สวมหน้ากากรักษาศีล

      ก่อนอื่น ผมขอใช้คำว่า มาสก์ (mask) ทับศัพท์ แทนคำว่าหน้ากาก ที่บางครั้งก็เขียนยาวเต็มยศว่า หน้ากากอนามัย นะครับ เพราะมันสั้นดี 

      เมื่อวันก่อน ผมได้เห็นคลิปน่ารัก เป็นเด็กอ้วนตุ้ยนุ้ย สวมมาสก์ เคี้ยวของกินตุ้ยๆ กลืนเสร็จก็เปิดมาสก์ กัดคำต่อไป แล้วปิดมาสก์ เคี้ยวต่อ คลิปนี้ มีข้อความบรรยายว่า … “กลัวก็กลัว – หิวก็หิว” 

      ข้อความบรรยายนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองอย่างหนึ่ง ที่อาจจะตรงใจกับคนในสังคมอีกหลายคน คือ สวมมาสก์เพราะกลัว … กลัวตนเองจะติดไวรัสโควิด 

      จึงดูเหมือนว่า แรงขับที่ทำให้สวมมาสก์ คือ “เพื่อตนเอง” อันเป็นธรรมชาติของคนเราที่นึกถึงตัวเองก่อนอยู่แล้ว 

      แต่วัตถุประสงค์หลักของการสวมมาสก์ในที่สาธารณะนั้น เป็นการทำ “เพื่อผู้อื่น” ก่อน ส่วนตนเองนั้นเป็นผลพลอยได้ครับ 

      นั่นจึงเป็นเหตุผลของการรณรงค์ให้ใช้มาสก์ หรือแม้แต่ต้องบังคับกันในบางที่ 

      สังเกตไหมครับว่า แรกๆ มีบางคนบอกว่า … “มาสก์นั้น สำหรับคนที่ไม่สบาย คนที่สบายดีไม่ต้องใช้ เดี๋ยวจะต้องไปแย่งทรัพยากรที่หายากเช่นมาสก์นี้ จากบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเขาจำเป็นต้องใช้มากกว่า”

      คนที่คิดเช่นนี้คงจะดูข่าวฝรั่งมากไปหน่อย ที่เขาไม่ชอบเมื่อเห็นคนเอเชียสวมมาสก์ เพราะฝรั่งไม่ชอบเอาอะไรมาปิดปากปิดจมูก เหมือนกับที่เขาส่งรูปล้อกันว่า ฮีโร่ฝรั่งสวมมาสก์ปิดแต่ตา เปิดปากเปิดจมูก 

      อีกประการหนึ่ง มาสก์ที่เขารณรงค์ให้ใช้นี้ ไม่ใช่ให้ไปแย่งใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดที่บุคลากรทางการแพทย์เขาใช้กัน เช่นพวก N95 เพราะนั่นมันเป็นยุค PM 2.5 ถล่มกรุง มาสก์ธรรมดาจึงใช้ป้องกันฝุ่นจิ๋วอย่างนั้นไม่ได้ 

      ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว N95 กับมาสก์ มันป้องกันคนละอย่าง คนละทิศทาง ตรงกันข้ามเลยทีเดียว 

      N95 กันฝุ่นละอองขนาดเล็ก เชื้อโรค ได้เกินกว่า 95% ตามชื่อนั่นแหละครับ ไม่ให้เข้าไปในร่างกายของเรา จึงเป็นอุปกรณ์ที่ถูกคุมเข้มด้านมาตรฐานโดยหน่วยงานที่ควบคุมทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของอเมริกา (National Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH) มันจึงปิดแนบสนิทหน้า การหายใจเข้าจะลำบากหน่อย เพราะต้องผ่านที่กรองแบบละเอียด แต่หายใจออกง่ายมาก ปล่อยพรวดเลย เนื่องจากลิ้นด้านข้างจะเปิดออก พวกเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้ เพราะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการติดเชื้อ 

      ส่วนมาสก์ทั่วไป ที่รณรงค์ให้ใช้ในตอนนี้นั้น เราใช้กันอยู่ในบริเวณปกติธรรมดา (กรณีที่ไปโรงพยาบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ถ้าเราถือว่าสิ่งแวดล้อมไม่มีเชื้อ แล้วเชื้อจะมาจากไหน – ก็มาจากคนเราที่เดินไปเดินมานี่แหละครับ โดยไม่รู้ว่าใครติดเชื้อกันบ้าง ดังนั้น ถ้าจะให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ ปิดปากปิดจมูก ขังเชื้อมันไว้แค่ตรงมาสก์ ไม่ให้มันออกมาข้างนอก เพราะเจ้าไวรัสวายร้าย ถึงแม้มันจะตัวเล็ก แต่มันจะออกมาเพ่นพ่านข้างนอกร่างกายคนเราได้ทางเดียว คือออกมากับละอองฝอย (liquid droplets หรือ respiratory droplets) เท่านั้น มาสก์จึงกันได้

