พลังดันไอออน

⭕️ ⭕️ ⭕️

ธรรมชาติของมนุษย์เป็นนักสำรวจ มนุษย์จึงชอบเดินทาง เพื่อได้เจอสิ่งแปลกใหม่ ทุกยุคทุกสมัยจึงมีผู้เดินทางทั้งบนบก บนน้ำ และบนฟ้า เลยไปถึงแม้ในอวกาศ

มนุษย์จึงคิดค้นเครื่องทุ่นแรงที่จะทำให้เดินทางได้ ซึ่งจำต้องอาศัยพลังงานมาช่วยขับเคลื่อน

การขับเคลื่อนโดยพลังงานเป็นที่รู้จักและใช้กันมายาวนานคือพลังงานเคมีจากการสันดาปเช่นเครื่องยนต์สันดาปภายใน

พลังงานที่เก่าแก่อีกอย่างเพื่อการขับเคลื่อน แต่เพิ่งมาบูมกันในระยะหลังคือ พลังงานไฟฟ้า

ไฟฟ้ากลายเป็นสื่อกลางของพลังงานไปโดยปริยาย เพราะแหล่งพลังงานอะไรก็สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟัาได้ขณะเดียวกัน มีไฟฟ้าแล้วจะทำอะไรก็ได้

ถ้าต้องไปยังที่ที่ไม่มีพลังงาน การขนสิ่งที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ติดไปด้วย ย่อมเป็นทางเลือกที่ดี

ดาวเทียมทั้งหลายจึงต้องมีอุปกรณ์มาตรฐานคือแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า

ยานสำรวจอวกาศลึก ๆ ห่างไกลจากแหล่งพลังงานหลักคือดวงอาทิตย์ออกไปมาก ก็ต้องขนแหล่งพลังงานไปเองคือแบตนิวเคลียร์ โดยเปลี่ยนความร้อนจากสารกัมมันตรังสีที่ย่อยสลาย (decay) เป็นพลังงานไฟฟ้า

เรียกว่า จะต้องหาทางให้มีพลังงานไฟฟ้าให้ได้ แล้วค่อยต่อยอดจากพลังงานไฟฟ้าไปทำอะไรต่ออีกตามที่ต้องการ

บนผิวโลกเรา มีแหล่งไฟฟ้าอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตามบ้านหรือตามโรงงาน ซึ่งอยู่กับที่ เราสามารถเดินสายไฟเข้าไปได้เลย แต่ถ้าเป็นยานพาหนะเคลื่อนที่ไปมาอาจยุ่งนิดหน่อย ถ้าเป็นยานบนรางไม่ยาก เดินสายไฟเหนือยานขนานไปกับรางก็ได้ ยานเอาแท่งโลหะรูดไปกับรางก็ได้ไฟใช้แล้ว

ถ้าเป็นรถไฟฟ้า ที่วิ่งไปไหนมาไหนอย่างอิสระ ไม่มีสายไฟให้แตะเอาไฟมาใช้แล้ว ต้องพกแหล่งพลังงานไปเอง

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน รถธรรมดาที่ไม่ใช่รถไฟฟ้าใช้วิธีขนน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานคือเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ในเครื่องยนต์ได้ความร้อน ไปขับเคลื่อนลูกสูบเพื่อหมุนล้อ แต่ปัญหาคือการเผาไหม้ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสารไฮโดรคาร์บอน คือมีทั้งไฮโดรเจนและคาร์บอน ซึ่งไฮโดรเจนไม่มีปัญหา แต่คาร์บอนมีปัญหาเพราะเผาไหม้แล้วกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อน เคยมีคนคิดจะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอย่างเดียวในเครื่องยนต์สันดาป จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ เพราะเผาไฮโดรเจนรวมกับอากาศได้น้ำออกมา (แต่มันร้อนจึงเป็นไอน้ำ)

