ไมโครพลาสติก

      นับตั้งแต่ปี 1907 ที่มนุษย์เราสามารถสร้างพลาสติกขึ้นมาได้ และสามารถผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาล ในปี 1940 (mass production) และเนื่องจากมันมีน้ำหนักเบา แข็งแรง ทนทาน ราคาถูก ทำให้เดี๋ยวนี้มีการใช้พลาสติกกันอย่างแพร่หลาย 

      แต่ตอนนี้ บางคนอาจจะเริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับการที่ร้านบางแห่ง งดให้ถุงพลาสติก หรือหลอดกาแฟ เพราะมองกันว่ามันย่อยสลายยาก สามารถอยู่ได้เป็นร้อยปีเลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อม 

      ก่อนหน้านี้ เคยมีการรณรงค์ให้ใช้พลาสติกที่ย่อยสลายเองได้ เคยเห็นไหมครับ ถุงพลาสติกที่เก็บไว้นานหน่อยมันร่วนเป็นผงเลย 

      ไม่รู้ว่า เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน (แก้ไม่ตรงปัญหา) หรือว่าคันไม่ถูกที่เกา (ปัญหาไม่ได้รับการแก้) หรือเปล่า 

      ทั้งนี้เพราะ ปัญหาของพลาสติก ไม่ใช่การย่อยสลายยาก (ถ้วยโถโอชามที่เป็นกระเบื้องเซรามิก ไม่เห็นเป็นปัญหาเลย) แต่เป็นเพราะการที่มันร่วนแตกย่อยเป็นชิ้นเล็กๆนั่นต่างหาก ซึ่งเรียกกันว่า “ไมโครพลาสติก” แล้วก็ไหลไปตามเส้นทางขยะ และบางส่วนไปจบลงที่ทะเล 

      ความที่เส้นทางการโคจรของพลาสติกนี้ไปจบลงที่ทะเล ผู้ที่ออกมาเต้นแร้งเต้นกาจึงเป็นผู้เกี่ยวข้องทางด้านมหาสมุทรเช่น สำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ หรือ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ของสหรัฐ อเมริกา ที่มี logo เป็นรูปนกทะเล (แต่แปลกหน่อยที่ไปสังกัดอยู่กับ Department of Commerce หรือกระทรวงพาณิชย์) และเป็นผู้กำหนดคำจำกัดความของ “ไมโครพลาสติก” ไว้ชัดเจนว่า เป็นพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่าครึ่งเซนติเมตร (5 mm) คือมันเล็กเสียจนเริ่ม จะสังเกตด้วยตาเปล่าไม่เห็นแล้ว 

      เอ๊ะ! ถ้ามองไม่เห็นก็ดีสิ จะได้ไม่เห็นปัญหาไปด้วย 

      แต่ไม่ใช่อย่างนั้นสิครับ เพราะมันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างหาก 

      พลาสติกมีการแตกตัวได้หลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งทางเคมีและฟิสิกส์ เช่นความร้อน, ยูวีจากแสงแดด, คลื่นซัด, ออกซิไดซ์, การย่อยสลายจากการแช่น้ำทะเลนานๆ (hydrolysis : bond-breaking reaction) หรือแม้แต่การย่อยสลายจากแบคทีเรีย ขนาดจึงเล็กลงเรื่อยๆ เมื่อไปอยู่ในท้องของสัตว์ทะเล พอคนจับมากิน ก็กลับมาอยู่ในกระเพาะของคนเราใหม่ 

      กลางเดือน กันยายน ที่ผ่านมา สื่อใหญ่ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐออนไลน์ workpointnews มติชน ข่าวสด ch7 และไทยpbs ต่างพร้อมใจกันลงข่าวการพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทู บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เปิดเผยโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนานาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล 

      การพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทู เฉลี่ย 78 ชิ้นต่อตัวนี่น่าตกใจเหมือนกันนะครับ 

      ถ้างั้นเราก็เลือกกินแต่เนื้อมันสิ อย่าไปกินตรงพุงมัน ก็หมดเรื่อง 

      มันไม่ง่ายเหมือนการกวาดบ้านไปซุกไว้ใต้พรมแล้วบอกว่าบ้านสะอาดแล้วยังงั้นหรอกครับ 

      การย่อยสลายของพลาสติก มันไม่ได้สิ้นสุดขบวนการลงตรงที่เมื่อได้เป็นไมโครพลาสติกแล้วหยุดอยู่แค่นั้น แต่มันยังคงย่อยสลายต่อไป จนมีขนาดที่เล็กลงมากจนมองไม่เห็น ซึ่งบางคนเรียกว่า “นาโนพลาสติก” ซึ่งสามารถทะลุทะลวงไปได้ทั่วตัวปลา ไม่ได้หยุดอยู่แค่กระเพาะของมันเท่านั้น 

