี 1901 ที่รัฐแคลิฟอร์เนียสั่งห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ขวบ ต้องทำการบ้าน (homework ban) และห้ามมานานถึงปี 1917

ว่ากันโดยรวม ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ค่อยชอบการบ้าน แต่ข้อดีก็มีอยู่เยอะ นักวิชาการด้านการศึกษาเขาอุตส่าห์สรุปข้อดีของการบ้านมาดังนี้

  • เวลา: ดูเหมือนว่า เวลาจะไม่เคยพอสำหรับครูที่ต้องการจะถ่ายทอดเนื้อหาให้ครบในชั้นเรียน และถ้าจะมอบหมายงานพิเศษ ยิ่งไปกันใหญ่ งานที่เด็กจะต้องทำด้วยตนเองคนเดียว (เช่น อ่านหนังสือ) หรือโครงการพิเศษ (เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์) ลักษณะเหล่านี้ จำเป็นต้องให้ทำเป็นการบ้าน เพื่อที่ว่า ในชั้นเรียนจะได้มีเวลาสำหรับกิจกรรมอย่างอื่น
  • การฝึกส่วนตัวเพิ่มเติม: ทุกคนรู้ดีว่า การจะเรียนรู้ได้ นักเรียนต้องมีการฝึกฝน การมีการบ้าน จะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกฝนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากชั้นเรียน มีการเรียนรู้หลายอย่างที่ต้องอาศัยการฝึกฝนซ้ำๆ บ่อยๆ เช่น การท่องตารางสูตรคูณของวิชาเลข หรือการฝึกอ่านในวิชาภาษาอังกฤษ สิ่งเหล่านี้หนีไม่พ้นที่ต้องอาศัยกิจกรรมที่เรียกว่า … “การบ้าน”
  • การแก้ปัญหาเด็กเป็นรายบุคคล: โดยให้ทำเป็นการบ้านเฉพาะเด็กคนนั้น ไม่ต้องทำในชั้นให้เป็นที่อับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมชั้น
  • รู้ศัพท์ก่อนเรียน: ในวิชาภาษาอังกฤษ ครูสอนภาษาบอกมาว่า การเรียนรู้ศัพท์ใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เคยมีการวิจัยว่า เด็กนักเรียนจะต้องได้เจอคำศัพท์ใหม่นั้น อย่างน้อย 17 ครั้ง ถึงจะได้เรียนรู้ศัพท์คำนั้น ก็ต้องอาศัย “การบ้าน” นี่แหละ เพื่อที่จะให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ก่อนเรียนจริง (pre-teach vocab) ด้วยการให้งาน การอ่าน หรือให้ค้นหาความหมาย และให้เขียนขึ้นมาใหม่ด้วยสำนวนของตัวเอง
  • ฝึกการเรียนรู้ชีวิต: การให้การบ้านโดยกำหนดวันเวลาส่ง (deadline) เป็นการฝึกเด็กให้เรียนรู้การบริหารเวลา รู้จักทำกำหนดการ และการจัดลำดับการทำอะไรก่อนหลังให้เป็นระบบ สำหรับเด็กบางคน แค่บอกให้กลับไปทำที่บ้าน แล้วพรุ่งนี้ค่อยมาส่ง ก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว จึงนับว่า การให้การบ้าน เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการจัดการ อันเป็นการเรียนรู้ชีวิตได้ดีทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานดูแลสุขภาพเด็กของอเมริกา (American Health Association) กลับเห็นต่าง ในปี 1930 หน่วยงานนี้แถลงออกมาว่า การบ้าน ถือเป็นการใช้แรงงานเด็ก (child labor) … เล่นแรงครับ !!

ทว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในช่วงทศวรรษ 1950s กลับทำให้สหรัฐไม่เย็นเหมือนสงครามเสียแล้ว แต่กลับร้อนขึ้นจากการแข่งขันระหว่างคนสองชาตินั้น รวมทั้งเด็กๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐถูกรัสเซียแซงด้วยการยิงดาวเทียม สปุตนิค 1 (Sputnik 1) ตัดหน้าออกไปได้ก่อนในปี 1957 … สหรัฐยอมไม่ด้าย!

กรรมของเด็กอเมริกัน เพราะถูกอัดการบ้านใหม่น่ะซีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไว้สู้กับเด็กรัสเซีย

แต่นานไป ในช่วงต้นทศวรรษที่ 21 การห้ามให้การบ้านมีกระแสกลับมาอีกแล้ว (Homework Ban Return) มีการนำเสนอการต่อต้านหลายกรณี อย่างเช่น …

“การบ้านทำร้ายเด็กของเราได้อย่างไรและเราจะทำอะไรได้บ้าง” นำเสนอโดย Sarah Bennett และ Nancy Kalish (2006)

“การปะทะกันในเรื่องการบ้าน: ระหว่างคณะกรรมการบริหาร ครู และผู้ปกครอง” (พิมพ์ครั้งที่ 3) โดย Dr. Harris Cooper นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Duke (2007)

“จุดจบของการบ้าน: การบ้าน ทำลายครอบครัว เด็กแบกรับเกินกำลัง และ จำกัดการเรียนรู้ ได้อย่างไร” โดย Dr. Etta Kralovac ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา และนักเขียนที่ชื่อว่า John Buell (2000)

ดังนั้น เรื่องการให้การบ้านเด็ก ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แม้กระทั่งทุกวันนี้

เด็กๆที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทำการบ้าน พวกเราอย่าไปโทษคนคิดระบบการบ้านขึ้นมาให้พวกเขาลำบากกันเลยนะครับ เพราะคนที่คิดการบ้านอาจจะไม่มีตัวตนจริงๆ

การบ้าน ที่ดูเหมือนจะไม่มีในคาถาเรียนเก่ง คือ สุ (สุต – ฟัง) จิ (จิต – คิด) ปุ (ปุจฉา – ถาม) และ ลิ (ลิขิต – จดจำ) แต่ดูดีๆ มันมีอยู่นะครับ อยู่ในข้อสุดท้ายนั่นไง เพราะการจด เพื่อให้จำ มันรวมถึงการเขียนเพื่อฝึกทำ (drill) หรือการทำการบ้านต่างๆ นั่นเอง