เลยคิดกันต่อว่า ถ้าขนถังไฮโดรเจนได้ ก็ไม่ต้องเผาจุดไฟไฮโดรเจนในเครื่องยนต์สันดาปก็ได้ เอาเครื่องยนต์สันดาปภายในออกไปเลย ใส่เซลล์เชื้อเพลิง (hydrogen fuel cell) เข้าไปแทน คราวนี้ไฮโดรเจนไม่ได้เป็นเชื้อของเพลิงที่ไหน เพราะไม่มีการเผาไหม้

ด้วยสารเสริมปฏิกิริยา (catalyst) ไฮโดรเจนก็จะแตกตัวเป็น H+ กับ e- ที่ขั้วลบของเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งมีแผ่น membrane ชนิดพิเศษคั่นระหว่างขั้วบวกกับขั้วลบ ความพิเศษของแผ่นนี้คือมันกั้นเฉพาะอิเล็กตรอน (e-) แต่ H+ ผ่านได้ มันจึงผ่านเข้าไปรวมกับออกซิเจนในอากาศ และรอรวมกับอิเล็กตรอนที่วิ่งออกไปหมุนมอเตอร์ข้างนอก กลับเข้ามาที่ขั้วบวก และกลายเป็นน้ำ

เชลล์เชื้อเพลิงจึงเป็นการทำไฟฟ้าขึ้นมาสด ๆ ร้อน ๆ จากไฮโดรเจนที่ขนไปในถัง แล้วเอาไฟฟ้าไปขับมอเตอร์

เกิดไอเดียต่อว่า แทนที่จะขนเครื่องปรุงพร้อมเตาคือถังไฮโดรเจนกับ fuel cell ไปปรุงสดคือทำไฟฟ้าแล้วใช้ทันที เราก็เอาไฟฟ้าที่ไหนก็ได้ชาร์จใส่แบตเก็บไว้ เอามาหมุนมอเตอร์ทีหลังก็ได้

นั่นเป็นไอเดียของพัฒนาการของรถไฟฟ้าที่พุ่งกระฉูดอยู่ในตอนนี้

แต่นี่คือยานที่อยู่บนโลก

ส่วนยานอวกาศ ถึงจะมีไฟฟ้าแล้วจะเอามอเตอร์มาแปลงไฟฟ้าเป็นพลังงานกลเพื่อขับเคลื่อนนั้นหรือ … ก็ไม่ใช่

จะขับเคลื่อนยานอวกาศได้อย่างไร ให้ยานไปเร็วมาก ๆ แต่ใช้พลังงานน้อย ๆ … เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะในอวกาศไม่มีอากาศ ไม่มีอะไรเลยที่จะเป็นตัวต้าน ด้วยแรงดันนิดเดียวก็ไปได้โลด

เขาใช้พลังดันทางไฟฟ้าที่ผู้คนไม่ค่อยรู้จักคือ … พลังดันไอออน (Ion thruster)

พลังดันไอออน เป็นการขับเคลื่อนยานอวกาศด้วยไฟฟ้า โดยสร้างกลุ่มก้อนเมฆของประจุบวกจากก๊าซที่เป็นกลางด้วยการดึงอิเล็กตรอนบางส่วนออกมาจากอะตอม ไอออนจะถูกเร่งความเร็วด้วยไฟฟ้าจนเกิดแรงดัน ซึ่งพลังดันไอออนนี้มีสองอย่างคือ แบบไฟฟ้าสถิตย์ (electrostatic) และแบบแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic)

สำหรับการดันแบบไฟฟ้าสถิตย์ ไอออนจะถูกเร่งความเร็วด้วยแรงทางไฟฟ้า (Coulomb force) ตามทิศทางของสนามพลังทางไฟฟ้า (electric field) เมื่อกลุ่มก้อนไอออนนี้ไหลผ่านแผงพลังงานศักดิ์ (electrostatic grid) ไปแล้ว ก๊าซก็จะเป็นกลางอีกครั้งหนึ่งโดยการใช้อิเล็กตรอนที่เก็บไว้มายิงผสมเข้าไป