      เนื่องด้วยความยุ่งยากในการศึกษา “นาโนพลาสติก” ที่มองไม่เห็นนี้ ทำให้การทำวิจัยยังมีไม่มากนัก คำจำกัดความว่าขนาดน้อยกว่าเท่าไหร่จึงจะเรียกว่า “นาโนพลาสติก” จึงยังไม่แน่นอน แต่ละสำนักจึงตั้งกันเอาเอง 

      แต่สิ่งหนึ่งที่เข้าใจกันได้ดีในกลุ่มนักวิจัยคือ ยิ่งเล็ก ยิ่งมีผลมาก อันเนื่องมาจาก พื้นผิว (surface area) ของที่เล็กที่แตกออก จะมากกว่าของใหญ่ 

      นักวิจัยบางกลุ่ม อยากรู้ลึกอย่างละเอียดลงไปจนถึงว่า นาโนพลาสติก มีผลต่อ ตะไคร่น้ำ (algae) อย่างไร ตัวไรน้ำ (daphnia) ที่มากินตะไคร่นี้จะเป็นยังไง ปลาเล็กที่มากินตัวไรน้ำนี้ด้วย มีผลยังไง เพราะปลาใหญ่ กินปลาเล็ก แล้วคนก็กินปลาใหญ่อีกที 

      เขาทดลองสำหรับวัฏจักร 3 วัน โดยวันแรก เอานาโนพลาสติกใส่ลงไปที่ algae ครบ 24 ชั่วโมง วันที่สองปล่อยตัว daphnia มากินจนครบ 24 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่เห็นความผิดปกติอะไร วันที่สามจึงเอา daphnia ไปป้อนเป็นอาหารปลา หลังจากนั้นสองเดือนจึงเอาปลามาศึกษา เขาจึงพบว่า มีการก่อกวนการเผาผลาญไขมัน (fat metabolism) พบเอทานอล (ethanol) มากขึ้นในตับ และพบสาร inosine/adenosine และ lysine มากขึ้นในกล้ามเนื้อ (ไม่รู้ว่า ถ้าคนเรากินปลานั้นเข้าไปจะเป็นยังไง นักวิจัยเองก็เถอะ คงไม่กล้ากินหรอก) 

      เดี๋ยวนี้เรารู้กันอยู่แล้วว่า ต้นตอของ นาโนพลาสติก ก็คือไมโครพลาสติก ถ้าจะไม่ให้มีนาโนพลาสติก ก็ต้องควบคุมไมโครพลาสติก ฟังดูง่ายนะ แล้วจะทำอย่างไร เพราะถ้าห้ามผลิตพลาสติกขึ้นมาใช้ในโลก ก็คงเป็นไปไม่ได้ ประโยชน์ของมันก็ยังมีอยู่ 

      ต้องดูที่มาของไมโครพลาสติกกันก่อน 

      ไมโครพลาสติก มีที่มาอยู่สองแหล่ง อันแรก (primary) ผลิตเป็นเม็ดเล็กๆมาจากโรงงานเลย ได้แก่เม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ก่อนเอามาทำเป็นพลาสติกสำเร็จรูป (เคยมีกรณีเรือสินค้าที่ฮ่องกง ทำเม็ดพลาสติก ตกลงไปในทะเล – เป็นเรื่องเลย) นอกจากนี้ยังมีไมโครพลาสติกจากโรงงานอีกเช่น ผสมในเครื่องสำอาง และยาสีฟัน ซึ่งเดี๋ยวนี้น่าจะถูกห้ามผลิตไปแล้ว 

      อย่างที่สอง (secondary) ก็คือ ขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ ที่พวกเราทิ้งกัน (macroplastic) ก่อนที่มันจะแตกย่อยออกเป็นไมโครพลาสติก โดยมีการรณรงค์กันอยู่ทุกวันนี้ว่าให้ ลด-ละ-เลิก การใช้พลาสติก (ฟังดูชอบกล เหมือนกับว่ามันเป็นสารเสพติดยังไงไม่รู้) ถ้าจะทิ้งจริงๆ ก็ขอให้นำไปรีไซเคิลแทน 

      เรื่องนี้ ชอบใจหนู Anna Du อายุ 13 ปี จากรัฐแมสซาซูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา ที่พูดได้เข้าท่าว่า “ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดกลับมีขนาดเล็กกระจิ๋วหลิว” (The biggest problem is quite small.) มันก็จริงเสียด้วย

      บูมเมอแรงในสมัยโบราณทำจากไม้ แต่บูมเมอแรงสมัยใหม่ทำจากพลาสติก ไม่ใช่ว่าหล่อพลาสติกเป็นแท่งงอๆเป็นรูปบูมเมอแรงนะครับ แต่ว่าเป็นไมโครพลาสติก ที่ส่งผลย้อนกลับเหมือนบูมเมอแรงมาหามนุษย์เรานั่นเองครับ 

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

13 ตุลา 62 

Ref: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Microplastics 

_________________________________

All right reserved © by Vatchara 

Author: Vatchara

This is my personal blog.

Leave a comment

Design a site like this with WordPress.com
Get started