เรื่องการฝึก (drill) ที่เรียกง่ายๆว่าการบ้านนี้มีในทุกวงการไม่เพียงแต่ในการเรียนหนังสือ การทหารก็ยังมีการซ้อมรบ การกีฬาก็ยังต้องมีการฝึกซ้อม

แม้แต่การศาสนา ไม่ใช่แค่สวดมนต์ ไหว้พระ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม เท่านั้นนะครับ … ทางพระต้องมีสาม ป. จึงจะสำเร็จ (ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรอกครับ) คือ ปริยัติ (เรียน) ปฏิบัติ (ภาวนา) และ ปฏิเวธ (บรรลุ)

และหลายคนคงทราบแล้วว่า … เรียนสมาธิ (ปฏิบัติ) ยังต้องทำการบ้านเลยครับ

เขียนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของฝรั่งมาซะยาว ขอยกเรื่องราวของนักปฏิรูปการศึกษาของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในแถบเอเชียเรามาดูกันบ้างนะครับ

ต้องขอบคุณ “Closethegap” ที่ได้นำเรื่องของ “ฟุคุซาว่า ยูคิจิ (1835~1901) ลงใน Facebook ได้น่าสนใจว่า …

ฟุคุซาว่า ยูคิจิ เป็นนักปฏิรูปการศึกษาและนักการฑูตคนสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคใหม่ เป็นหนึ่งในคณะฑูตชุดแรกจากญี่ปุ่นที่ขึ้นเรือคันรินมารุเดินทางไปเยือนตะวันตก

ถึงแม้ ยูคิจิ จะมีพื้นเพมาจากซามูไรชั้นล่าง ทำงานรับใช้โชกุนโตกุกาวะ แต่เมื่อโตกุกาวะแพ้คณะปฏิรูป ยูคิจิ ก็ยังได้กลับมาทำงานให้กับรัฐบาลใหม่ เพราะเขามีความสามารถด้านวิทยาการตะวันตก

เขายังได้เขียนหนังสือ “ความคิดตะวันตก” เพื่อปฏิรูปการศึกษาญี่ปุ่นให้ทัดเทียมตะวันตก ตามแนวทางแบบอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะเขามองว่าญี่ปุ่น “ล้าหลังในด้านการศึกษา” และเสนอว่า คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ควรเป็นหลักสำคัญของประเทศด้วย

บั้นปลายของชีวิต ในปี 1890 เขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เคโอ เพื่อสร้าง “ผู้นำ” ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนประเทศ

หลังจากเขาเสียชีวิตลง ภาพของเขาได้รับการยกย่องขึ้นบนธนบัตร 10,000 เยน ซึ่งมีมูลค่าสูงสุด

ขอปิดท้ายด้วยสโลแกน ที่ …

CLOSE
THE
GAP

นำลงไว้ดังนี้ครับ …

ฟ้าไม่ได้สร้างให้ใคร
คนใดคนหนึ่ง
อยู่เหนือคนอื่น
แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่าง
คนฉลาดกับคนโง่
คนรวยกับคนจน
“คือการศึกษา”
… ฟุคุซาวะ ยูคิจิ

ขอกราบคารวะคุณครูทั้งหลายด้วยดวงใจครับ ๏๛

… @_@ …
วัชระ นูมหันต์
2023-01-22

Ref: encyclopedia.com/history/united-states-and-canada/us-history/homework
All Rights Reserved ©

ไฮโดรเจนเขียวอมฟ้า

⭕️ ⭕️ ⭕️

ตั้งชื่อให้หวือหวา ชวนงงไปอย่างนั้นเอง เพราะวันนี้ตั้งใจจะมาชวนคุยเรื่อง ไฮโดรเจนสีฟ้า (blue hydrogen) และ ไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen)

ไฮโดรเจนไม่มีสีนะครับ อย่าเข้าใจผิด เพียงแต่เราเอาสีเข้ามาเป็นเชิงเปรียบเทียบขยายความว่า ไฮโดรเจนที่เราผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นพลังงานนั้น มันดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยเรามักจะเทียบสิ่งแวดล้อมเหมือนต้นไม้ว่า เป็นสีเขียว (green evironment) แล้วเรียกพลังงานที่ได้มาโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมว่า พลังงานสีเขียว (green energy) บางคนเล่นคำว่า เป็นพลังงานทั้งเขียวและสะอาด (green & clean) ถ้าไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นมาเข้าข่ายนี้ ก็จะเรียกว่าเป็น ไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) อันเป็นแหล่งพลังงานของมนุษยชาติในอุดมคติ ที่เราพยายามจะไปให้ถึงในอนาคต

นั่นคือสีแรกที่ใช้เทียบผลกระทบของกระบวนการผลิตไฮโดรเจนต่อสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ว่านั่น ก็พูดกันอยู่ประการเดียวแหละ คือ โลกร้อน (global warming)

และก๊าชเรือนกระจกเพียงหนึ่งเดียวที่ตกเป็นจำเลยตลอดกาลที่ทำให้โลกร้อน คือ ก๊าซ CO2 (carbon dioxide)

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน กระบวนการผลิตพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่งหรือไฟฟ้า ส่วนมากแล้วเป็นการปล่อยก๊าซ CO2 สู่บรรยากาศแทบทั้งสิ้น

รถไฟฟ้า หรืออีวี (electric vehicle) ที่ว่ากันว่า ช่วยลดมลภาวะ เพราะไม่ปล่อย CO2 ก็ต้องมองย้อนทางขึ้นไปว่า ไฟฟ้าที่เอามาชาร์จนั้น มาจากไหน ถ้าเอามาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนเป็นหลัก บ้านเราไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไฟฟ้าจากแดดและลม รวมทั้งเขื่อน ก็มีนิดๆหน่อยๆ จึงไม่ได้ช่วยสักเท่าไหร่ เพราะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้น ต้องมีการปล่อย CO2 ออกไปในบรรยากาศแน่นอน