ตรงข้ามกับการดันแบบแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เร่งความเร็วด้วยแรงทางแม่เหล็ก (Lorentz force) และไม่เพียงแต่ไอออนจะถูกเร่งความเร็วแต่รวมอิเล็กตรอนอิสระด้วย (free electron) บางทีจึงเรียกว่า plasma propulsion engine (พลาสมา เป็นสถานะที่สี่ เพิ่มจาก ของแข็ง-ของเหลว-และก๊าซ เมื่อประจุแยกออกเป็นบวก-ลบ)

การดันด้วยไอออนนี้โดยทั่วไปใช้พลังงาน 1-7 kW ปล่อยสารออกไป (exhaust) ด้วยความเร็ว 20-50 กิโลเมตรต่อวินาที เกิดแรงดัน (thrust) 25-250 มิลลินิวตัน (mN) ประสิทธิภาพ 65-80% เคยมีการทดลองใช้พลังงานรวม 100 kW (130 แรงม้า) ได้แรงขับ 5 นิวตัน

หนึ่งในยานอวกาศที่ใช้พลังดันไอออนในการขับเคลื่อนยาน เพิ่มความเร็วขึ้น 4.3 กิโลเมตรต่อวินาที ใช้พลังงาน xenon ไม่ถึง 74 กิโลกรัม และที่ทำลายสถิติ คือ ยานอวกาศ Dawn ที่เปลี่ยนความเร็ว 11.5 กิโลเมตรต่อวินาที ใช้ xenon 425 กิโลกรัม

การใช้งานนั้น มีการควบคุมตำแหน่งและทิศทางของวงโคจรดาวเทียม บางดวงใช้เครื่องดันไอออนนี้เป็นโหล แต่ละตัวมีกำลังไม่ต้องมากนักเพื่อใช้ขับเคลื่อนยานไร้คนมวลต่ำ เช่น Deep Space 1 และ Dawn ที่ใช้ขับเคลื่อนยานที่มีนักบินอวกาศและสถานีอวกาศก็มี เช่น Tiangong (ของจีน)

เครื่องพลังดันไอออนนี้ จะใช้งานได้ดีในอวกาศเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ พลังดันไอออน เป็นผลของหลักความคงตัวของโมเมนตัม (conservation of momentum) อย่างหนึ่งโดยใช้พลังงานไฟฟ้าให้กลายเป็นพลังงานกล ด้วยการแยกก๊าซ (เช่น xenon) ออกเป็นอิเล็กตรอนประจุลบ (มวลน้อย) และไอออนประจุบวก (มวลมาก) แล้วใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อเร่งความเร็วของไอออนประจุบวกออกไปทำให้เกิดแรงดัน (thrust) ในทิศทางตรงกันข้าม และเพื่อสลายประจุบวกให้กลายเป็นกลาง (neutral) ป้องกันการลบล้างแรงดันที่เกิดขึ้นแล้ว จึงมีการยิงอิเล็กตรอนประจุลบที่แยกออกมาในตอนแรกกลับเข้าไปผสมกับไอออนประจุบวกที่ปลายทางแล้วปล่อยทิ้งไป

ไฟฟ้าใช้ขับเคลื่อนยานได้หลายวิธี ทุกวันนี้เราคุ้นชินแต่เพียงมอเตอร์ที่หมุนไปได้โดยการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งเหมาะสมกับการขับเคลื่อนบนพื้นผิวโลกอย่างในปัจจุบัน ความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อวินาที คงเกินฝันสำหรับผู้คนในเมือง (แค่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็หรูแล้ว) เพราะในความเป็นจริงนั้น สภาพจราจรในเมืองที่ติดขัด จะได้เพียง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ย

เราไม่ได้อยู่ในอวกาศนี่ครับ

วัชระ นูมหันต์

2024-05-19

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Ion_thruster

แบตนิวเคลียร์

⭕️ ⭕️ ⭕️

เคยสงสัยกันไหมครับว่า ยานสำรวจอวกาศที่องค์การนาซ่าส่งออกไปนั้น มีแหล่งพลังงานเพื่อใช้ควบคุมยานได้อย่างไร

