การศึกษา

⭕️ ⭕️ ⭕️

ต้นปีนี้ วันอาทิตย์ที่ผมส่งเรื่องออก ปรากฏว่า jackpot ตรงกับวันสำคัญหลายเทศกาล นอกจากจะอวยพรให้สุขสันต์วันคริสต์มาส สุขสันต์วันปีใหม่แล้ว ก็ขอแถมสัปดาห์นี้ให้ด้วยครับ ขอให้สุขสันต์วันตรุษจีน สุขีสุขี มั่งมีเงินทองกันทั่วหน้านะครับ

อีกทั้งเรายังเพิ่งผ่านวันครูมาหมาดๆ จึงขอสนทนาเรื่องที่เกี่ยวกับครูสักเรื่อง คือ … “การศึกษา”

เมื่อเร็วๆนี้ มีการส่งเรื่องราวในโลกโซเชี่ยลอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ฮือฮาอยู่ในกลุ่มการศึกษาหรือผู้เรียนกับผู้สอน นั่นคือ “ใครคิดการบ้าน”

และมีนิ้วหลายนิ้วจากหลายบทความ รุมกันชี้ไปที่ Roberto Nevillis ว่าเป็นคนต้นคิด แถมมีรูปประกอบเสร็จสรรพ ให้จำหน้าไว้เชียว ว่า อีตาคนนี้แหละที่ทำให้พวกเด็กๆลำบาก

ในเว็บต่างๆ อ้างว่าเป็นคนเวนิส ชาวอิตาลี แต่ปีที่สร้างการบ้าน ก็สับสนอยู่ว่า เป็นปี 1095 หรือ 1905 แล้วแต่ว่า ใครจะไปเปิดเว็บไหน

เมื่อไม่มีหลักฐาน บางคนจึงเชื่อว่า บุคคลนี้ไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องหลอกๆในอินเทอร์เน็ต ที่เดี๋ยวนี้มีมากมายจนกาลามสูตรแทบจะรับไม่ไหว ต้องตั้งสติให้ดีๆ

ถึงแม้ประวัติศาสตร์โลกจะไม่มีหลักฐาน ใครเป็นต้นคิด แต่ในศตวรรษที่ 19 ประวัติศาสตร์การศึกษาของสหรัฐอเมริกาเขายกอีกบุคคลหนึ่ง คือ Horace Mann ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการบ้าน

Horace Mann เป็นนักการเมืองและนักปฏิรูปการศึกษา (politician and educational reformer) ที่สนใจในเรื่องระบบการศึกษาร่วมสมัยในเยอรมัน เขาจึงเป็นหัวหอกในการพัฒนาและแก้กฎระเบียบต่างๆทางด้านการศึกษาของสหรัฐ รวมทั้งด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง เมื่อไปเยือนเยอรมันในปี 1843 เพื่อดูระบบการศึกษาในเยอรมันที่เรียกว่า “Volksschulen” (people’s school) หรือโรงเรียนของปวงประชา (นึกถึงรถโฟล์คขึ้นมาทีเดียว เพราะคำว่า โฟล์คสวาเกน หรือ Volkswagen เขียนเป็นคำอังกฤษได้ว่า folk’s wagon ที่แปลว่า รถของชาวบ้าน) ถ้าเป็นระบบแบบไทยเรา น่าจะคล้ายๆกับ โรงเรียนประชาบาล (พ.ศ. 2464~2523) ที่ผมเคยเรียนตอนเล็กๆ ที่เดี๋ยวนี้กลายเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติไปแล้ว

เมื่อ Horace Mann กลับอเมริกา เขาก็นำเอาหลักการทางการศึกษาของเยอรมัน รวมทั้ง … “การบ้าน” กลับมาด้วย

เด็กอเมริกันจึงต้องคร่ำเคร่งทำการบ้านกันมานานหลายสิบปี จนกระทั่งถึงปี 1901 ที่รัฐแคลิฟอร์เนียสั่งห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ขวบ ต้องทำการบ้าน (homework ban) และห้ามมานานถึงปี 1917

ว่ากันโดยรวม ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ค่อยชอบการบ้าน แต่ข้อดีก็มีอยู่เยอะ นักวิชาการด้านการศึกษาเขาอุตส่าห์สรุปข้อดีของการบ้านมาดังนี้