เมื่อกระแสของการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงบูมขึ้นมา เพื่อจะได้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่ปราศจาก CO2 เพราะไม่มี C (carbon) มาปน เมื่อรวมกับออกซิเจนเพื่อให้พลังงาน ไม่ว่าจะใช้เผาไหม้แบบธรรมดาแล้วเอาพลังงานความร้อนไปใช้ หรือจะใช้วิธีแลกอิออนแบบแบตเตอรี่ ที่เรียกว่า hydrogen fuel cell ก็จะกลายเป็นน้ำอย่างเดียว ซึ่งดูว่าดี แต่กลายเป็นว่า กระบวนการผลิตไฮโดรเจนนั่นเองแหละ ที่ปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่บรรยากาศ

หลายคนอาจจะรู้แล้วว่า การผลิตไฮโดรเจนวิธีหนึ่งสามารถทำได้ด้วยการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (electrolysis) ให้ออกมาเป็นก๊าซไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2)

ถ้าเป็นรายการโฆษณาขายของทางทีวี ก็จะต้องอุทานเป็นวลีฮิตว่า “โอ้! พระเจ้าจอร์จ!! มันยอดมาก” ทำอย่างนี้อย่างเดียวแหละ ตัดปัญหาได้หมดละมั้ง …

ไม่ได้หรอกครับ ในโลกของความเป็นจริงนั้น การผลิต H2 ด้วยวิธีนี้ ทั่วโลกทำกันราวๆ 5% เท่านั้น เพราะต้นทุนแพงมาก

อีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าไฟฟ้าที่เอามาใช้แยกน้ำนั้น มาจากเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมดาที่เป็นสารไฮโดรคาร์บอนจากซากพืชซากสัตว์ (fossil) มันก็หนีไม่พ้นที่จะปล่อย CO2 สู่บรรยากาศอยู่ดี

ยกเว้นเสียแต่ว่า การแยกไฮโดรเจนจากน้ำนั้น ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแดดและลม (renewable) โดยไม่ต่อพ่วงกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า (power grid) ที่มีศัพท์เรียกให้เห็นภาพว่าโดดเดี่ยวเหมือนถูกปล่อยเกาะ (island) ดังนั้น ไฮโดรเจนที่ผลิตด้วยวิธีนี้จึงจะเป็น green hydrogen อย่างแท้จริง

มาถึงไฮโดรเจนสีฟ้าบ้าง ที่ฝรั่งเรียกว่า “blue hydrogen” นั้น มันคืออะไร

มันก็คือไฮโดรเจนที่มีการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่ถึงกับเขียว แต่ก็มีสีใกล้เคียง คือสีฟ้า บอกความหมายว่า ถึงแม้การผลิตไฮโดรเจนแบบอุตสาหกรรมจากสารไฮโดรคาร์บอน เช่น มีเทน จากก๊าซธรรมชาติ จะกักเก็บคาร์บอนไว้ไม่ให้รวมกับออกซิเจนเป็น CO2 ออกสู่บรรยากาศ หรือถ้าในกระบวนการผลิต ทำให้เกิด CO2 ขึ้นมา ก็จะกักเก็บไว้ ไม่ปล่อยสู่บรรยากาศ แต่เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่นเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรือเครื่องดื่ม (เช่นเอาไปทำน้ำอัดลม)

สรุปว่า ไฮโดรเจนสีเขียว คือ ผลิตแล้วไม่เกิด CO2

ส่วน ไฮโดรเจนสีฟ้า ผลิตแล้วเกิด CO2 แต่กักเก็บไว้ ไม่ปล่อยสู่บรรยากาศ

ข้อดีของ ไฮโดรเจนสีฟ้า ก็คือ ต้นทุนการผลิตในปัจจุบัน ถูกกว่าสีเขียวมาก ถ้าเป้าหมายสุดท้ายปลายทางอยากได้ไฮโดรเจนสีเขียว ก็ต้องทำให้มันถูกลงมาให้ได้

มี สีเขียว และ สีฟ้า แล้ว สีอื่นๆเช่นสีแดง มีไหม

มีครับ เพราะไหนๆจะเล่นเรื่องสีแล้ว เขาเลยทำเสียเยอะแยะ เป็นสีรุ้งไปเลย

สมัยเด็กๆ ผมเคยเห็นเขาทำกังหันลมให้เด็กเล่น โดยทำจากกระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัส ออกมาเป็นกังหันลมที่มี 4 ใบพัด คนที่เขาแยกแยะสีของไฮโดรเจน คงจะนึกถึงกังหันลมที่เคยเล่นตอนเด็ก จึงทำรูปเป็นกังหันลมที่แต่ละใบพัดจะเป็นสีต่างๆ แน่นอนว่าต้องมีสีเขียวและสีฟ้า รวมทั้งสีแดงที่พูดถึงข้างบนนั่นด้วย แต่เพื่อให้แต่ละสีได้ครอบคลุมถึงการผลิตไฮโดรเจนในแบบต่างๆใบพัดจึงเกิน 4 ใบไปมาก คือมีถึง 12 ใบ ไม่รู้ว่าเขาทำใบพัดเยอะแยะเพื่อความสวยงามรึเปล่า เพราะผมดูคำจำกัดความแล้ว น่าจะลดจำนวนลงได้

ดูไปดูมา เพิ่งถึงบางอ้อ พอจะรู้ว่าทำไมเขาจึงทำเป็นรูปใบพัด … ก็เพราะกราฟฟิกรูปนี้ ทำมาจากผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น คือ MHI (Mitsubishi Heavy Industry) นั่นเอง เนื่องจากเขาก็ผลิตกังหันไอน้ำขนาดใหญ่ของโรงไฟฟ้าด้วย ซึ่งมีใบพัดเยอะแยะ

มาดูสีของใบพัดไฮโดรเจนแต่ละใบ พร้อมทั้งความหมาย กันดีกว่าครับ …

1 ขาว (white) เริ่มจากขาว คือเริ่มตั้งแต่เราไม่ทำอะไรเลย มันคือไฮโดรเจนที่พบตามธรรมชาติใต้ดิน

2 ทอง (gold) มีสีทองด้วย ซึ่งฝรั่งไม่มีในแถบสี สงสัยญี่ปุ่นจะได้รับอิทธิพลจากจีนที่ชอบมีสีทอง ไฮโดรเจนสีทอง หมายถึงการผลิตไฮโดรเจนจากการหมักจุลินทรีย์ในบ่อน้ำมันเก่า แล้วใช้กระบวนการดักจับ CO2 ให้มีปริมาณคาร์บอนเท่าเดิม (carbon neutrality)