      เมื่อไม่นานมานี้เอง เราเพิ่งจะได้ตระหนักว่า เราจะปิดปากปิดจมูกแค่คนมีอาการป่วยเท่านั้น ไม่ได้เสียแล้ว เพราะเจ้าโควิดนี้สามารถแพร่ได้จากคนที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือที่เรียกว่า พาหะ (carriers) ได้ด้วย 

      วิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องคิดเสียว่า ทุกคนที่เดินถนนนั้น ติดเชื้อกันหมด ทุกคนจึงต้องช่วยกันขังมันไว้ ให้มันติดอยู่แค่มาสก์ 

      รุ่นพี่ของผมคนหนึ่งบอกว่า …  “ถ้าคุณทำตัวเหมือนติดไวรัสคุณจะไม่ติดไวรัส”

      ทราบกันไหมครับว่า มาสก์นี้ มีวิวัฒนาการมาจาก หน้ากากหมอผ่าตัด (surgery mask) โดยเริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี 1960 งานนี้เขาไม่ได้กลัวว่าเชื้อจากคนไข้จะมาติดหมอ แต่กลัวเชื้อจากในคอหมอหรือพยาบาลไปติดคนไข้ครับ 

      ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกตัวเองว่าแข็งแรงดี ไม่เป็นอะไร ขอให้คิดเสมือนว่าเราอาจจะติดเชื้อแล้ว เพราะเจ้าโควิดนี่มาแปลกกว่าไวรัสรุ่นเก่าๆ เพราะสามารถแพร่ได้แม้ไม่แสดงอาการ จึงควรปิดปากปิดจมูกเรา ขังมันไว้ 

      การบล็อคทางออก ง่ายกว่าการพยายามปิดทางเข้านะครับ 

      เทียบกับการเล่นฟุตบอล ถ้าระวังไม่ให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสยิง ย่อมดีกว่าปล่อยให้นายประตูคอยแต่ปัดป้องอย่างเดียว – เพราะมันมีโอกาสพลาดได้ไงครับ 

      เปรียบได้เหมือนกับของที่เปรอะเปื้อนได้ บรรจุอยู่ในขวด จะง่ายกว่าไหม ถ้าเราปิดฝาขวดซะ แทนที่จะเปิดฝา ให้เสี่ยงต่อการหกกระจาย ลองคิดดูจะเห็นว่า การป้องกันโดยปิดฝาไม่ให้หก ง่ายกว่าเยอะ ถ้าเทียบกับการตามล้างตามเช็ดเมื่อหกแล้ว

      ดังนั้น ต่อไปนี้เราคงจะต้องถึงยุคที่คนเราต้องใส่หน้ากากเข้าหากันให้มากขึ้นแล้วละ … เป็นการทำเพื่อสังคม ที่ฟังดูแล้วเป็นนามธรรมยังไงไม่รู้ ง่ายๆก็คือ “ทำเพื่อคนอื่น” นั่นเอง 

      การทำเพื่อคนอื่นนั้น สังคมโดยรวมจะเป็นสุข และน่าอยู่ 

      ผมเคยเห็นภาพการ์ตูนสอนใจ นานมาแล้ว เป็นรูปความแตกต่างระหว่าง นรก กับ สวรรค์ องค์ประกอบของภาพทั้งสองนั้น เหมือนกัน คือ คนกลุ่มหนึ่งล้อมวง ถือช้อนยักษ์ ด้ามยาว เพื่อตักกินชามซุปยักษ์ที่อยู่ตรงกลาง (สงสัยจะเป็นการ์ตูนฝรั่ง เพราะกินซุป) 

      ความแตกต่างระหว่าง นรก กับ สวรรค์ มีอยู่นิดเดียวคือ กลุ่มคนในนรกพยายามจะตักให้ตัวเอง แต่ช้อนก็ยาวเกินไป กินไม่ได้ ส่วนคนในสวรรค์ ตักแล้วป้อนให้คนอื่น แน่นอนว่า ตัวเองก็ได้กิน เพราะคนอื่นป้อนให้ 