  • เวลา: ดูเหมือนว่า เวลาจะไม่เคยพอสำหรับครูที่ต้องการจะถ่ายทอดเนื้อหาให้ครบในชั้นเรียน และถ้าจะมอบหมายงานพิเศษ ยิ่งไปกันใหญ่ งานที่เด็กจะต้องทำด้วยตนเองคนเดียว (เช่น อ่านหนังสือ) หรือโครงการพิเศษ (เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์) ลักษณะเหล่านี้ จำเป็นต้องให้ทำเป็นการบ้าน เพื่อที่ว่า ในชั้นเรียนจะได้มีเวลาสำหรับกิจกรรมอย่างอื่น
  • การฝึกส่วนตัวเพิ่มเติม: ทุกคนรู้ดีว่า การจะเรียนรู้ได้ นักเรียนต้องมีการฝึกฝน การมีการบ้าน จะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกฝนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากชั้นเรียน มีการเรียนรู้หลายอย่างที่ต้องอาศัยการฝึกฝนซ้ำๆ บ่อยๆ เช่น การท่องตารางสูตรคูณของวิชาเลข หรือการฝึกอ่านในวิชาภาษาอังกฤษ สิ่งเหล่านี้หนีไม่พ้นที่ต้องอาศัยกิจกรรมที่เรียกว่า … “การบ้าน”
  • การแก้ปัญหาเด็กเป็นรายบุคคล: โดยให้ทำเป็นการบ้านเฉพาะเด็กคนนั้น ไม่ต้องทำในชั้นให้เป็นที่อับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมชั้น
  • รู้ศัพท์ก่อนเรียน: ในวิชาภาษาอังกฤษ ครูสอนภาษาบอกมาว่า การเรียนรู้ศัพท์ใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เคยมีการวิจัยว่า เด็กนักเรียนจะต้องได้เจอคำศัพท์ใหม่นั้น อย่างน้อย 17 ครั้ง ถึงจะได้เรียนรู้ศัพท์คำนั้น ก็ต้องอาศัย “การบ้าน” นี่แหละ เพื่อที่จะให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ก่อนเรียนจริง (pre-teach vocab) ด้วยการให้งาน การอ่าน หรือให้ค้นหาความหมาย และให้เขียนขึ้นมาใหม่ด้วยสำนวนของตัวเอง
  • ฝึกการเรียนรู้ชีวิต: การให้การบ้านโดยกำหนดวันเวลาส่ง (deadline) เป็นการฝึกเด็กให้เรียนรู้การบริหารเวลา รู้จักทำกำหนดการ และการจัดลำดับการทำอะไรก่อนหลังให้เป็นระบบ สำหรับเด็กบางคน แค่บอกให้กลับไปทำที่บ้าน แล้วพรุ่งนี้ค่อยมาส่ง ก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว จึงนับว่า การให้การบ้าน เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการจัดการ อันเป็นการเรียนรู้ชีวิตได้ดีทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานดูแลสุขภาพเด็กของอเมริกา (American Health Association) กลับเห็นต่าง ในปี 1930 หน่วยงานนี้แถลงออกมาว่า การบ้าน ถือเป็นการใช้แรงงานเด็ก (child labor) … เล่นแรงครับ !!

ทว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในช่วงทศวรรษ 1950s กลับทำให้สหรัฐไม่เย็นเหมือนสงครามเสียแล้ว แต่กลับร้อนขึ้นจากการแข่งขันระหว่างคนสองชาตินั้น รวมทั้งเด็กๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐถูกรัสเซียแซงด้วยการยิงดาวเทียม สปุตนิค 1 (Sputnik 1) ตัดหน้าออกไปได้ก่อนในปี 1957 … สหรัฐยอมไม่ด้าย!

กรรมของเด็กอเมริกัน เพราะถูกอัดการบ้านใหม่น่ะซีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไว้สู้กับเด็กรัสเซีย

แต่นานไป ในช่วงต้นทศวรรษที่ 21 การห้ามให้การบ้านมีกระแสกลับมาอีกแล้ว (Homework Ban Return) มีการนำเสนอการต่อต้านหลายกรณี อย่างเช่น …

“การบ้านทำร้ายเด็กของเราได้อย่างไรและเราจะทำอะไรได้บ้าง” นำเสนอโดย Sarah Bennett และ Nancy Kalish (2006)

“การปะทะกันในเรื่องการบ้าน: ระหว่างคณะกรรมการบริหาร ครู และผู้ปกครอง” (พิมพ์ครั้งที่ 3) โดย Dr. Harris Cooper นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Duke (2007)

“จุดจบของการบ้าน: การบ้าน ทำลายครอบครัว เด็กแบกรับเกินกำลัง และ จำกัดการเรียนรู้ ได้อย่างไร” โดย Dr. Etta Kralovac ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา และนักเขียนที่ชื่อว่า John Buell (2000)