ยานอวกาศที่อยู่ไม่ไกลจากโลกนัก หรือแม้แต่ดาวเทียมและสถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรอยู่รอบโลก ล้วนแล้วแต่ได้แหล่งพลังงานจากที่เดียวกันคือ … ดวงอาทิตย์

แผงรับเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อแปลงเป็นไฟฟ้า กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่จะต้องมี

แต่ยานสำรวจอวกาศที่ไกลออกไป ที่ไปสำรวจดาวเสาร์ เลยไปถึงดาวพฤหัส และเลยออกนอกระบบสุริยะ ลึกเข้าไปในอวกาศอันไกลโพ้น ไม่มีพลังงานจากแสงของดวงอาทิตย์แล้ว แต่ก็ยังคงติดต่อสื่อสารส่งข้อมูลกลับมายังโลกได้ … เอาพลังงานจากที่ไหน

คำตอบคือ … พกเอาไปสิครับ พกแหล่งผลิตพลังงานที่เราอาจเรียกสั้น ๆ ว่า “แบตนิวเคลียร์”

แบตนิวเคลียร์อย่างเช่นที่ยาน Cassini ใช้เป็นพลังงานพกพาในการสำรวจลึกเข้าไปในอวกาศ เป็นการรวมผสมผสานเอาสองเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

สองเทคโนโลยีที่ว่านั้นก็คือ การสลายตัว (decay) ของสารกัมมันตรังสีกลายเป็นความร้อน และการเปลี่ยนความร้อนจากอุณหภูมิต่างของสารสองชนิดประกบกัน (thermocouple) เป็นไฟฟ้าที่เรียกว่า “Seebeck effect”

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทนี้ไม่มีชิ้นส่วนใดเคลื่อนไหวเลย จึงไม่มีความเสี่ยงที่อุปกรณ์จะชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้

ชื่อที่นิยมเรียกเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทนี้คือ RTG (Radioisotope Thermoelectric Generator) ซึ่งเป็นแบตนิวเคลียร์ประเภทหนึ่ง

RTG เป็นที่นิยมใช้เป็นแหล่งพลังงานในสถานการณ์ที่ไม่ต้องมีการบำรุงรักษาเลยและต้องการใช้พลังงานไม่มากนัก ไม่กี่ร้อยวัตต์ แต่ต้องการให้ใช้ได้นานมาก ๆ ซึ่ง fuel cell หรือแบตเตอรี่ธรรมดา หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ทำไม่ได้หรือแพงเกินไป และจะเหมาะมากในสถานการณ์ที่ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ไม่ได้

ดังนั้น RTG จึงถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานในดาวเทียม ยานสำรวจอวกาศ สถานที่ใช้งานที่ไม่มีคนอยู่เช่น ประภาคาร (lighthouse) ของรัสเซียในแถบอาร์กติกใกล้ขั้วโลกเหนือ

ประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป 70 ปี เมื่อ Kenneth Jordan และ John Birden สองนักวิทยาศาสตร์แห่งห้องแล็บ Mound ได้สร้าง RTG ขึ้นมาเมื่อปี 1954 ทำให้ทั้งคู่ได้รับการเสนอชื่ออยู่ในหอเกียรติยศนักประดิษฐ์แห่งชาติ (National Inventors Hall of Fame) ในปี 2013

RTG ตัวแรกที่ได้ไปท่องอวกาศในปี 1961 ใช้ plutonium-238 จำนวน 96 กรัม ส่วนตัวแรกที่ใช้งานบนโลกเป็นของกองทัพเรือสหรัฐไปติดตั้งใช้งานที่ Fairway Rock, Alaska ในปี 1966