3 น้ำตาล (brown) และ …

4 ดำ (black) ไฮโดรเจนสีน้ำตาลและดำทั้งสองอย่างนี้ เป็นการผลิตไฮโดรเจนแบบดั้งเดิม ที่ใช้ถ่านหิน หรือถ่านลิกไนต์ (black or brown coal) เป็นวัตถุดิบ จึงปล่อย CO2 ออกมามากมาย

5 เทา (gray) ไฮโดรเจนสีเทา (อย่าไปเทียบกับธุรกิจสีเทานะครับ คนละเรื่องกัน) เป็นการผลิตไฮโดรเจนที่ทำกันอยู่มากที่สุดในปัจจุบัน โดยผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และปล่อย CO2 น้อยกว่าการผลิตไฮโดรเจนแบบสีน้ำตาลและดำ

6 ฟ้าคราม (turquoise) ไฮโดรเจนฟ้าคราม เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตจากก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอนอย่างหนึ่ง จึงสามารถแยกออกได้เป็น ก๊าซไฮโดรเจนกับคาร์บอนที่เป็นของแข็ง โดยไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่บรรยากาศ

7 ฟ้า (blue) ไฮโดรเจนสีฟ้า เป็นการผลิตไฮโดรเจนที่นำเอาการผลิตแบบสีเทา (gray) ที่ทำกันมากที่สุดในตอนนี้ มารวมกับเทคโนโลยี่การจับคาร์บอน (carbon capture) เพื่อจะได้ปล่อย CO2 ออกไปในบรรยากาศให้น้อยที่สุด จึงเป็นวิธีหลักในการควบคุมลดปริมาณ CO2 ในบรรยากาศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

8 ม่วง (purple)

9 ชมพู (pink) และ …

10 แดง (red) การผลิตไฮโดรเจนที่ใช้โค้ดสีสามอย่างนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะแยกทำไม คงอาจจะดูว่า เพราะมันมีสีแดงปนเหมือนกันหมดละกระมัง เนื่องจาก การผลิตไฮโดรเจนที่มีสีแดงปนนี้ จะหมายถึงการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าให้ออกมาเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ไม่มี CO2 ออกมาเลย เช่นเดียวกันการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ทว่า แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่นำมาแยกน้ำนั้น จะมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

11 เหลือง (yellow) การผลิตโฮโดรเจนสีเหลือง เป็นการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าอีกเช่นเดียวกัน แต่เจาะจงว่า แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ต้องเป็นไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เท่านั้น

12 เขียว (green) อันสุดท้ายแล้ว เป็นการผลิตไฮโดรเจนในอุดมคติ ที่สังคมมนุษยชาติเราจะต้องถึงจุดนั้นให้ได้ ซึ่งเป็นการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า โดยแหล่งพลังงานไฟฟ้ามาจากพลังงานทางเลือก (renewable) เท่านั้น เพียงแต่ว่าตอนนี้มันแพง และพลังงานทางเลือกก็ยังถูกจำกัดจากสภาพภูมิประเทศในแต่ละที่แต่ละแห่งไป

สรุปว่า ไฮโดรเจนเขียว เหลือง และแดง ใช้การแยกน้ำด้วยไฟฟ้าทั้งหมด ต่างกันแต่แหล่งพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น ว่า มาจากไหน

สังคมโลกในตอนนี้ เท่าที่ติดตามข่าว ดูว่าญี่ปุ่น น่าจะเป็นประเทศที่ผลักดันเรื่องพลังงานไฮโดรเจนมากที่สุด

โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ก็ชูประเด็นรถยนต์ไฮโดรเจนมาตลอด

MHI (Mitsubishi Heavy Industry) ผู้ผลิตโรงไฟฟ้ารายใหญ่ ก็จ้องจะสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง

สดๆร้อนๆ เมื่อวันคริสต์มาสที่ผ่านมานี่เอง (2022-12-25) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Yasutoshi Nishimura Japan’s Minister of Economy, Trade and Industry) ได้บินไปช้อปปิ้งหาซื้อแหล่งพลังงานถึงเมืองริยาด (Riyadh) ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฮโดรเจนและแอมโมเนียกับรัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia’s energy minister Prince Abdulaziz bin Salman) เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของญี่ปุ่นในอนาคต

อดีตที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ขายน้ำมัน (supplier) ให้ญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุด (40%)

ก่อนหน้านั้นเพียงเดือนเดียว ซาอุก็มาจีบไทยเพื่อที่จะจับมือกันพัฒนาเป็นแหล่งผลิตไฮโดรเจนป้อนตลาดในแถบนี้ โดยมองว่า ไฮโดรเจนจะเป็นแหล่งพลังงานในอนาคต ที่จะเข้ามาแทนน้ำมัน ทั้งด้านการขนส่ง (transportation) และไฟฟ้า (electricity) นำโดยองค์กรรัฐวิสาหกิจสองแห่ง คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งทั้งสองหน่วยงาน กำกับดูแลโดยกระทรวงพลังงาน

ในเดือนพฤศจิกายน ACWA Power บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ได้มาเซ็นสัญญา MoU (Memorandum of Understanding) กับ ปตท. และ กฟผ. เพื่อสร้างโรงผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) ขนาดใหญ่ในประเทศไทย มูลค่ากว่าสองแสนล้านบาท (US$7 billion) เพื่อผลิต green hydrogen ปีละประมาณ 225,000 ตัน (ประมาณเท่ากับ green ammonia 1.2 ล้านตัน)

ตอนนี้ ACWA Power ของซาอุกำลังลุยหนัก เพราะเพิ่งจะเซ็นสัญญากับอินโดนีเซียเพียงสัปดาห์เดียวก่อนจะมาไทยเพื่อร่วมกันพัฒนา green ไฮโดรเจน และ green แอมโมเนีย และครึ่งปีแรกก็ไปเซ็นสัญญาหลายพันล้านกับประเทศโอมาน เพื่อสร้างโรงงาน green แอมโมเนีย