      ใช่แล้วครับ สังคมเป็นสุขจากการช่วยเหลือกัน อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องไม่เบียดเบียนกัน 

      การไม่สวมมาสก์ไปในที่สาธารณะ อาจจะเป็นการเบียดเบียนกันโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะ – ถ้าเราเป็นพาหะ 

      ข้อห้าม ที่จะทำให้สังคมเป็นปกติสุข ไม่เบียดเบียนกัน ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดี คือ “ศีลห้า” 

      ไม่เพียงแต่ชาวพุทธ แขกอินเดียก็รู้จัก 

      แขกไม่ได้เอาศีลห้า มาจากศาสนาพุทธ สมัยที่เคยรุ่งเรืองในอินเดีย แต่กลับกัน คือ ศาสนาพุทธนำมาจากแขก อันเป็นหลักธรรมประจำสังคมมีมานานก่อนสมัยพุทธกาล ดังปรากฏใน จักกวัตติสูตร ที่กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิตรัสสอนประชาชน

      และไม่ใช่เพียงพุทธศาสนาเท่านั้น ทั้งศาสนาฮินดู และศาสนาเชน ก็มีเหมือนกัน 

      งั้นเปรียบเทียบศาสนาทั้งสามนี้ให้ดูนิดหนึ่ง 

      ศาสนาเชน ซึ่งคล้ายศาสนาพุทธมาก เกิดก่อนศาสนาพุทธ 29 ปี ถือว่าเป็นสมัยเดียวกัน ศาสดาก็มีประวัติคล้ายกัน ส่วนศาสนาฮินดู ไม่มีศาสดา มาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเกิดก่อนนานกว่ามาก 

      ทั้งสามศาสนา มีต้นทางที่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด และต้องการหลุดพ้นเพื่อจะได้ไม่เกิดอีก เหมือนกัน 

      สิ่งที่ต่างกันคือ กลางทาง หรือวิธีที่จะทำให้หลุดพ้นนั้น ถึงแม้จะใช้วิธีทำสมาธิเหมือนกัน แต่ความเข้มข้น ต่างกัน กล่าวคือ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งต่อมาเรียกเป็นศาสนาฮินดู จะเบาหน่อย แค่เป็นสุขในฌานได้แบบชิวๆ ศาสนาเชนจะหนักหน่อย ทรมานตนแบบสุดโต่งไปเลย เช่น ไม่พูดตลอด ยืนตลอด หรือชูมือตลอด และที่หนักหน่อย คือบางนิกาย (ทิฆัมพร) สละทรัพย์สินหมดทุกอย่าง ไม่มีแม้แต่เสื้อผ้าคลุมกาย ส่วนศาสนาพุทธถือทางสายกลาง 

      และสุดท้ายปลายทาง ก็มีความเชื่อต่างกัน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเชื่อในพระเจ้า เรียกการหลุดพ้นว่า “โมกษะ” (moksha) เป็นการกลับไปสู่พรหม แต่ศาสนาเชน ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่เชื่อว่า วิญญาณหรืออาตมันเป็นอมตะ (อัตตา) เมื่อบรรลุญาณที่เรียกว่า “เกวลญาณ (Kevala jñāna)” หรือ “ไกวัลย์” แล้ว อาตมันจะไปอยู่ที่ “สิทธศิลา” ไม่กลับมาเกิดอีก ส่วนศาสนาพุทธ เรียกการหลุดพ้นว่า “นิพพาน” อันเป็นการดับสูญ (อนัตตา) 

      กลับมาเรื่องศีลที่เหมือนกัน คือศีลห้า 

      อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ข้อห้ามเหล่านี้มีไว้เพื่อให้ “สังคม” อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เน้นคำว่าสังคม ก็คือคนอื่นนั่นเอง ดังนั้น เมื่อสังเกตให้ดีๆ ข้อห้ามนั้น จะเกี่ยวข้องกับคนอื่นทั้งนั้น “ยกเว้นข้อสุดท้าย” ซึ่งเป็นเรื่องของตัวเอง 

      ในอินเดียโบราณ การละเมิดข้อห้ามทางสังคมนั้น จะถูกลงโทษ เช่นแห่ประจาน ข้อห้ามดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้กับนักบวชในแต่ละศาสนา รวมทั้งศาสนาพุทธด้วย คือ “ปราชิก 4” ซึ่งทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุทันที คือ ฆ่าคน ลักทรัพย์ มีเพศสัมพันธ์ และอวดอุตริมนุษยธรรม (เช่นพูดว่าบรรลุแล้วโดยที่ยังไม่บรรลุ) 