กลายเป็นว่า ประโยชน์ของการใช้งาน RTG ที่ใช้กับยานอวกาศกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นยานที่จะต้องเดินทางไกลออกไปจากดวงอาทิตย์ เช่น Pioneer 10, Pioneer 11, Voyager 1, Voyager 2, Galileo, Ulysses, Cassini, New Horizons, รวมทั้งห้องแล็บบนดาวอังคารด้วย นอกจากนั้นยังใช้ RTG ในภารกิจที่เรารู้จักเช่น ยานไวกิ้งที่ลงจอดพร้อมกับทิ้งอุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ไว้บนดวงจันทร์ของโครงการ Apollo 12 ถึง 17 (ยกเว้นโครงการ Apollo 13 ที่ไม่สำเร็จ ซึ่ง RTG ของมันก็ต้องนอนอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ใกล้กับร่องลึกตองกา)

นอกจากยานอวกาศแล้ว ยังมีการใช้บนโลก เช่นที่ประภาคารไร้คนควบคุม 1007 แห่ง ของรัสเซีย

แหล่งพลังงานที่ใช้นานเกินไปบางครั้งก็มีปัญหา อย่างเช่นการใช้ RTG จิ๋วกับเครื่องกระตุ้นหัวใจที่ใช้ฝังเข้าไปในร่างกายของคนไข้เพื่อใช้อย่างถาวร โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 1966 แต่ต้องเลิกโครงการไปในปี 1972 เพราะไม่แน่ใจกับการจัดการ RTG จิ๋วตัวนี้ให้เหมาะสมได้อย่างไรหลังจากคนไข้เสียชีวิตแล้วแต่ RTG ยังทำงานอยู่

ปัจจุบัน เราใช้พลังนิวเคลียร์กันอยู่แล้วไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นนิวเคลียร์ฟิวชั่นในดวงอาทิตย์ ปลดปล่อยพลังงานจาก nuclear strong force มาถึงโลกเรา รวมทั้งนิวเคลียร์ฟิชชั่นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางโรงบนโลกของเรา ส่วนใต้พื้นโลกเราก็มีความร้อนใต้พิภพให้เราใช้ประโยชน์ได้บ้าง จากการ decay ของสารกัมมันตรังสี ปล่อยพลังงานจาก nuclear weak force ออกมา

ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีการจัดการที่ดี โลกยุคใหม่ในอนาคตอาจจะเป็นโลกของพลังงานนิวเคลียร์ แหล่งพลังงานที่มีให้เราใช้ได้อย่างยาวนาน …

เช่นเดียวกับแบตนิวเคลียร์ที่เราส่งไปใช้ในยานสำรวจอวกาศในปัจจุบันนี้

วัชระ นูมหันต์

2024-05-12

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Radioisotope_thermoelectric_generator

แบตความร้อน

⭕️ ⭕️ ⭕️

อากาศเมืองไทยทุกวันนี้ร้อนมาก สถิติอุณหภูมิสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส (ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และที่จังหวัดตากเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566) อาจถูกโค่นแชมป์ได้ เรื่องที่อยู่ในความสนใจจึงคงไม่พ้นเรื่องของความร้อน

และคงจำกันได้ว่า สถาบันเอ็มไอทีได้รวบรวมเรื่องราวของเทคโนโลยีประจำปีแล้วเลือกมาสิบรายการเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก แถมท้ายตัวเลือกอีกสี่รายการให้ผู้อ่านร่วมโหวตให้เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอันดับที่สิบเอ็ด

บังเอิญว่า ผู้ชนะก็เป็นเรื่องความร้อนอีกเช่นกัน คือเรื่อง “แบตความร้อน”

ผลโหวตเป็นดังนี้ครับ

•Thermal batteries 41%

•Lab-grown meat 28%

•Space X’s Starship 20%

•Robotaxis 11%

มาดูกันว่าเรื่องแบตความร้อนที่ชนะโหวตนั้นเป็นอย่างไร

เขามองว่า ระบบที่เก็บพลังงานสะอาดเช่นความร้อนจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมได้