เราคงได้เห็นบทบาทของไฮโดรเจนมากขึ้นเรื่อยๆในฐานะแหล่งพลังงานในอนาคต เพราะดูได้จากแนวโน้มของโลก บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้งหลายก็เริ่มหันมามองธุรกิจทางด้าน green hydrogen มากยิ่งขึ้น เช่น Shell, Adani และ TotalEnergies ซึ่งต่างก็ลงเงินในธุรกิจด้านนี้ไปแล้ว หลายพันล้านดอลลาร์

ถึงแม้เมืองไทยเราเพิ่งจะเริ่มกันแค่ศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) แต่ก็ยังไม่สาย เพราะหนทางยังอีกยาวไกล

แต่บทบาทของรัฐก็คงเอาแน่ เพราะเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กฟผ.ก็ขนกองทัพบริษัทในเครือมาทั้งหมด (EGAT group : EGCO, RATCH, EGAT international and INNOPOWER) มาร่วมลงนาม MoU กับ กระทรวงการลงทุนของซาอุดิอาระเบีย (MISA: Ministry of Investment of Saudi Arabia by Mr. Fahad J. Alnaeem, Ministry Deputy for Investments) เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาด (clean energy)

เมื่อรัฐนำร่อง เอกชนก็ต้องจับตา รอดูว่าหมู่หรือจ่า ถ้าเป็นนายร้อย ก็เฮงไป อยากได้ไฮโดรเจนเขียว อาจจะต้องเป็นเขียวอมฟ้าไปก่อนสักพักละกระมังครับ ๏๛

… @_@ …
วัชระ นูมหันต์
2023-01-15

Ref: spectra.hi.com/hydrogen-production-is-it-better-to-go-green-or-blue-or-green-and-blue
All Rights Reserved ©

ภาษาไทยน่ารัก

⭕️ ⭕️ ⭕️

ยังอยู่ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ขอประเดิมเริ่มวันที่สดใสด้วยเรื่องสั้นๆ เบาๆ นะครับ

เมื่อวันก่อน ได้รับคลิปจากเพื่อน เป็นเพลงแร็ปร่วมสมัยวัยรุ่น ฟังแล้วเตะหู … เข้าท่าดี

ที่ไปที่มาก็คือ กระทรวงวัฒนธรรม จัดประกวดเพลงแรป ออกแนววัยรุ่น ชื่อตีม (theme) ว่า รักนะจ๊ะ ภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ (29 กรกฎาคม) โดยเปิดรับผลงานสื่อสร้างสรรค์จากเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปีในนามบุคคล หรือทีม ตั้งแต่วันที่ 10 – 30 มิถุนายน 2565 มีผู้คนสนใจ ส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม มากถึง 188 ผลงาน

ทุกรางวัลจะได้รับโล่นายกรัฐมนตรีและเกียรติบัตรจากกระทรวงวัฒนธรรม เงินรางวัลรวม 120,000 บาท

คลิปที่ผมได้รับจากเพื่อน ชื่อ “บอกรักภาษาไทย” เป็นผลงานของทีม “โวหารชาญสมร” คว้ารางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 50,000 บาท

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง ได้แก่ เพลง “คุณค่าภาษาและความเป็นไทย” ผลงานทีมวัยรุ่นพันธุ์ไทย รางวัลรองชนะเลิศ อันดับสอง ได้แก่ เพลง “ฮักไทยขนาด” ผลงานทีม CT FLOW X PJ และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ เพลง “พาสาทัย” ผลงานนางสาวธรรมมาตา เนาวพรพรรณ และผลงาน “หวงแหน” ทีม Rise of New Gen

ด้วยความที่คลิปที่ได้รับมันมีอายุ พอนานไปจะเปิดฟังไม่ได้ ก็เลยพยายามจะไปหาที่เป็น YouTube จะได้ฟังได้นานๆ พยายามหาก็เจอแต่ผลงานคนอื่นๆ ซึ่งผู้ทำก็คงตั้งใจทำแหละ แต่ผลงานยังไม่เข้าตากรรมการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเสียดายก็บังเกิด อยากจะเก็บข้อความไว้ … จะทำอย่างไรดีล่ะ

ใช้วิธีฟังแล้วหยุดเป็นช่วงๆ เพื่อจดคัดลอกเอาครับ … นานหน่อย แต่ก็เสร็จจนได้

นี่เลยครับ ผลงานรางวัลชนะเลิศ …

ภาษาไทยนี่ มีมานานนม
ก็ใช้ทั้งสื่อความหมาย สื่ออารมณ์
ถึงจะมีมาหลายปี แต่ก็ยังไม่โบราณ
ไม่ว่าจะสื่อกี่สาร ก็ยังสามารถบันดาลดล
ใช้เอ่ยเป็นคำชม เพื่อปลอบคนใจพัง
เอ่ยเป็นคำหวาน เพื่อหยอดคนวัยมันส์
บางคนยังสงสัย เอ้า แล้วทำไมกัน?
สรุปภาษาไทย มันดียังไงลองไปฟัง
เพราะภาษาไทย มีหลายคำให้เลือกใช้
เช่นคำว่า รัก ปลื้ม ชอบ หลงใหล หรือคลั่งไคล้
อยากบอกว่า “รักนะ” แต่พูดตรงๆมันเขินจ้า
งั้นถามอ้อมๆก็ได้ว่า “อยากมีเราอยู่ข้างๆมั้ย ?”
ภาษาไทยช่วยเพิ่มลูกเล่นให้ชีวิต
จะพลิกวจีไซร้ ก็ต้องใช้วิธีคิด
เขียนเพลงดัง ยิ่งต้องประพันธ์ให้มิดชิด
กวีทุกคนจึงต้องประลอง เพื่อครอบครองวลีฮิต
ผันวรรณยุกต์ก็บันเทิงใจ เพลินใจ
เปลี่ยนเสียงคำให้มันรื่นเริงใจ
คำคำเดียว แต่ว่าเสียงต่างกัน
เอามาผันมันก็เท่เกินใคร
ตัวอย่างเช่น ไมค์ ใหม่ ไหม้ มั้ย ไหม
เป็นประโยคถามน้องไหมว่า
ไมค์ใหม่ ไหม้มั้ย
ไหม้หรือไม่ ?
ไม่ไหม้หรือ
สรุปแล้วคือ ไมค์ใหม่ไหม้มั้ย
ภาษาไทย ทำให้คุยสะดวก
ให้ชาวไทยสื่อสาร ไวเหมือนติดจรวด
นี่ภาษาใช้เอง นี่มันดีนักหนา
ลองเปลี่ยนไปคุยภาษาหมาสิ โอ๊ย หัวจะปวด (เอานะ)
ข้อดีก็มีอยู่ถมไป
ทั้งที่น่ารัก แล้วก็น่าสนใจ
ฟังถึงตอนนี้ คงไม่ต้องไปถามใคร
ตะโกนดังๆออกมาเลย ว่ารักนะจ๊ะภาษาไทย (ๆๆๆ)