      ส่วนฆราวาส หรือคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนทั่วไป จะลดดีกรีลงมาหน่อย กลายเป็นข้อห้ามที่เราคุ้นเคย คือ ไม่ฆ่าสัตว์-ไม่ลักทรัพย์-ไม่ผิดลูกเมีย และไม่โกหก 

      ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้อื่น” หรือเป็นเรื่องสังคมทั้งนั้น ในยุคโควิดระบาด ถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ยิ่งถ้าอยู่คนเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวเจอะเจอใครเลย สามารถรักษาศีลนี้ได้ครบทั้งสี่ข้อได้ สบายมาก 

      แล้วศีลข้อ 5 ล่ะ 

      ศีลข้อสุดท้ายนี้ เป็นศีลข้อพิเศษ ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครเลย เรื่องของตัวเองล้วนๆ ตอนเด็กๆ ผมอยู่ต่างจังหวัด จำได้ว่า ถ้ามีงานบุญ ญาติโยมรับศีลอยู่ตรงกลาง แต่ไกลออกไปหน่อยก็จะมีการตั้งวงเฮฮาสังสรรค์ ซึ่งกลุ่มนี้จะรับศีลจากหลวงพี่แค่สี่ข้อ พอถึงข้อสุดท้ายก็เงียบซะ – ฮ่า! 

      ความที่ข้อสุดท้ายนี้ เป็นเรื่องของตนเอง ทั้งสามศาสนาจึงให้ความสําคัญในประเด็นที่ต่างกัน 

      ไม่แปลกที่แต่ละศาสนาจะเลือกข้อเตือนใจเพียงหนึ่งเดียวไม่เหมือนกัน เพราะสิ่งไม่ดีที่พึงละเว้นนั้นมีมากมาย

      สิ่งไม่ดีทางใจดังกล่าวคือ กิเลส ซึ่งบางครั้งจะได้ยินคำเรียกที่เบาลงหน่อยว่า “จุดดำ” สามารถรวมลงได้เป็น 3 อย่าง คือ โลภะ-โทสะ-โมหะ หรือ โลภ-โกรธ-หลง 

      เป็นความบังเอิญที่ ทั้งสามศาสนาเลือกโฟกัสคนละอย่าง เลยจำง่าย 

      ศีลข้อสุดท้ายของพราหมณ์ใน มนูสมฤติ ของฤาษีมนู คือ “งดเว้นจากความโกรธ” 

     ศาสนาเชน ให้ “งดเว้นจากความโลภ” (aparigraha : อปริครหะ – ความไม่ยึดติด) ที่เคร่งจัด จนไม่มีเสื้อผ้าก็เพราะข้อนี้แหละ 

      ส่วนศาสนาพุทธ เน้นตรง “งดเว้นจากความหลง” ก็คือหลงผิด หรือประมาทนั่นเอง 

      ความไม่ประมาท สำคัญมาก จน พระพุทธองค์ ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายเป็นปัจฉิมโอวาทว่า…

“… ทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

      ส่วนศีลสำหรับคฤหัสถ์นั้น จะต้องห้ามการกระทำ เพื่อนำไปสู่ความประมาท อันเป็นศีลข้อสุดท้าย คือ 

“สุราเมรยมัชปมาทัฏฐานา เวรมณี : เว้นจากการบริโภคสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท”

      ในเมื่อคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีเชื้อสายศรีธนนชัย บอกว่า ถ้าดื่มเหล้าอย่างไม่ประมาท แค่แก้วสองแก้ว พอท้วมๆ ก็ย่อมได้สิ ว่าแล้วก็ชนแก้วผ่านจอกันทาง LINE อย่างครึกครื้น 

      ถ้าอย่างนั้น ในยุคโควิดระบาดนี่ผมขอให้มีศีลข้อสุดท้ายเป็นอย่างนี้ได้ไหมครับ …

“อ มาสกา ณ สาธารณา เวรมณี : เว้นจากการไม่สวมมาสก์ ในที่สาธารณะ !”

      ท่านมหาเปรียญทั้งหลาย อย่าได้งง เพราะศีลโควิดนี่ ผมมโนเอา ให้มันดูคล้ายๆบาลีเท่านั้นเอง – ฮ่า! 

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

26 เมษา 63 

Ref: https://th.m.wikipedia.org/wiki/เบญจศีล 

_________________________________

All right reserved © by Vatchara 

Author: Vatchara

This is my personal blog.

Leave a comment

Design a site like this with WordPress.com
Get started