ดังนั้น เรื่องการให้การบ้านเด็ก ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แม้กระทั่งทุกวันนี้

เด็กๆที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทำการบ้าน พวกเราอย่าไปโทษคนคิดระบบการบ้านขึ้นมาให้พวกเขาลำบากกันเลยนะครับ เพราะคนที่คิดการบ้านอาจจะไม่มีตัวตนจริงๆ

การบ้าน ที่ดูเหมือนจะไม่มีในคาถาเรียนเก่ง คือ สุ (สุต – ฟัง) จิ (จิต – คิด) ปุ (ปุจฉา – ถาม) และ ลิ (ลิขิต – จดจำ) แต่ดูดีๆ มันมีอยู่นะครับ อยู่ในข้อสุดท้ายนั่นไง เพราะการจด เพื่อให้จำ มันรวมถึงการเขียนเพื่อฝึกทำ (drill) หรือการทำการบ้านต่างๆ นั่นเอง

เรื่องการฝึก (drill) ที่เรียกง่ายๆว่าการบ้านนี้มีในทุกวงการไม่เพียงแต่ในการเรียนหนังสือ การทหารก็ยังมีการซ้อมรบ การกีฬาก็ยังต้องมีการฝึกซ้อม

แม้แต่การศาสนา ไม่ใช่แค่สวดมนต์ ไหว้พระ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม เท่านั้นนะครับ … ทางพระต้องมีสาม ป. จึงจะสำเร็จ (ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรอกครับ) คือ ปริยัติ (เรียน) ปฏิบัติ (ภาวนา) และ ปฏิเวธ (บรรลุ)

และหลายคนคงทราบแล้วว่า … เรียนสมาธิ (ปฏิบัติ) ยังต้องทำการบ้านเลยครับ

เขียนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของฝรั่งมาซะยาว ขอยกเรื่องราวของนักปฏิรูปการศึกษาของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในแถบเอเชียเรามาดูกันบ้างนะครับ

ต้องขอบคุณ “Closethegap” ที่ได้นำเรื่องของ “ฟุคุซาว่า ยูคิจิ (1835~1901) ลงใน Facebook ได้น่าสนใจว่า …

ฟุคุซาว่า ยูคิจิ เป็นนักปฏิรูปการศึกษาและนักการฑูตคนสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคใหม่ เป็นหนึ่งในคณะฑูตชุดแรกจากญี่ปุ่นที่ขึ้นเรือคันรินมารุเดินทางไปเยือนตะวันตก

ถึงแม้ ยูคิจิ จะมีพื้นเพมาจากซามูไรชั้นล่าง ทำงานรับใช้โชกุนโตกุกาวะ แต่เมื่อโตกุกาวะแพ้คณะปฏิรูป ยูคิจิ ก็ยังได้กลับมาทำงานให้กับรัฐบาลใหม่ เพราะเขามีความสามารถด้านวิทยาการตะวันตก

เขายังได้เขียนหนังสือ “ความคิดตะวันตก” เพื่อปฏิรูปการศึกษาญี่ปุ่นให้ทัดเทียมตะวันตก ตามแนวทางแบบอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะเขามองว่าญี่ปุ่น “ล้าหลังในด้านการศึกษา” และเสนอว่า คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ควรเป็นหลักสำคัญของประเทศด้วย

บั้นปลายของชีวิต ในปี 1890 เขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เคโอ เพื่อสร้าง “ผู้นำ” ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนประเทศ

หลังจากเขาเสียชีวิตลง ภาพของเขาได้รับการยกย่องขึ้นบนธนบัตร 10,000 เยน ซึ่งมีมูลค่าสูงสุด

ขอปิดท้ายด้วยสโลแกน ที่ …

CLOSE
THE
GAP

นำลงไว้ดังนี้ครับ …

ฟ้าไม่ได้สร้างให้ใคร
คนใดคนหนึ่ง
อยู่เหนือคนอื่น
แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่าง
คนฉลาดกับคนโง่
คนรวยกับคนจน
“คือการศึกษา”
… ฟุคุซาวะ ยูคิจิ

ขอกราบคารวะคุณครูทั้งหลายด้วยดวงใจครับ ๏๛

… @_@ …
วัชระ นูมหันต์
2023-01-22

Ref: encyclopedia.com/history/united-states-and-canada/us-history/homework
All Rights Reserved ©

Design a site like this with WordPress.com
Get started