ถ้าบอกว่ารักเธอเป็นภาษาไทย
ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากนะเออ
แค่อยากให้รู้ไปว่าฉันชอบเธอ
ให้รู้ว่าแอบ สนใจ
ถ้าหากอยากรับ ฉันไปเป็นเนื้อคู่
ก็อยากให้รู้ ว่าฉันไม่เหมือนใคร
คนอื่นชวนเที่ยว พาไปดูหนัง
แต่ว่าตัวฉันชวนเธอเรียนภาษา ไทย


อุตส่าห์พิมพ์คัดลอกเนื้อเพลงจนเสร็จ ด้วยความเสียดาย เกรงว่าจะสูญหาย กลับไป search หาเล่นๆในยูทูปอีก อ้าวเจอแล้ว! ดีเลย FC จะได้ฟังของจริง แต่ก็ขออนุญาตคงเนื้อเพลงไว้อย่างนี้แหละนะครับ เพราะจะลบทิ้งก็เสียดายแรงงาน (man hour) ที่อุตส่าห์นั่งทำตั้งนาน เทียบกับเพลงอื่นๆหลายๆเพลงเขายังมี lyrics ให้อ่านด้วย

เอาเถอะ มีเนื้อเพลงหน่อยก็ดี เผื่อใครมีเวลาหัดท่องจำไว้ให้สาวเจ้าได้ทึ่ง ในวันที่โลกเป็นสีชมพูกลางเดือนหน้า ก็เข้าท่าดีนะ

ทว่า สาวๆที่ชื่อ “ใหม่” เหมือนในเพลง หรือใครก็ตามที่ชื่อตัวเองใช้สระใอ (ไม้ม้วน) จะมีคนไหนที่รู้ว่า โบราณเขาไม่ได้ออกเสียงสระใอเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ แต่เขาออกเสียงเป็น “อา-เออ” (ออกเสียงยากหน่อย)

คำที่ใช้ไม้ม้วน 20 คำ ถึงต้องบังคับให้เด็กท่อง หรือผูกเป็นกลอนให้จำง่าย

เนื่องจากพวกเราออกเสียงสระใอ (ไม้ม้วน) เหมือนสระไอ (ไม่มลาย) คือ “อา-เอ” ที่ออกเสียงง่ายกว่า ไปเสียทั้งหมดนี่ครับ ๏๛

… @_@ …
วัชระ นูมหันต์
2023-01-08

Ref: https://youtu.be/0fjxd3gTkmE
All Rights Reserved ©

สวัสดีปีใหม่

⭕️ ⭕️ ⭕️

วันนี้เป็นวันแรกของปีพอดี ขอให้สุขี สุขี เนื่องในวันขึ้นปีใหม่กันทุกท่านนะครับ

หน้าหนาวรับปีใหม่ในปีนี้ ดูเหมือนจะเป็นปีที่หนาวใช้ได้ปีหนึ่ง ในฐานะที่อยู่เมืองไทยอันเป็นเมืองร้อน ก็ย่อมจะตื่นเต้นชอบใจเป็นธรรมดา ดูข่าวต่างประเทศ มีหิมะตกหนามากในญี่ปุ่น บางแห่งทำลายสถิติ (all time record) กันเลยทีเดียว

เมืองไทย ไม่มีหิมะตก แต่ผมก็ยังพลอยตื่นเต้นไปกะเขาด้วย

เวลาเขาพยากรณ์อากาศว่าวันไหนจะมีหิมะตก ก็จะทำสัญลักษณ์เป็นรูปดาวหกแฉกที่คุ้นตา คนดูรู้เลยว่า อ้อ-นี่คือเกล็ดหิมะ (snowflake)

ทำไมเกล็ดหิมะจึงมีหกแฉก ?

ครับ – หกแฉกจริงๆ ไม่ใช่ว่าศิลปินจินตนาการวาดขึ้นมาให้ดูสวยๆ

คำถามนี้ มีคนพยายามหาคำตอบกันมานาน

เมื่อ 412 ปีมาแล้ว (ค.ศ. 1611) Johannes Kepler นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ได้เขียนบทความสั้นๆ เป็นของขวัญปีใหม่ ให้เจ้านายของเขา คือ Holy Roman Emperor Rudolf II เรื่อง “เกล็ดหิมะหกมุม” (The Six-Cornered Snowflake) แต่ตอนนั้น องค์ความรู้เรื่องอะตอมของน้ำยังไม่มี เขาจึงได้แต่ไปเปรียบเทียบกับของใหญ่ๆ เช่น ลูกกระสุนปืนใหญ่ ว่าถ้าเอากองเรียงๆกัน มันก็จะได้รูปหกเหลี่ยม พอผู้คนรู้เรื่องอะตอมมากขึ้น การเปรียบเทียบกับกระสุนปืนใหญ่นี้จึงตกไป

มาปีนี้ ผมก็บังเอิญคิดจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับเกล็ดหิมะ เพราะสงสัยมานานว่า ทำไมมันถึงมีหกแฉก เพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านอยู่พอดี แถมมีข้อมูลมากกว่า Kepler เนื่องจากผมถามอากู๋ (Google) ให้คอยช่วยตอบ จนได้เรื่องราวดังนี้ครับ …

โมเลกุลของน้ำ มีไฮโดรเจนสองอะตอม และออกซิเจนหนึ่งอะตอม อิเล็กตรอนวงรอบนอกของไฮโดรเจนมีเพียงหนึ่งเดียว ต้องการอีกหนึ่งให้ครบสอง ถึงจะเสถียร ส่วนอิเล็กตรอนวงรอบนอกของออกซิเจนมีหก ต้องการอีกสองจึงจะครบแปดถึงจะเสถียรเหมือนกัน