ทุกวันนี้เราต้องการพลังงานความร้อนในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นของใหญ่ ๆ แท่งเหล็ก ลงมาจนถึงเล็กขนาดแค่ซอสมะเขือเทศบรรจุซอง ประมาณการว่า ต้องการความร้อนมากถึง 20% ของความต้องการพลังงานความร้อนทั้งหมดโดยรวม และหนีไม่พ้นว่าส่วนใหญ่ของพลังงานความร้อนเหล่านี้ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ความพยายามที่จะลดสิ่งเหล่านี้ลงก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “แบตความร้อน” (thermal battery)

การเก็บพลังงานในรูปความร้อนไม่ใช่ของใหม่ โรงงานถลุงเหล็กใช้กันมานานกว่าสองร้อยปีแล้ว

นั่นคือปลายทางของการใช้พลังงาน

ลองมาดูต้นทางของการเก็บเกี่ยวพลังงานบ้าง เช่นพลังงานหมุนเวียน (renewable energy)

สิบปีที่ผ่านไป ราคาของพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ถูกลงอย่างมาก แต่ปัญหาคือ พลังงานเหล่านี้ไม่แน่นอน

ของถูกลง แต่ไม่แน่นอน จำเป็นต้องมีการเก็บพลังงานเหล่านี้ไว้เพื่อทะยอยป้อนให้ระบบผลิตที่ต้องการพลังงานที่แน่นอน

การเก็บพลังงานในรูปความร้อนจากแหล่งพลังงานที่ราคาถูกแต่ไม่มีความแน่นอนย่อมเป็นการเหมาะที่จะจ่ายให้กับระบบอุตสาหกรรมที่กระหายแต่ความร้อน

ระบบนี้จึงใช้การเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน และเก็บไว้ใช้เมื่อต้องการ เช่นเดียวกับแบตเตอรี่

ง่ายที่สุดคือ “อิฐ” ครับ เผาอิฐให้อมความร้อนไว้ โดยใช้ฮีตเตอร์ไฟฟ้าธรรมดา ๆ นี่แหละ แค่ขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นและอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นระดับอุตสาหกรรม Rondo Energy ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่ทำเช่นนี้

บริษัท Antora Energy ก็เป็นอีกบริษัทที่ใช้วิธีเดียวกัน โดยมองอนาคตต่อว่า ถ้าลูกค้าต้องการใช้ไฟฟ้าแทนที่จะเป็นความร้อนที่เก็บไว้ ก็เล็งที่จะใช้เทคโนโลยี “ thermophotovoltaic”

ส่วนบริษัท Malta ที่แยกตัวออกมาจาก Google X ในปี 2018 ก็เสนอตัวที่จะเป็นแหล่งเก็บความร้อนเมื่อต้องการให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนในรูปของ “เกลือละลาย” (molten salt) เพื่อใช้ต้มน้ำเป็นไอปั่นไฟได้ทันที

Brenmiller Energy เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ทำเรื่องนี้มานาน ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2011 โดยใช้หินบดเป็นตัวเก็บความร้อน มีลูกค้าคือโรงพยาบาลและผู้ผลิตเครื่องดื่ม

เรื่องความร้อน เมืองไทยคงอยู่แนวหน้า เวลาดูข่าวพยากรณ์อากาศอุณหภูมิเฉลี่ยเมืองใหญ่ที่ช่อง NHK ของญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Bangkok ติดอันดับอากาศร้อนเข้าคู่มากับ New Delhi ในย่านนี้ที่มีเลขสี่นำหน้า คือคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะเกิน 40 องศาเซลเซียส ดังนั้น อย่าได้แปลกใจว่า บริษัท Rondo Energy ที่ทำเรื่องแบตความร้อนจนผู้อ่านโหวตให้เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอันดับที่สิบเอ็ดประจำปีนี้ (2024) นั้น …

มีโรงงานอยู่ที่เมืองไทยครับ

วัชระ นูมหันต์

2024-05-05

Ref: https://www.technologyreview.com/2024/04/15/1091042/thermal-batteries-heat-energy-storage/

Design a site like this with WordPress.com
Get started