อิเล็กตรอนของไฮโดรเจน จึงเป็นมือปืนรับจ้าง วิ่งรอกรับสองจ็อบ ทั้งไฮโดรเจนและออกซิเจน และมีอิเล็กตรอนของออกซิเจนอีกสองตัว ประจำไฮโดรเจนละตัว รับสองจ็อบอย่างนี้เหมือนกัน (ภาษาเคมีเขาเรียก covalent bond)

ออกซิเจนจึงมีอิเล็กตรอนที่ไม่ได้รับจ็อบพิเศษอีกสี่ตัว หรือสองคู่ (lone pair) เพราะอิเล็กตรอนชอบอยู่เป็นคู่

ผลก็คือ โมเลกุลของน้ำจะมีลักษณะพิเศษ มีอะตอมออกซิเจนลูกใหญ่ (8 proton, 8 neutron) อยู่ตรงกลาง สองแขนกางออก (104.5 องศา) จับเกาะเกี่ยวอะตอมเล็กๆของไฮโดรเจน (1 proton) ไว้อย่างแข็งแรง (covalent bond) พร้อมทั้งผลักให้ อิเล็กตรอนคู่ผู้หงอยเหงา (lone pair) ทั้งสองคู่ กระเด็นไปอยู่อีกฟากหนึ่งของอะตอมออกซิเจน

ลองเปรียบเทียบกับของที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยดีกว่า จะได้เห็นภาพได้ง่าย สมมุติว่า โลก เป็นอะตอมของออกซิเจนก็แล้วกัน ส่วนอะตอมของไฮโดรเจน ก็เป็นดาวเทียมสื่อสารสองดวงที่ลอยนิ่งอยู่บนท้องฟ้าเหนือประเทศฝรั่งเศสดวงหนึ่งและเหนือญี่ปุ่นอีกดวงหนึ่ง จะได้อยู่ในเส้นรุ้งเดียวกัน เหนือเส้นศูนย์สูตรใกล้เคียงกัน ส่วนอิเล็กตรอนคู่ทั้งสองคู่นั้น คู่หนึ่งถูกดันไปอยู่อาร์เจนตินา ส่วนอีกคู่ไปอยู่สหรัฐ ให้อยู่ในเส้นแวงเดียวกัน อเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ (เลือกประเทศที่แข่งฟุตบอลโลก จะได้นึกกันออก)

ทั้งสี่ประเทศนี้ เสมือนแทนอะตอมไฮโดรเจนสองตัวและอิเล็กตรอนเหงาสองคู่ ห้อมล้อมโลกคือออกซิเจน

สี่จุด อยู่คนละมุมโลกอย่างนี้ เขาเรียกว่า “ทรงสี่หน้า” หรือ “พีระมิดสามเหลี่ยม” (tetrahedral) คือพีระมิดที่มีฐานเป็นรูปสามเหลี่ยม จะมีสามเหลี่ยมสี่รูป ประกบติดกัน

รูปร่างของพีระมิดสามเหลี่ยมนี้ ให้นึกถึงผลส้มสี่ลูกก็ได้ วางรวมสามลูกไว้ที่พื้น แล้ววางอีกลูกหนึ่งข้างบน ก็จะเป็นรูปสามเหลี่ยมสี่รูปเหมือนกัน

แต่นึกถึงส้มสี่ลูกที่ติดกันนี่ ช่องว่างภายในระหว่างส้มทั้งสี่มันเล็กไปหน่อย ถ้าจะใช้เปรียบเทียบกับอะตอมออกซิเจนซึ่งใหญ่กว่าอะตอมของไฮโดรเจน

งั้นเทียบกับกล่องน้ำส้มในอดีตดีกว่า …

สมัยก่อน มีน้ำผลไม้รสส้มอยู่ยี่ห้อหนึ่ง คือ เพียว (pure) กล่องบรรจุไม่เหมือนใคร เพราะเป็นรูปพีระมิดสามเหลี่ยม (ใครเกิดทันบ้าง)

กล่องน้ำส้มเพียวนี่แหละ ที่เสมือนว่าหุ้มอะตอมออกซิเจนไว้ภายใน และมุมทั้งสี่ เสมือนว่า มีสองมุมที่เป็นอะตอมไฮโดรเจน และอีกสองมุมเป็นอิเล็กตรอนเปล่าเปลี่ยว (lone pair) ของออกซิเจนมาจับจองมุมละคู่

ผลสุดท้าย โมเลกุลน้ำรูปร่างประหลาดนี้ จึงกลายเป็นวัสดุสองขั้ว กล่าวคือ ขอบที่มีอะตอมไฮโดรเจนจะเป็นขั้วบวก เพราะมีประจุบวกของโปรตอนอยู่ ส่วนขอบอีกฟากหนึ่งจะเป็นขั้วลบ เพราะมีอิเล็กตรอนออกซิเจนอยู่

นึกถึงแท่งแม่เหล็กก็ได้ ที่ว่า เมื่อมาอยู่ใกล้ๆกัน ขั้วบวกย่อมดูดติดกับขั้วลบ

ดังนั้น โมเลกุลของน้ำ เมื่อมาอยู่ใกล้ๆกัน เช่นกรณีของผลึกน้ำแข็งในเกล็ดหิมะ ขั้วบวกคือมุมที่มีไฮโดรเจนของโมเลกุลตัวหนึ่ง ก็ย่อมจะดูดให้มาใกล้กับขั้วลบคือมุมที่มีอิเล็กตรอนออกซิเจนของโมเลกุลอีกตัวหนึ่ง

แรงดูดยึดหรือพันธะ (bond) ระหว่างประจุบวกประจุลบ อันเป็นผลจากอะตอมของไฮโดรเจนนี้ จึงเรียกว่า “ไฮโดรเจนบอนด์” (H-bond) ซึ่ง ถึงแม้จะไม่แรงเท่า “โควาเลนต์บอนด์” (covalent bond) แต่ก็แรงใช้ได้ทีเดียว

จะเป็นยังไง ถ้าโมเลกุลน้ำมาเกาะกันในลักษณะนี้มากขึ้น … มันจะเกาะกันเป็นแผ่นทรงหกเหลี่ยม (hexagon) ครับ

ดังนั้น ผลึกใจกลางเกล็ดหิมะจึงเหมือนกันหมดคือ เป็นจานหกเหลี่ยมจิ๋ว ปลิวอยู่กลางนภากาศ

ทว่า หลังจากนั้นสิครับ กว่าเกล็ดหิมะจิ๋วเหล่านี้จะตกลงมาด้วยแรงโน้มถ่วง มันได้ผ่านบรรยากาศต่างๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านความชื้นของชั้นบรรยากาศแต่ละแห่งที่แตกต่างกันไปอย่างมากมายกว่าจะถึงพื้นโลก

ความแตกต่างของบรรยากาศนี่เอง ที่ทำให้เกล็ดหิมะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป

แม้ว่า ตรงปลายมุมจานหกเหลี่ยมของเกล็ดหิมะ โดยมากจะเป็นจุดที่ผลึกน้ำแข็งงอกขยายตัวออกไปง่ายที่สุด แต่รูปร่างลักษณะก็ไม่เหมือนกันอีก ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของบรรยากาศรอบตัวมันในขณะนั้น สองประการ คือ อุณหภูมิ และ ความชื้น

ช่วงทศวรรษ 1930s Ukichiro Nakaya นักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่น ร่วมกับทีมงาน ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของเกล็ดหิมะ อันเนื่องมาจากอุณหภูมิและความชื้น ได้ผลสรุปออกมาเป็นแผนภาพอันหนึ่ง เรียกว่า “ไดอะแกรมรูปร่างผลึกหิมะ” (Snow Crystal Morphology Diagram) ซึ่งบางครั้งก็เรียกสั้นๆตามชื่อหัวหน้าทีมว่า “ไดอะแกรมนากาย่า” (Nakaya Diagram)

ไดอะแกรมดังกล่าว จะรวบรวมผลึกเกล็ดหิมะรูปร่างลักษณะต่างๆ ว่ามันมักจะเกิดในช่วงอุณหภูมิเท่าไหร่ และความชื้นเท่าไหร่ โดยการสร้างหิมะเทียมในห้องแลปขึ้นมา และปรับเปลี่ยนอุณหภูมิและความชื้นไปที่ค่าต่างๆ แล้วดูรูปร่างลักษณะของหิมะเทียมที่เกิดขึ้น

แม้ว่าผลึกหิมะ ที่เริ่มจากจานหกเหลี่ยม จะมีรูปร่างแตกต่างมากมายหลายหลาก แต่อาจจะสรุปรวบได้เป็นสองอย่างคือ ขยายในแนวนอน คือเพิ่มขนาดจานใหญ่ขึ้นเป็นแผ่น (plates) และขยายในแนวตั้ง ยาวขึ้นเป็นแท่ง (columns)

หลักการในไดอะแกรมนี้ พอจะสรุปได้เป็นสองอย่าง คือ …

  1. อุณหภูมิ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของผลึกหิมะอย่างมาก รูปแผ่นบาง จะเริ่มเกิดที่อุณหภูมิ -2 องศาเซลเซียส พออุณหภูมิถึง -6 องศา จะกลายเป็นแท่งผอมยาว พอเย็นลงไปอีก ถึง -15 องศา จะกลับกลายมาเป็นแผ่นใหญ่ และถ้าอุณหภูมิเย็นลงต่ำกว่านี้ คราวนี้จะขยายทั้งแนวตั้งและแนวนอน กลายเป็นผลึกปนกันทั้งแบบแผ่นและแบบแท่ง
  2. ความชื้น ถ้าต่ำ ผลึกจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมีรูปร่างเรียบง่าย แต่ถ้าความชื้นสูง จะเกิดผลึกอย่างรวดเร็วมาก และรูปร่างก็จะแปลกประหลาดพิสดาร แตกกิ่งก้านสาขาออกไปไม่เหมือนใคร สลับซับซ้อนมาก

คุณ สหัส รามจันทร์ (Sahaj Ramachandran) ชาวอินเดียที่เขียนอธิบายเรื่องเกล็ดหิมะ (snowflake) เหล่านี้ เป็นวิศวกร แต่สรุปบทส่งท้ายเหมือนนักปรัชญาว่า …

ชีวิตคนเราก็เหมือนเกล็ดหิมะ เริ่มแรกที่คนเราทุกคนเกิดมาก็จะบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตอะไรเลย

เริ่มต้นสมบูรณ์แบบ เหมือนเกล็ดหิมะเมื่อก่อกำเนิดขึ้นมาใหม่ๆ ที่เป็นรูปจานหกเหลี่ยมเหมือนกัน

เมื่อชีวิตคนเราผ่านไป ย่อมผ่านเรื่องราว ทั้งดีและร้าย รวมทั้งอุปสรรคและขวากหนาม สั่งสมประสบการณ์ต่างๆมามากมาย เช่นเดียวกับเกล็ดหิมะที่เจออุณหภูมิและความชื้นเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างทางที่ตกลงมา

สิ่งเหล่านั้นจะค่อยๆทำให้เราแต่ละคนเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับเกล็ดหิมะซึ่งแต่ละชิ้นจะสั่งสมผลึกไม่เหมือนกันเลย อย่างมากก็แค่คล้ายกันเท่านั้น

พวกเราแต่ละคนต่างก็ผ่านความสบายและความลำบากมาแล้ว และเราก็จะเป็นเพียงหนึ่งเดียวในโลกนี้ ที่ไม่มีใครเหมือนใคร

ถ้าเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นยุคหน้ากากเสือ ก็ต้องตบท้ายว่า … “สู้ต่อไปนะ ทาเคชิ” (เดาอายุคนเขียนได้เลย – ฮ่า)

ก่อนจบ ขอตบท้ายอวยพรกันอีกรอบนะครับ … ขอให้สุขสันต์วันปีใหม่ ให้รื่นเริงสุขสำราญ เหมือนดอกไม้บานยามเช้ากันทุกท่านทุกคน เทอญ ๏๛

… @_@ …
วัชระ นูมหันต์
2023-01-01

Ref: http://snowcrystals.com/
All Rights Reserved ©

Design a site like this with WordPress.com
Get started